โรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก มาตรฐาน WHO GMP ขององค์การเภสัชกรรม ก่อสร้างเสร็จพร้อมเดินหน้าทดสอบผลิตในระดับอุตสาหกรรม

โรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก มาตรฐาน WHO GMP ขององค์การเภสัชกรรม ก่อสร้างเสร็จพร้อมเดินหน้าทดสอบผลิตในระดับอุตสาหกรรม

            สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น แต่ละครั้งล้วนคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินอีกมากมาย การระบาดของไวรัสนั้นสามารถกระจายขยายอาณาเขตออกไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่สามารถกำหนดขอบเขตกั้นการระบาดได้ ดังนั้น การใช้วัคซีนในการป้องกันโรคจึงเป็นหนทางหนึ่งในการควบคุมการแพร่กระจายของโรคที่สำคัญ และเป็นมาตรการที่ได้รับการยอมรับทั่วไป ความต้องการวัคซีนอาจจะพุ่งสูงถึงหลายพันล้านโด๊สเพื่อปกป้องประชากรโลกที่มีอยู่ประมาณ 7 พันล้านคน ในขณะเดียวกันศักยภาพการผลิตวัคซีนยังจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยเหตุนี้เองการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกขององค์การเภสัชกรรมจึงเริ่มต้นขึ้นจากการตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องสร้างศักยภาพการผลิตวัคซีนใช้ได้เองภายในประเทศ โดยรัฐบาลได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก อีกทั้งแผนเตรียมความพร้อมในการป้องกัน การแก้ไขปัญหาการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ (พ.ศ. 2548-2550) เพื่อการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนและความมั่นคงของประเทศด้านวัคซีน โดยเห็นว่ายุทธศาสตร์เชิงป้องกันในแผนระยะยาวคือ การสร้างโรงงานผลิตวัคซีน

            พล..ศุภกร สงวนชาติศรไกร ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์การระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกมาเป็นระยะ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ซึ่งประกอบด้วยงานหลัก 2 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนและด้านการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน โดยให้ดำเนินการคู่ขนานและสอดคล้องกันไป ทั้งนี้โครงการก่อสร้างโรงงานได้รับการอนุมัติจัดสรรงบประมาณ 1,411.7 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยก่อสร้างโรงงานวัคซีนในระดับอุตสาหกรรมมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) จนกระทั่งทุกวันนี้การดำเนินการก่อสร้างตัวโรงงาน การติดตั้งระบบสนับสนุนต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพ (Qualification) รวมถึงเครื่องจักรและเครื่องมือที่สำคัญที่ใช้ในการผลิตได้ติดตั้งเสร็จเกือบทั้งหมดแล้ว

            สำหรับขั้นตอนต่อไปของการดำเนินงานจะเป็นขั้นตอนของการทดสอบระบบต่าง ๆ ให้ทำงานอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งระบบห้องผลิต ระบบสนับสนุนการผลิต ระบบเครื่องจักรผลิต ตลอดจนกระบวนการผลิตให้สามารถทำงานสอดประสานกันและเป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพตามข้อกำหนดมาตรฐาน และนำไปทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 (Clinical Trial Bridging Study) เพื่อเป็นข้อมูลการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเมื่อโรงงานได้รับการตรวจสอบรับรองมาตรฐานการผลิต GMP (Good Manufacturing Practice) ก็จะสามารถผลิตวัคซีนเพื่อกระจายสู่ระบบสาธารณสุขของประเทศได้ในปี พ.ศ. 2563 พล.อ.ศุภกร กล่าวเพิ่มเติม

            จากการตระหนักถึงปัญหาการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัคซีนเพื่อรับมือกับการระบาดครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น จึงได้มีการจัดตั้ง “GAPหรือ Global Action Plan for Influenza Vaccine โดยองค์การเภสัชกรรมของประเทศไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศแรกที่ได้รับทุนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในการพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ประมาณ 8.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

            ด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ยอมรับว่าโครงการก่อสร้างโรงงานวัคซีนแห่งนี้ค่อนข้างใช้ระยะเวลานาน ทั้งนี้เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่เชิงเทคนิคที่ต้องมีกระบวนการผลิตครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเพื่อให้สามารถผลิตวัคซีนสำเร็จรูปให้เป็นความมั่นคงแห่งชาติ (National Security) ด้านการสาธารณสุขซึ่งมีความซับซ้อนทั้งทางด้านเทคนิคการผลิตและการบริหารจัดการ โดยต้องมีการพิจารณาว่าไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงาน ชุมชนข้างเคียง สภาพแวดล้อม ตลอดจนประชาชนผู้ได้รับวัคซีน อีกทั้งต้องมีการผลิตวัคซีนที่มีความปลอดภัย มีประสิทธิผลในการป้องกันโรค และมีคุณภาพตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO)

            นพ.นพพร กล่าวต่อไปว่า ในสถานการณ์ปกติโรงงานแห่งนี้จะใช้ในการผลิตวัคซีนชนิดเชื้อตายตามฤดูกาลที่องค์การเภสัชกรรมได้พัฒนาขึ้นตั้งแต่ต้นจนประสบความสำเร็จสำหรับใช้ในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายมีความปลอดภัยสูงสามารถใช้ได้ทั่วไป สำหรับสถานการณ์เมื่อเกิดการระบาด โรงงานแห่งนี้สามารถปรับไปใช้ผลิตวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันเลียนแบบการได้รับเชื้อตามธรรมชาติซึ่งเป็นวัคซีนที่ให้ผลผลิตสูงในระยะเวลาสั้น เหมาะสมกับการใช้เพื่อรองรับการระบาดใหญ่ โดยในปัจจุบันมีผู้ผลิตวัคซีนเชื้อเป็นเพียง 3 รายเท่านั้น คือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และอินเดีย สำหรับเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ในโรงงานแห่งนี้ องค์การเภสัชกรรมเลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตโดยใช้ไข่ไก่ฟัก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระดับสากลที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในด้านความปลอดภัยและประสิทธิผล               

การพัฒนาวัคซีนขององค์การเภสัชกรรมและความสำเร็จ ณ ปัจจุบัน

         1. การวิจัยและพัฒนาการผลิตวัคซีน
            - ตามแผน Global Action Plan ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2550-2551) องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้สนับสนุนองค์การเภสัชกรรมในการพัฒนาการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย (Inactivate Influenza Vaccine: IIV) ตามฤดูกาลในระดับห้องปฏิบัติการด้วยการใช้เทคโนโลยีจากการเพาะเลี้ยงในไข่ไก่ฟักที่รวมเชื้อไวรัสทั้ง 3 สายพันธุ์ จากสถาบัน KAKETSUKEN ประเทศญี่ปุ่น

            - ตามแผน Global Action Plan ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2552) องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้สนับสนุนองค์การเภสัชกรรมในการพัฒนาการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (Live-attenuated Influenza Vaccine: LAIV) สายพันธุ์ H1N1 2009 แบบพ่นเข้าทางจมูก โดยได้รับเชื้อไวรัสตั้งต้นจาก Institute for Experiential Medicine (IEM) ประเทศรัสเซีย และองค์การเภสัชกรรมได้พัฒนาและวิจัยวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็นสายพันธุ์ H5N2 เพื่อรองรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดนก H5N1 สู่คน

         2. การขยายระดับการผลิตสู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรม (Pilot Scale)
            ต้องมีมาตรฐานการผลิต GMP (Good Manufacturing Practice) และมีการขยายการผลิต การศึกษาความเป็นไปได้ในการออกสู่ตลาดเพื่อให้ได้กระบวนการที่เหมาะสมทั้งด้านคุณภาพ ความปลอดภัย ประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อรอบการผลิต

         3. การขยายระดับการผลิตสู่ระดับอุตสาหกรรม (Industrial Scale)

         ต้องมีมาตรฐานการผลิต GMP (Good Manufacturing Practice) และระบบทดสอบความถูกต้องของกระบวนการผลิต วิธีการตรวจสอบคุณภาพเพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอของคุณภาพผลิตภัณฑ์ ต้องมีการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 4 เพื่อติดตามผลโดยเฉพาะอาการข้างเคียงที่สำคัญหลักออกสู่ตลาดและมีการใช้อย่างกว้างขวาง มีระบบการติดตามเฝ้าระวังและเรียกคืนกรณีจำเป็น 

         นายกิตติศักดิ์ ภูพิพัฒน์ผล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กล่าวว่า กระบวนการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะใช้เวลาการผลิตทั้งกระบวนการประมาณ 3-4 เดือน โดยเริ่มจากการนำไวรัสตั้งต้นสายพันธุ์ตามการประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) มาเพาะเลี้ยงเพื่อพร้อมเข้าสู่กระบวนการผลิต โดยใช้ไข่ไก่ฟักปลอดเชื้อเฉพาะคุณภาพสูง (SPF: Specific Pathogen-Free) มาเป็นแหล่งเพาะเชื้อไวรัสให้เพิ่มปริมาณ จากนั้นจะมีกระบวนการแยกเชื้อไวรัสที่ได้นำมาทำให้บริสุทธิ์เบื้องต้นจะได้วัคซีนเชื้อเป็น รวมถึงการทำให้เชื้อตายและหมดฤทธิ์เพื่อจะได้วัคซีนเชื้อตาย

            นายกิตติศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมสามารถพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็นได้สำเร็จถึง 2 ชนิด คือ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1) ชนิดเชื้อเป็น หรือ Fluvac วัตถุประสงค์เพื่อรองรับการระบาด และวัคซีนป้องกันไข้หวัดนก H5N2 ชนิดเชื้อเป็น หรือ Fluvac H5 วัตถุประสงค์เพื่อเตรียมการรองรับการระบาด ซึ่งวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ได้ผ่านการศึกษาวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 (Clinical Trial Phase I และ II) พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยในการใช้ มีประสิทธิผลในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ผลิตเพื่อใช้ในกรณีมีการระบาดเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 (Fluvac) และเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 (Fluvac H5) ตามลำดับ โดยวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ทั้ง 2 ชนิด ใช้การพ่นเข้าทางจมูกซึ่งได้บรรจุในรูปแบบของเหลวบรรจุ 1 โด๊ส (0.5 มล.)

            สำหรับการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลชนิดเชื้อตาย 3 สายพันธุ์ องค์การเภสัชกรรมได้รับความช่วยเหลือด้านเทคนิคการผลิตในระดับอุตสาหกรรมจากสถาบัน KAKETSUKEN ประเทศญี่ปุ่น จึงสามารถพัฒนากระบวนการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายรูปแบบ Split Vaccine ได้สำเร็จ โดยได้ทำการตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการผลิต (Process Validation) เพื่อให้เกิดความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ มีการศึกษาในด้านต่าง ๆ อาทิ การศึกษา Virus Clearance Test เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของกระบวนการในการกำจัดไวรัสที่อาจปนเปื้อนในกระบวนการผลิต การศึกษา Microbial Effectiveness Test เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียของสารกันเสียในผลิตภัณฑ์ การศึกษาความคงสภาพของผลิตภัณฑ์และสารมัธยันต์ รวมถึงการพัฒนากระบวนการตรวจวิเคราะห์คุณภาพของวัคซีน

            ทั้งนี้องค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการผลิต 3-lot consecutive batch แล้ว อีกทั้งยังได้ผ่านการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลอง การศึกษาวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 (Clinical Trial Phase I และ II) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการศึกษาในมนุษย์ระยะที่ 2/3 (Clinical Trial Phase II/III) โดยเป็นวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลชนิดเชื้อตาย 3 สายพันธุ์ ภายใต้ชื่อ Tri Fluvac เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายรูปแบบ Split บรรจุอยู่ในรูปแบบของเหลวบรรจุ 2 หรือ 4 โด๊ส

            นพ.นพพร กล่าวในตอนท้ายว่า โรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกระดับอุตสาหกรรมตามมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) สร้างขึ้นโดยมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงแห่งชาติ (National Security) และพึ่งตนเองด้านยาและเวชภัณฑ์ เมื่อโรงงานผลิตวัคซีนได้ทำการทดสอบการผลิตสำเร็จและได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. แล้ว โรงงานแห่งนี้จะมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal Influenza Vaccine) เริ่มต้นปีละ 2 ล้านโด๊ส และสามารถขยายกำลังการผลิตได้ถึง 10 ล้านโด๊ส ในกรณีที่มีการเกิดการระบาดใหญ่สามารถขยายกำลังการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Pandemic Influenza Vaccine) ได้ปริมาณเพียงพอต่อการใช้ของประชาชนในประเทศอย่างแน่นอน