ทับทิม ผลไม้เพื่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด

ทับทิม...ผลไม้เพื่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด

ดร.นพ.เทพ เฉลิมชัย อายุรแพทย์

โรคหัวใจขาดเลือดและเส้นเลือดหัวใจตีบพบได้บ่อยและเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในอันดับต้น ๆ ในปัจจุบัน สาเหตุอาจเนื่องมาจากพันธุกรรม ไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ควันบุหรี่ หมอกควันจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว และความเครียด นอกจากนี้อาจเนื่องมาจากวิถีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมการรับประทานของคนในยุคปัจจุบันที่ต้องเร่งรีบต่างก็เป็นตัวเร่งการเกิด “อนุมูลอิสระ” ทำให้เกิดกระบวนการเผาผลาญออกซิเจนภายในเซลล์ (ออกซิเดชั่น) ก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้

ปัจจุบันงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ สนับสนุนว่าการบริโภคผลไม้ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งรวมของวิตามิน เกลือแร่ และใยอาหารแล้ว ยังเป็นแหล่งของสารพฤกษเคมีที่ช่วยชะลอความเสื่อมและอาจป้องกันโรคเรื้อรังต่าง ๆมากมายที่เกิดจากอิทธิพลของอนุมูลอิสระที่ไปทำลายเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย ผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่รู้จักกันดี เช่น พรุน มีปริมาณสารโพลีฟีนอลสูง และมีใยอาหารสูง ทั้งใยอาหารชนิดละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ มีฤทธิ์ระบายท้องและบำบัดอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี หรือ องุ่นแดง ที่มีรสชาติอร่อยอุดมไปด้วยวิตามินและสารฟลาโวนอยด์ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระอยู่สูง องุ่นแดงมีสารอาหารสำคัญคือ เรสเวอราทรอล (Resveratrol) ที่ช่วยยับยั้งการก่อตัวของสารอุดตันในหัวใจ (Cardiac fibroblasts) จึงอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ หรือ แครนเบอร์รี่ ผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินซีอยู่มาก นอกจากนี้ยังช่วยลดการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะของผู้หญิงที่เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือ ทับทิม ผลไม้ที่มีสารโพลีฟีนอล มีประโยชน์ต่อสุขภาพในการรักษาโรคหัวใจ เป็นต้น

ทับทิม...ผลไม้เพื่อสุขภาพ

ผลไม้ทับทิม (Pomegranate) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Punica granatum อยู่ในวงศ์ของ Lythracea เป็นผลไม้เมืองร้อน มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอิหร่านและแพร่กระจายในหลายประเทศ เช่น ทางตอนเหนือของอินเดีย แถบเมดิเตอร์เรเนียน จีน และประเทศไทย เป็นต้น ทับทิมเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นขนาดต้นเล็กกึ่งผลัดใบ ความสูงของต้นทับทิมนั้นสูงถึง 5-8 เมตร ใบจะเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน ยาว 2-3 เซนติเมตร ปลายใบจะแหลม ทับทิมจะมีสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน สีของเนื้อทับทิมจะแตกต่างกัน ตั้งแต่สีขาว ชมพู จนถึงสีแดงเข้ม ทับทิมมีสารโพลีฟีนอล (polyphenols) ที่มีฤทธิ์ต้านกระบวนการออกซิเดชั่นที่เกี่ยวกับการอักเสบ (antioxidative) มีงานวิจัยพบว่าทับทิมมีประโยชน์ด้านสุขภาพ เช่น ทับทิมมีประโยชน์ต่อผิวพรรณ ช่วยให้มีผิวอ่อนกว่าวัย1 และป้องกันผิวจากการเสื่อมสภาพตามวัยจากรังสีอัลตราไวโอเลตได้ และช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนให้แก่ผิวได้อีกด้วย2 ช่วยในการรักษาโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง3 เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง4 โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง5 และยังพบว่าสามารถยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิดได้6 โดยมีงานวิจัยทางคลินิกที่ช่วยสนับสนุนว่าสารสกัดจากทับทิมมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ยับยั้งการเกิดเซลล์กลายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดเซลล์มะเร็งตามมา และช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งได้ จึงสามารถใช้ในการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งบางชนิดได้7 นอกจากนี้ยังพบว่าทับทิมมีประโยชน์ในการรักษาโรคหัวใจ เช่น ลดการสะสมไขมันในเซลล์เม็ดเลือดขาวและผนังหลอดเลือดหัวใจได้ และยับยั้งการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ ทำให้สามารถป้องกันและช่วยในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ โดยมีงานวิจัยยืนยันทั้งที่ทำในหลอดทดลอง หนูทดลอง และในมนุษย์ (in vitro, in vivo humans และ mice models) ว่ามีประสิทธิภาพและได้ผลดี

สารฟลาโวนอยด์ โพลีฟีนอล กับการเกิดโรคหัวใจ

สารฟลาโวนอยด์ โพลีฟีนอล (Polyphenolic Flavonoids) แบ่งเป็นกลุ่ม anthocyanins และกลุ่ม anthoxanthins เช่น สาร flavonols, flavanols, flavones และ isoflavones เป็นต้น พบได้ในพืชบางชนิด เช่น เมล็ดองุ่น ชา ไวน์ และทับทิม โดยมีฤทธิ์ยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดชั่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการอักเสบ8,9 สารฟลาโวนอยด์สามารถยับยั้งกระบวนการออกซิเดชั่นของไขมันชนิดแอลดีแอลได้ [low density lipoprotein (LDL) oxidation]10,11 และยับยั้งการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจได้อีกด้วย (macrophage oxidation)12 โดยมีงานวิจัยยืนยันว่าการรับประทานอาหารที่มีสารฟลาโวนอยด์ประจำสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้13 นอกจากนี้การศึกษาในหนูทดลองที่มียีนผิดปกติชนิด apolipoprotein E-deficient (E0) mice ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้14 โดยพบว่าหนูทดลองที่กินไวน์แดง15 สารรากชะเอมเทศ16-17 น้ำองุ่น18 และสารสกัดจากขิง19 ที่มีสารฟลาโวนอยด์สูงเป็นประจำสามารถลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจได้

ทับทิมกับการยับยั้งการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

สารสกัดจากทับทิมประกอบด้วยส่วนประกอบที่เป็นน้ำ 85%, น้ำตาล 10%, สารเพคติน 1.5% นอกจากนี้ยังมีกรดวิตามินซี และสารโพลีฟีนอลร่วมด้วย สารโพลีฟีนอลในสารสกัดจากทับทิมพบได้ 0.2%-1.0% โดยพบทั้งกลุ่มสาร anthocyanins ที่มีสีแดง เช่น cyanidin-3-glycoside, cyanidin-3, 3-diglycoside, and delphindin-3-glucoside และกลุ่มสาร anthoxanthins เช่น catechins, ellagic tannins, and gallic and ellagic acids20,21 โดยสาร ellagic acid และ ellagitannins มีฤทธิ์ยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดชั่นที่ทำให้การเกิดโรคหลอดเลือดแข็งและอุดตันได้ โดยมีงานวิจัยทั้งในมนุษย์และในหนูทดลองพบว่า การรับประทานสารสกัดจากทับทิมมีฤทธิ์ยับยั้งและลดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมันชนิดแอลดีแอลได้ และป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ด้วย22-24 งานวิจัยที่ศึกษาในหนูทดลองที่มียีนผิดปกติชนิด apolipoprotein E-deficient (E0) mice แบบสุ่มเลือก โดยให้กินสารสกัดจากทับทิมขนาด 31 ไมโครลิตรต่อวัน หรือเทียบเท่ากับการดื่มสารสกัดจากทับทิมขนาด 1 แก้ว หรือ 80 ออนซ์ในมนุษย์ ระยะเวลา 4 เดือน โดยเปรียบเทียบกับหนูที่ได้สารหลอกคือ การดื่มน้ำเปล่า พบว่าป้องกันหรือลดการเกิดเส้นเลือดอุดตันได้ และลดจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจที่ทำให้เกิดการอักเสบและการสะสมไขมันบริเวณหลอดเลือดได้ด้วย25 นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในหนูทดลองอายุ 4 เดือนที่เกิดปัญหาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว โดยให้กินสารสกัดจากทับทิมเป็นเวลา 2 เดือน พบว่าสามารถลดขนาดของหลอดเลือดที่ตีบได้ถึง 17%26 สำหรับการศึกษาในคนนั้น มีการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 45 คน พบว่าการดื่มสารสกัดจากทับทิมขนาด 240 ซีซีต่อวัน ทุกวันเป็นเวลา 3 เดือน สามารถลดภาวะหัวใจขาดเลือดจากเส้นเลือดตีบได้27 และมีการศึกษาแบบสุ่มเลือก โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ดื่มและกลุ่มที่ไม่ได้ดื่มสารสกัดจากทับทิมจำนวนกลุ่มละ 10 คน เป็นเวลา 1 ปี พบว่าผนังหลอดเลือดหัวใจ Carotid intima-media thickness (CIMT) มีการหนาตัวลดลง หรือตีบแคบน้อยลงถึง 35% ในกลุ่มที่ดื่มสารสกัดจากทับทิม ซึ่งต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้ดื่มที่พบว่าผนังหลอดเลือดหัวใจหนาขึ้นหรือตีบเพิ่มขึ้นถึง 10%28

การศึกษาด้านฤทธิ์ของสารสกัดจากทับทิมในการต้านกระบวนการออกซิเดชั่นที่เกี่ยวกับการอักเสบและการต้านอนุมูลอิสระ (antioxidative) พบว่าสารสกัดจากทับทิมมีฤทธิ์ต้านกระบวนการออกซิเดชั่นสูงกว่าใบชาเขียวถึง 3 เท่า20 โดยสารสกัดจากทับทิมมีสารโพลีฟีนอลเท่ากับ 5 mmol/L ซึ่งเข้มข้นกว่าในกลุ่มน้ำผลไม้อื่น ๆ เช่น ส้ม องุ่น แครนเบอร์รี่ ลูกแพร์ แอปเปิ้ล ซึ่งมีความเข้มข้นน้อยกว่า 1.3-4 mmol/L และยังมีฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระได้สูง โดยสามารถยับยั้งฤทธิ์ต้านกระบวนการออกซิเดชั่นของไขมันชนิดแอลดีแอลชนิด copper ion-induced LDL oxidation ได้ถึง 94% และฤทธิ์ต้านกระบวนการเปอร์ออกซิเดชั่นของไขมัน (lipid peroxidation) ได้สูงถึง 38%29-30 สำหรับงานวิจัยในคนมีการศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดี โดยให้ดื่มสารสกัดจากทับทิมขนาด 50 ซีซีต่อวัน รวม 2 สัปดาห์ พบว่าสารอนุมูลอิสระที่เกี่ยวข้องกับระดับไขมันชนิดแอลดีแอลในเลือดลดลง 62% เมื่อเทียบกับก่อนรับประทาน และแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และพบว่าปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ total antioxidant status (TAS) ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.3 เท่าหลังจากรับประทานสารสกัดจากทับทิมในระยะเวลา 12 เดือน เมื่อเทียบกับก่อนเข้าโครงการวิจัย28  นอกจากนี้มีงานวิจัยศึกษาในผู้ป่วยโรคเบาหวานพบว่าสารสกัดจากทับทิมลดสารอนุมูลอิสระได้ถึง 56% ภายในระยะเวลา 3 เดือนหลังรับประทาน31

เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจเป็นเซลล์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและขาดเลือด30,31 โดยทำให้มีการสะสมไขมันในเซลล์ (foam cell) และที่ผนังหลอดเลือดแดงของหัวใจผ่านกระบวนการ macrophage lipid peroxidation34 งานวิจัยในหนูทดลองที่กินสารสกัดจากทับทิมขนาด 12.5 ไมโครลิตรต่อวัน ระยะเวลา 2 เดือน พบว่าสามารถลดการสะสมไขมันชนิดคอเลสเตอรอลและไขมันชนิดแอลดีแอลในเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีการศึกษาวิจัยในผู้ป่วยเบาหวานและยืนยันเช่นเดียวกันว่า การรับประทานสารสกัดจากทับทิมสามารถลดการสะสมไขมันชนิดแอลดีแอลในเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจได้31 และยังพบว่าสารสกัดจากทับทิมสามารถลดไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ในเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจในหนูทดลองอีกด้วย35

สรุป

ทับทิมเป็นผลไม้ที่มีสารโพลีฟีนอลที่มีฤทธิ์ต้านกระบวนการออกซิเดชั่นที่เกี่ยวกับการอักเสบ ลดสารอนุมูลอิสระที่เกี่ยวกับไขมันชนิดแอลดีแอล เพิ่มปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ ลดการสะสมไขมันในเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจและผนังหลอดเลือดหัวใจได้ และทำให้ผนังหลอดเลือดหัวใจมีการหนาตัวลดลงและตีบแคบน้อยลง ลดภาวะหัวใจขาดเลือดจากเส้นเลือดตีบได้ ทำให้สามารถป้องกันและช่วยในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้36 สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้น นอกจากต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานโดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง รับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน ไม่เครียด รวมถึงการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ก็จะสามารถทำให้มีสุขภาพหัวใจที่ดีได้

References

1.        Aslam MN, Lansky EP, Varani J. Pomegranate as a cosmeceutical source: pomegranate fractions promote proliferation and procollagen synthesis and inhibit matrix metalloproteinase-1 production in human skin cells. Journal of ethnopharmacology. 2006;103(3):311-8. Epub 2005/10/14.

2.        Park HM, Moon E, Kim AJ, Kim MH, Lee S, Lee JB, et al. Extract of Punica granatum inhibits skin photoaging induced by UVB irradiation. International journal of dermatology. 2010;49(3):276-82. Epub 2010/05/15.

3.        Aviram M, Dornfeld L. Pomegranate juice consumption inhibits serum angiotensin converting enzyme activity and reduces systolic blood pressure. Atherosclerosis. 2001;158(1):195-8. Epub 2001/08/14.

4.        Esmaillzadeh A, Tahbaz F, Gaieni I, Alavi-Majd H, Azadbakht L. Cholesterol-lowering effect of concentrated pomegranate juice consumption in type II diabetic patients with hyperlipidemia. International journal for vitamin and nutrition research Internationale Zeitschrift fur Vitamin- und Ernahrungsforschung Journal international de vitaminologie et de nutrition. 2006;76(3):147-51. Epub 2006/10/19.

5.        Kim H, Banerjee N, Sirven MA, Minamoto Y, Markel ME, Suchodolski JS, et al. Pomegranate polyphenolics reduce inflammation and ulceration in intestinal colitis-involvement of the miR-145/p70S6K1/HIF1α axis in vivo and in vitro. J Nutr Biochem. 2017 May;43:107-115. Epub 2017 Feb 27.

6.        Pantuck AJ, Leppert JT, Zomorodian N, Aronson W, Hong J, Barnard RJ, et al. Phase II study of pomegranate juice for men with rising prostate-specific antigen following surgery or radiation for prostate cancer. Clinical cancer research: an official journal of the American Association for Cancer Research. 2006;12(13):4018-26. Epub 2006/07/05.

7.        Pooja Sharma, Sarah F. McClees, Farrukh Afaq. Pomegranate for Prevention and Treatment of Cancer: An Update. Molecules. 2017 Jan 24;22(1). pii: E177.

8.       C. A. Rice-Evans, N. J. Miller, P. G. Bolwell, P. M. Bramley, and J. B. Pridham. The relative antioxidant activities of plant derived polyphenolic flavonoids. Free Radical Research, vol. 22, no. 4, pp. 375-383, 1995.

9.        S. A. B. E. Van Acker, D. J. Van Den Berg, M. N. J. L. Tromp, et al. Structural aspects of antioxidant activity of flavonoids. Free Radical Biology and Medicine, vol. 20, no. 3, pp. 331-342, 1996.

10. B. Fuhrman and M. Aviram. Flavonoids protect LDL from oxidation and attenuate atherosclerosis. Current Opinion in Lipidology, vol. 12, no. 1, pp. 41-48, 2001.

11. B. Fuhrman and M. Aviram. Polyphenols and flavonoids protect LDL against atherogenic modifications. Handbook of Antioxidants Biochemical, Nutritional and Clinical Aspects, E. Cadenas and L. Packer, Eds., vol. 16, p. 303, Marcel Dekker, NY, USA, 2nd edition, 2001.

12. M. Rosenblat, P. Belinky, J. Vaya, et al. Macrophage enrichment with the isoflavan glabridin inhibits NADPH oxidase induced cell-mediated oxidation of low density lipoprotein. A possible role for protein kinase C. Journal of Biological Chemistry, vol. 274, no. 20, pp. 13790-13799, 1999.

13. M. G. L. Hertog, D. Kromhout, C. Aravanis, et al. Flavonoid intake and long-term risk of coronary heart disease and cancer in the seven countries study. Archives of Internal Medicine, vol. 155, no. 4, pp. 381-386, 1995.

14. T. Hayek, B. Fuhrman, J. Vaya, et al. Reduced progression of atherosclerosis in apolipoprotein E-deficient mice following consumption of red wine, or its polyphenols quercetin or catechin, is associated with reduced susceptibility of LDL to oxidation and aggregation. Arteriosclerosis, Thrombosis, and Vascular Biology, vol. 17, no. 11, pp. 2744-2752, 1997.

15. M. Aviram and B. Fuhrman. Wine flavonoids, LDL cholesterol oxidation and atherosclerosis. in Wine: A Scientific explorAtion, M. Sandler and R. M. Pinder, Eds., p. 140, Taylor and Francis, London, UK, 2003.

16. B. Fuhrman, S. Buch, J. Vaya, et al. Licorice extract and its major polyphenol glabridin protect low-density lipoprotein against lipid peroxidation: In vitro and ex vivo studies in humans and in atherosclerotic apolipoprotein E-deficient mice. American Journal of Clinical Nutrition, vol. 66, no. 2, pp. 267-275, 1997.

17. M. Aviram, J. Vaya, and B. Fuhrman. Licorice root flavonoid antioxidants reduce LDL oxidation and attenuate cardiovascular diseases. in Herbal Medicines: Molecular Basis of Biological Activity and Health, L. Packer, B. Halliwel, and C.N. Ong, Eds., chapter 27, p. 595, Marcel Dekker, NY, USA, 2004.

18.B. Fuhrman, N. Volkova, R. Coleman, and M. Aviram. Grape powder polyphenols attenuate atherosclerosis development in apolipoprotein E deficient (E0) mice and reduce macrophage atherogenicity. Journal of Nutrition, vol. 135, no. 4, pp. 722-728, 2005.

19. B. Fuhrman, M. Rosenblat, T. Hayek, R. Coleman, and M. Aviram. Ginger extract consumption reduces plasma cholesterol, inhibits LDL oxidation and attenuates development of atherosclerosis in atherosclerotic, apolipoprotein E-deficient mice. Journal of Nutrition, vol. 130, no. 5, pp. 1124-1131, 2000.

20. M. I. Gil, F. A. Tomas-Barberan, B. Hess-Pierce, D. M. Holcroft, and A. A. Kader. Antioxidant activity of pomegranate juice and its relationship with phenolic composition and processing. Journal of Agricultural and Food Chemistry, vol. 48, no. 10, pp. 4581-4589, 2000.

21. C. Ben Nasr, N. Ayed, and M. Metche. Quantitative determination of the polyphenolic content of pomegranate peel. Zeitschrift fur Lebensmittel -Untersuchung und -Forschung, vol. 203, no. 4, pp. 374-378, 1996.

22. M. Aviram. Pomegranate juice as a major source for polyphenolic flavonoids and it is most potent antioxidant against LDL oxidation and atherosclerosis. in Proceedings of the 11th Biennal Meeting of the Society for Free Radical Research International, Monduzzi, Ed., p. 523, MEDIMOND Inc, Paris, France, July 2002.

23. M. Aviram, B. Fuhrman, M. Rosenblat, et al. Pomegranate juice polyphenols decreases oxidative stress, low-density lipoprotein atherogenic modifications and atherosclerosis. Free Radical Research, vol. 36, supplement 1, pp. 72-73, 2002.

24. M. Aviram, L. Dornfeld, M. Kaplan, et al. Pomegranate juice flavonoids inhibit low-density lipoprotein oxidation and cardiovascular diseases: studies in atherosclerotic mice and in humans. Drugs under Experimental and Clinical Research, vol. 28, no. 2-3, pp. 49-62, 2002.

25. M. Aviram, L. Dornfeld, M. Rosenblat, et al. Pomegranate juice consumption reduces oxidative stress, atherogenic modifications to LDL, and platelet aggregation: studies in humans and in atherosclerotic apolipoprotein E-deficient mice. American Journal of Clinical Nutrition, vol. 71, no. 5, pp. 1062-1076, 2000.

26. M. Kaplan, T. Hayek, A. Raz, et al. Pomegranate juice supplementation to atherosclerotic mice reduces macrophage lipid peroxidation, cellular cholesterol accumulation and development of atherosclerosis. Journal of Nutrition, vol. 131, no. 8, pp. 2082-2089, 2001.

27. M. D. Sumner, M. Elliott-Eller, G. Weidner, et al. Effects of pomegranate juice consumption on myocardial perfusion in patients with coronary heart disease. American Journal of Cardiology, vol. 96, no. 6, pp. 810-814, 2005.

28.M. Aviram, M. Rosenblat, D. Gaitini, et al. Pomegranate juice consumption for 3 years by patients with carotid artery stenosis reduces common carotid intima-media thickness, blood pressure and LDL oxidation. Clinical Nutrition, vol. 23, no. 3, pp. 423-433, 2004.

29. N. P. Seeram, M. Aviram, Y. Zhang, et al. Comparison of antioxidant potency of commonly consumed polyphenol-rich beverages in the United States. Journal of Agricultural and Food Chemistry, vol. 56, no. 4, pp. 1415-1422, 2008.

30. M. Rosenblat, N. Volkova, J. Attias, R. Mahamid, and M. Aviram. Consumption of polyphenolic-rich beverages (mostly pomegranate and black currant juices) by healthy subjects for a short term increased serum antioxidant status, and the serum’s ability to attenuate macrophage cholesterol accumulation. Food and Function, vol. 1, no. 1, pp. 99-109, 2010.

31. M. Rosenblat, T. Hayek, and M. Aviram. Anti-oxidative effects of pomegranate juice (PJ) consumption by diabetic patients on serum and on macrophages. Atherosclerosis, vol. 187, no. 2, pp. 363-371, 2006.

32. B. Fuhrman, J. Oiknine, and M. Aviram. Iron induces lipid peroxidation in cultured macrophages, increases their ability to oxidatively modify LDL, and affects their secretory properties. Atherosclerosis, vol. 111, no. 1, pp. 65-78, 1994.

33. B. Fuhrman, O. Judith, S. Keidar, L. Ben-Yaish, M. Kaplan, and M. Aviram. Increased uptake of LDL by oxidized macrophages is the result of an initial enhanced LDL receptor 20 Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine activity and of a further progressive oxidation of LDL. Free Radical Biology and Medicine, vol. 23, no. 1, pp. 34-46, 1997.

34. B. Fuhrman, N. Volkova, and M. Aviram. Oxidative stress increases the expression of the CD36 scavenger receptor and the cellular uptake of oxidized low-density lipoprotein in macrophages from atherosclerotic mice: protective role of antioxidants and of paraoxonase. Atherosclerosis, vol. 161, no. 2, pp. 307-316, 2002.

35. M. Rosenblat, N. Volkova, and M. Aviram. Pomegranate juice (PJ) consumption antioxidative properties on mouse macrophages, but not PJ beneficial effects on macrophage cholesterol and triglyceride metabolism, are mediated via PJ induced stimulation of macrophage PON2. Atherosclerosis, vol. 212, no. 1, pp. 86-92, 2010.

36.  M. Rosenblat, M. Aviram. Pomegranate Protection against Cardiovascular Diseases. Evid Based Complement Alternat Med. 2012;2012:382763.