การรักษาความดันโลหิตสูงในเด็ก ปรับปรุงล่าสุดโดย AAP

อ.นพ.สันติ สิลัยรัตน์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

การรักษาความดันโลหิตสูงในเด็ก ปรับปรุงล่าสุดโดย AAP

         American Academy of Pediatrics (AAP) ออกเผยแพร่แนวทางในการตรวจคัดกรองและแนวทางในการดูแลเด็กที่มีความดันโลหิตสูง Clinical Practice Guideline for Screening and Management of High Blood Pressure in Children and Adolescents ฉบับใหม่ล่าสุดเพื่อใช้ทดแทนแนวทางเวชปฏิบัติเดิมที่เผยแพร่โดย National Heart, Lung, and Blood Institute ในปี ค.ศ. 2004 แล้ว โดยแนวทางใหม่นี้อาศัยข้อมูลจากการศึกษาต่าง ๆ กว่า 15,000 การศึกษาในช่วงปี ค.ศ. 2004-2016 การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ คำแนะนำในการตรวจคัดกรองเด็กที่เสี่ยงต่อการมีความดันโลหิตสูงที่จำเพาะมากขึ้น เพ่ิมการตรวจติดตามระดับความดันโลหิตเองที่บ้าน และลดบทบาทของการตรวจหัวใจด้วย echocardiogram ลง

            ในแง่ของการตรวจคัดกรองนั้น ในแนวทางใหม่นี้แนะนำให้ทำการตรวจความดันโลหิตเมื่อมารับการตรวจแบบ well child หรือ preventive health visits เท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องตรวจทุกครั้งที่มาโรงพยาบาล และหากพบว่ามีค่าความดันโลหิตสูงควรได้รับการตรวจยืนยันอีกครั้งโดยการตรวจติดตามวัดความดันโลหิตที่บ้านต่อเนื่องกัน 24 ชั่วโมง สำหรับค่าความดันโลหิตที่ใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติจะแตกต่างกันระหว่างกลุ่มเด็กที่มีน้ำหนักตัวผิดปกติกับเด็กที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน นอกจากนี้ในแง่ของการตรวจเพิ่มเติมยังลดการตรวจ echocardiogram ซึ่งเดิมแนะนำให้ทำการตรวจทุกราย มาเป็นเลือกตรวจเฉพาะในเด็กที่วางแผนการรักษาด้วยยาลดความดันโลหิตเท่านั้น

            สำหรับการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ในแนวทางเวชปฏิบัติฉบับใหม่นี้ ได้แก่

  • ปรับเปลี่ยนตารางการตรวจคัดกรองวัดความดันโลหิตใหม่ โดยใช้ค่า 90th percentile สำหรับอายุและเพศเดียวกัน และค่า 5th percentile สำหรับส่วนสูง ซึ่งทำให้มีค่า negative predictive value ที่สูงขึ้นมาก ซึ่งช่วยทำให้พยาบาลที่ทำการคัดกรองสามารถส่งต่อเพื่อทำการตรวจเพิ่มเติมได้ง่ายขึ้นหากพบว่าผิดปกติ
  • สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป ค่าความดันโลหิตที่ใช้เป็นเกณฑ์จะสอดคล้องกับค่าความดันโลหิตที่ใช้วินิจฉัยในผู้ใหญ่ซึ่งกำหนดโดย American Heart Association (AHA) และ American College of Cardiology (ACC)
  • เปลี่ยนคำว่า prehypertension เป็น elevated blood pressure เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่เผยแพร่โดย AHA และ ACC
  • เริ่มใช้ยาลดความดันโลหิตเมื่อให้การรักษาด้วยวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้วไม่ได้ผล หรือมีอาการและระดับความดันโลหิตอยู่ใน Stage 2 HTN หรือความดันโลหิตสูงทุกระดับแต่พบมีโรคร่วมอื่น เช่น โรคไตเสื่อมหรือเบาหวานร่วมด้วย

            David Kaelber หนึ่งในคณะผู้จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติฉบับใหม่นี้กล่าวว่า การปรับปรุงแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคความดันโลหิตสูงในเด็กมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องจากข้อมูลการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเด็กไม่ได้ชัดเจนมากนักเมื่อเทียบกับในกลุ่มผู้ใหญ่ เนื่องจากอุบัติการณ์ของภาวะนี้ในเด็กค่อนข้างน้อย และการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูง เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยเด็กก็น้อยมาก ดังนั้น ข้อมูลในแง่ผลกระทบระยะยาวของการมีระดับความดันโลหิตสูง และแนวทางการปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในอนาคตจึงอาจต้องอาศัยข้อมูลการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพมากขึ้นต่อไป