ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดเพิ่มความเสี่ยงกระดูกหักในผู้ป่วย COPD

ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดเพิ่มความเสี่ยงกระดูกหักในผู้ป่วย COPD

            Reuters Health: ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูด (inhaled corticosteroids: ICS) ถูกนำมาใช้เพื่อการรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (crhonic obstructive pulmonary disease: COPD) ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980s เป็นต้นมา และมีข้อมูลรายงานที่ชัดเจนว่าการใช้ยาในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในขนาดที่สูงมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความหนาแน่นของกระดูกในผู้ป่วยกลุ่มนี้ และล่าสุดการศึกษาโดย Dr.Anne Gonzalez และคณะจาก McGill University Health Center ในประเทศแคนาดา พบว่าการใช้ยากลุ่มนี้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานมีผลเพิ่มความเสี่ยงเล็กน้อยในการเกิดกระดูกหักในผู้ป่วย COPD

            ข้อมูลการศึกษาดังกล่าวนี้ได้มาจากฐานข้อมูลของ Quebec’s Health System ระหว่างปี ค.ศ. 1990-2005 ซึ่งมีข้อมูลผู้ป่วย COPD 240,110 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่เกิดกระดูกหักที่สะโพกหรือแขน 19,396 ราย และเมื่อนำมาจับคู่กับผู้ที่ไม่เกิดกระดูกหักในสัดส่วน 1:20 ก็พบว่าการใช้ยาในกลุ่ม ICS ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานกว่า 4 ปี หรือมีการใช้ยาในขนาดสูงตั้งแต่ 1,000 มคก.ขึ้นไป เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักคิดเป็น relative risk เท่ากับ 1.10 (95% CI 1.02-1.18) อัตราการเกิดกระดูกหักในผู้ป่วยหญิงสูงกว่าผู้ป่วยชาย (20.4 ครั้ง/1,000 คน/ปี เทียบกับ 9.2 ครั้ง/1,000 คน/ปี)

            ผู้วิจัยกล่าวเสริมด้วยว่า ผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นความสำคัญของการเฝ้าระวังและพิจารณาในการใช้ยากลุ่ม ICS ในระยะยาวสำหรับผู้ป่วย COPD โดยหากจำเป็นต้องใช้ควรเลือกใช้ยาในขนาดต่ำสุดที่เป็นไปได้