ฟิลเลอร์เอฟเฟกต์ มหันตภัยฟิลเลอร์...ฉีดโดยไม่ใช่แพทย์

ฟิลเลอร์เอฟเฟกต์ มหันตภัยฟิลเลอร์...ฉีดโดยไม่ใช่แพทย์

         สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เผยปัญหาของฟิลเลอร์เอฟเฟกต์ “มหันตภัยฟิลเลอร์...ฉีดโดยไม่ใช่แพทย์” ยังเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย และผู้ที่นิยมรักการฉีดฟิลเลอร์เพื่อความงาม เตือนอันตรายฉีดโดยไม่ใช่แพทย์อาจจะทำให้เกิดตาบอด หรือมีผลกระทบกับร่างกายซึ่งมีให้เห็นอยู่เสมอ

         ศ.ดร.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาของ ฟิลเลอร์เอฟเฟกต์ “มหันตภัยฟิลเลอร์...ฉีดโดยไม่ใช่แพทย์” เป็นหัวข้อของปัญหาเรื้อรังในสังคมไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องของการนำสารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์มาใช้เป็นองค์ประกอบในการให้บริการเพื่อเสริมจมูกแล้วเกิดตาบอดทันที มีให้เห็นอยู่เสมอ บ่อยครั้งที่อันตรายของการฉีดสารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการตามคลินิก สถานเสริมความงามต่าง ๆ ที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ตามคลินิกเถื่อน หมอกระเป๋า หรือคลินิกเว็บไซต์ แนะนำซื้อขายเพื่อนำไปฉีดเอง เป็นต้น จนเสี่ยงถึงขั้นตาบอด จมูกเน่า รูปใบหน้าที่เปลี่ยนผิดรูปในแบบต่าง ๆ กัน ซึ่งการใช้สารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์สำหรับการเสริมความงามหรือรักษาผิวพรรณนั้น ใช้หลักการคือ ผิวหนังซึ่งจะมีส่วนประกอบหลักที่สำคัญคือใยคอลลาเจนและสารไฮยาลูโรนิคที่มีความสามารถในการอุ้มน้ำมากกว่าตัวเองร้อยเท่า มีหน้าที่สำคัญเป็นองค์ประกอบที่ให้ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นแก่ผิวหนัง ทำให้ผิวพรรณมีรูปทรงเต่งตึง เมื่อเวลาผ่านไปเข้าสู่วัยชราพบว่า ใยคอลลาเจนและสารอุ้มน้ำจะลดน้อยลง มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง ผิวหนังจะมีลักษณะบางลง เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น เพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าวจึงมีความพยายามหาทางแก้ไขโดยการฉีดสารจากภายนอกเข้าไปในผิวหนังเพื่อทดแทน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าฟิลเลอร์นั่นเอง

ถึงแม้ว่า “ฟิลเลอร์” จะเป็นสารที่มีความมหัศจรรย์ก็จริง แต่ก็จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์จริง ๆ อย่าเอาชีวิตไปเสี่ยงกับหมอเถื่อน หมอกระเป๋า หรือแม้แต่ซื้อสารเหล่านี้มาฉีดเองจากในอินเตอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียเพราะเห็นว่ามีราคาถูก ที่ผ่านมาสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยได้แนะนำเทคนิคการฉีดสารเติมเต็มให้ปลอดภัย และมีการจัดอบรมแพทย์ผิวหนังอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้จัดทำคู่มือเวลาเกิดผลข้างเคียงฉีดเข้าเส้นเลือดที่ทำให้ตาบอด หรือเนื้อตายบริเวณผิวหนังจุดต่าง ๆ และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้แพทย์ได้ทราบ และแก้ไขได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที ซึ่งหากประชาชนท่านใดหรือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการฉีดฟิลเลอร์ สามารถเข้ามาฝากคำถามเกี่ยวกับปัญหาทางผิวหนังในระบบอีเมล สามารถส่งคำถามมาได้ที่อีเมล question@dst.or.th หรือเข้ามาที่เฟซบุ๊ก: ครบเครื่องเรื่องผิวหนัง ของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย จะให้บริการตอบคำถามแก่ประชาชนทุกท่านโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย หรือสามารถเข้ามาศึกษาได้ที่เว็บไซต์ www.dst.or.th

ด้าน.พญ.มาริษา พงศ์พฤฒิพันธ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันประชาชนนิยมที่จะฉีดฟิลเลอร์หรือสารเติมเต็มเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษาวัยเรียน ผู้หญิงวัยทำงานหรือในกลุ่มสาวประเภทสองก็มีจำนวนมากเช่นกัน โดยสารที่ใช้กันอยู่เป็นประจำเรียกว่า “สารไฮยาลูโรนิคแอซิด” ซึ่งมีอยู่หลายชนิด แบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ ได้แก่ 1. แบบชั่วคราว (Temporary Filler) มีอายุใช้งานประมาณ 4-6 เดือน แต่มีความปลอดภัยสูง สลายตัวได้เองตามธรรมชาติ 2. แบบกึ่งถาวร (Semi Permanent Filler) มีอายุใช้งานประมาณ 2 ปี มีความปลอดภัยปานกลาง และ 3. แบบถาวร (Permanent Filler)  เช่น ซิลิโคนหรือพาราฟิน หลังฉีดแล้วจะอยู่ในผิวตลอดไปไม่สลายตามธรรมชาติ มักพบผลข้างเคียงระยะยาว  ทั้งนี้ “ไฮยาลูโรนิคแอซิด” โดยปกติจะมีอยู่ในผิวหนังของคนเราอยู่แล้ว แต่สิ่งที่นำมาฉีดเป็นการสังเคราะห์ขึ้นมา เมื่อฉีดเข้าไปแล้วก็หวังว่าจะไปเติมเต็มร่องรอยต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมคิดว่าสารตัวนี้ปลอดภัยเพราะสามารถละลายหรือสลายไปได้เอง แต่ปัญหาก็คือความเสี่ยง เมื่อฉีดเข้าไปแล้ว ผลข้างเคียงที่พบบ่อย ๆ คือ อาการแดงหลังจากการฉีด แล้วก็มีอาการบวมช้ำ เนื่องจากเวลาฉีดจะใช้เข็มจิ้มลงไปบริเวณผิวหนัง ก็อาจจะไปโดนบริเวณเส้นเลือดแดงบ้าง ทำให้เกิดการช้ำบริเวณนั้นได้ แต่ผลข้างเคียงในลักษณะนี้จะไม่น่ากลัวเนื่องจากจะหายไปเองได้ภายในเวลา 2 สัปดาห์ แต่มีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยและเป็นปัญหาคือ การฉีดฟิลเลอร์แล้วเป็นก้อน ๆ ซึ่งอาจเกิดจากการฉีดฟิลเลอร์ผิดชนิด หรือเลือกเอาฟิลเลอร์ที่ไม่เหมาะสมมาฉีดในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม หรือบางที่เกิดการอักเสบติดเชื้อตามมาตรงบริเวณที่ฉีด ซึ่งบางทีเชื้อซ่อนอยู่ในฟิลเลอร์ ทำให้ร่างกายกำจัดได้ยาก ก็จะกลายเป็นแผลที่มีหนองอยู่ข้างในตลอดเวลา

การฉีดฟิลเลอร์มีข้อควรระวังอยู่ 3 ปัจจัย คือ 1. ตัวผู้ทำการฉีดต้องมีความรู้ ความชำนาญสูง และต้องเป็นแพทย์เท่านั้น ถึงแม้ผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมและมีประสบการณ์สูงสุดก็อาจเกิดผลข้างเคียงได้  2. สารที่ใช้แม้ว่าเป็นสารที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. แล้วก็สามารถเกิดผลข้างเคียงได้ แม้แต่การดูดไขมันของตัวเองมาฉีดก็เกิดอันตรายได้เช่นกัน  3. ตัวผู้รับการฉีด แต่ละคนมีกายวิภาคที่ต่างกัน ตำแหน่งของเส้นเลือดและเส้นประสาทอาจมีความแตกต่างจากคนอื่นได้ โดยเฉพาะผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัด การฉีด การร้อยไหม จะมีพังผืดทำให้เกิดอันตรายง่ายขึ้นอีก

            ด้าน รศ.(พิเศษ) พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การใช้สารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์สำหรับรักษาปัญหาผิวพรรณนั้น ใช้หลักการคือ ผิวหนังซึ่งจะมีส่วนประกอบหลักที่สำคัญคือใยคอลลาเจนและสารไฮยาลูโรนิคที่มีความสามารถในการอุ้มน้ำมากกว่าตัวเองหลายร้อยหรือเป็นพันเท่า มีหน้าที่สำคัญเป็นองค์ประกอบที่ให้ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นแก่ผิวหนัง ทำให้ผิวพรรณมีรูปทรงเต่งตึง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเข้าสู่วัยชราจะพบว่าใยคอลลาเจนและสารอุ้มน้ำจะค่อย ๆ มีปริมาณลดน้อยลง มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผิวหนังจะมีลักษณะบางลง เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น เพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าวจึงมีความพยายามหาทางแก้ไขโดยการฉีดสารจากภายนอกเข้าไปในผิวหนังเพื่อทดแทน หรือที่เรียกกันว่าสารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์ โดยในทางการรักษาโดยแพทย์ เราสามารถใช้ฟิลเลอร์ในการรักษาปัญหาผิวพรรณได้ โดยการแก้ปัญหาริ้วรอยของผิวอันเนื่องมาจากวัย เช่น ริ้วรอยบริเวณหน้าผาก หางตา และร่องแก้ม ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการฉีดฟิลเลอร์ซึ่งเติมเต็มใยคอลลาเจนที่หายไป ทำให้ริ้วรอยบริเวณดังกล่าวตื้นขึ้น สภาพผิวดูดีขึ้น การแก้ไขปัญหาแผลเป็นชนิดผิวบุ๋ม เช่น การเกิดแผลบุ๋มจากสิวอักเสบ เป็นต้น กรณีดังกล่าวนี้สามารถใช้ฟิลเลอร์เติมเต็มทำให้แผลบุ๋มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องเลือกชนิดแผลผิวบุ๋มที่เหมาะสมต่อการรักษา โดยแผลนั้นต้องไม่มีพังผืดในบริเวณใต้แผลบุ๋ม มิฉะนั้นผลการรักษาจะไม่ดีเท่าที่ควร และการใช้ฟิลเลอร์ฉีดเพื่อเสริมเนื้อเยื่อผิวหนังให้มีลักษณะนูนเต็มขึ้นกว่าเดิม เช่น เสริมจมูก เสริมคาง ริมฝีปาก หรือฉีดเพื่อทำให้รูปทรงของหน้าดูอวบอิ่มกว่าเดิม   

สำหรับผลข้างเคียงที่ทำให้ตาบอดหรือแขนขาอ่อนแรงเกิดจากการที่ฉีดสารเข้าไปในเส้นเลือดที่ต่อเนื่องไปเลี้ยงลูกตาอาจพลาดไปโดนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงบริเวณดวงตา หรือแม้แต่เส้นเลือดสมอง ทำให้เกิดอาการเส้นเลือดอุดตันจนตาบอดถาวรได้ เนื่องจากดวงตาสามารถทนภาวะขาดเลือดได้แค่ 90 นาทีเท่านั้น ต่างจากผิวหนังที่ทนได้ 6 ชั่วโมง ซึ่งลักษณะดังกล่าวเกิดจากกระบวนการฉีดที่มีการรั่วไหลของฟิลเลอร์เข้าไปอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงประสาทตาทำให้โอกาสที่จะตาบอดถาวรได้

ดังนั้น สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยขอความร่วมมือกับแพทย์และผู้ที่อยากเสริมจมูก หรือเสริมความงามบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย ควรทำด้วยวิธีอื่นที่ปลอดภัยและเหมาะสม ทั้งนี้อันตรายที่เกิดขึ้นสามารถเกิดจาก 3 ปัจจัย คือ 1. ตัวผู้ทำการฉีดต้องมีความรู้ ความชำนาญสูง และต้องเป็นแพทย์เท่านั้น ถึงแม้ผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมและมีประสบการณ์สูงสุดก็อาจเกิดผลข้างเคียงได้  2. สารที่ใช้ ถึงแม้ว่าเป็นสารที่ผ่านการรับรองจาก อย. ก็สามารถเกิดผลข้างเคียงได้ แม้แต่การดูดไขมันของตัวเองมาฉีดก็เกิดอันตรายได้เช่นกัน  3. ตัวผู้รับการฉีดแต่ละคนมีกายวิภาคที่ต่างกัน ตำแหน่งของเส้นเลือดและเส้นประสาทอาจมีความแตกต่างจากคนอื่นได้ โดยเฉพาะคนที่ได้รับการผ่าตัด การฉีด การร้อยไหม จะมีพังผืดทำให้เกิดอันตรายได้ง่ายขึ้นไปอีก