ภก.จตุพร ทองอิ่ม

ภก.จตุพร ทองอิ่ม
เภสัชกรครอบครัว ความเชื่อมโยงการดูแลผู้ป่วยแบบไร้รอยต่อ

         เภสัชกรครอบครัว (Family Pharmacist) ถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทของเภสัชกรที่ดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ซึ่งครอบคลุมทั้งสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และสภาพสังคมแวดล้อม เพื่อให้การบริบาลทางเภสัชกรรมแบบองค์รวม (Holistic Pharmaceutical Care) โดยอาศัยกิจกรรม “การเยี่ยมบ้าน” ที่มีการจัดการระบบการดูแลติดตามการใช้ยาของผู้ป่วยในชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ตลอดจนติดตามแก้ไขและสะท้อนปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมของผู้ป่วย ด้วยความเห็นอกเห็นใจ และด้วยหัวใจของความเป็นเพื่อนมนุษย์ ซึ่งนอกจากเภสัชกรครอบครัวจะให้ความห่วงใยใส่ใจในการใช้ยาของผู้ป่วยแล้ว ยังครอบคลุมถึงการดูแลในระดับครอบครัวและชุมชนอีกด้วย

         ภก.จตุพร ทองอิ่ม ปฏิบัติงานเภสัชกรประจำศูนย์บริการสาธารณสุข 51 วัดไผ่ตัน สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้ปฏิบัติงาน ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข 51 แห่งนี้มาเกือบ 21 ปี โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2539 โดยเริ่มปฏิบัติงานครั้งแรกเป็นเภสัชกรประจำศูนย์บริการสาธารณสุข 51 วัดไผ่ตัน สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร รับผิดชอบทั้งงานบริหารเวชภัณฑ์ งานบริการเภสัชกรรม รวมถึงงานสาธารณสุขมูลฐาน โดยระบบการติดตามดูแลผู้ป่วยในชุมชนนั้น เดิมดำเนินการโดยพยาบาลของศูนย์บริการสาธารณสุข 51 เป็นหลัก โดยจุดเริ่มต้นของการออกเยี่ยมบ้านได้รับคำเชิญชวนจากคุณดารุณี พวงพันธ์ใจ หัวหน้าพยาบาลและหัวหน้างานคนแรกในชีวิตการทำงาน ซึ่งต้องออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยในทุกวัน ทำให้ ภก.จตุพร ค้นพบว่าการออกเยี่ยมบ้านก็เปรียบเสมือนหอผู้ป่วยตามโรงพยาบาล บ้านของผู้ป่วยก็คือ Home Ward ที่สามารถทำงานด้านการบริบาลทางเภสัชกรรมแบบปฐมภูมิได้ ซึ่งการเยี่ยมบ้านนั้นเป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วมกันกับสหวิชาชีพหลากหลาย รวมทั้งการส่งเสริมจากทุกภาคส่วนก่อให้เกิดเป็นภาคีเครือข่ายการดูแลการใช้ยาที่ถูกต้องในชุมชน ดังนั้น “การทำงานร่วมกันเป็นทีมของสหวิชาชีพ” ย่อมส่งผลให้การบริบาลผู้ป่วยนั้นสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี

จุดเริ่มต้น “เภสัชกรครอบครัว”

            “เมื่อปี พ.ศ. 2554 ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการจัดงานประชุมขึ้น โดยมีหัวข้องานประชุมส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการเยี่ยมบ้าน ผมได้รับเลือกเป็นตัวแทนส่วนของภาคกลางในการนำเสนองาน ซึ่งในงานประชุมครั้งนี้เองที่ผมได้พบกับ รศ.ภญ.ธิดา นิงสานนท์ ซึ่งท่านได้จุดประกายเกี่ยวกับการเยี่ยมบ้านของเภสัชกรว่าควรจะมีการขยายผล อีกทั้งท่านยังเป็นบุคคลแรกที่ให้คำเรียกและนิยามของคำว่า “เภสัชกรครอบครัว” หรือ Family Pharmacist หลังจากนั้นก็มีการรวมตัวกันของเภสัชกรที่เป็นตัวแทนของภาคต่าง ๆ ตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมา จนกระทั่งเกิดเป็นหลักสูตรเภสัชกรครอบครัว ซึ่งตอนนี้มีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันกระจายออกไปทั่วทุกภูมิภาค” ภก.จตุพร เล่าถึงจุดเริ่มต้น

            กลุ่มเภสัชกรครอบครัวแห่งประเทศไทย หรือ Society of Family Pharmacist (Thailand) อยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) โดย รศ.ภญ.ธิดา นิงสานนท์ เป็นผู้ริเริ่มให้มีการรวมกลุ่มของเภสัชกรที่ทำงานเกี่ยวกับการเยี่ยมบ้านและจัดตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมา ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของเภสัชกรโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ทำงานเกี่ยวกับการเยี่ยมบ้าน โดยได้มีการจัดรูปแบบการดำเนินงาน หลักการ แนวคิด ตลอดจนจัดพิมพ์ตำราและจัดงานประชุมวิชาการ ภายใต้สโลแกนที่ว่า “We are SMART Pharmacist” โดยคำว่า SMART นั้นย่อมาจาก S: Spiritual, M: Medication, A: Accessibility, R: Relationship และ T: Team แนวคิดของการเป็นเภสัชกรครอบครัวนั้นได้นำเอาทั้งแนวคิดของแพทย์เวช ศาสตร์ครอบครัวนำมารวมกับแนวคิดการบริบาลทางเภสัชกรรม เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็น “การบริบาลทางเภสัชกรรมกับผู้ป่วยที่บ้าน” หรือ “การบริบาลทางเภสัชกรรมระดับครอบครัว” หรือที่เราเรียกว่า Home Pharmaceutical Care โดยเภสัชกรครอบครัวทุกคนจะมีมุมมองในการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม (Holistic Pharmaceutical Care) ซึ่งหมายความว่า เภสัชกรครอบครัวดูแลมากกว่าเรื่องของโรคและการใช้ยา แต่เป็นการดูแลเรื่องของความเจ็บป่วยซึ่งเป็นผลรวมระหว่างโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่กับความทุกข์หรือมิติอื่น ๆ ครอบคลุมทั้งสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และสภาพสังคมแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของการฉีดอินซูลินในผู้ป่วยเบาหวาน เภสัชกรครอบครัวจะไม่ได้มีมุมมองความสนใจแค่เรื่องของโรคว่าผู้ป่วยได้ฉีดยาหรือไม่? ฉีดยาแล้วสามารถคุมระดับน้ำตาลได้หรือไม่? แต่จะมองลึกลงไปถึงสภาพจิตใจ สีหน้าของผู้ป่วยว่ามีความกังวลหรือเครียดอะไรหรือไม่เกี่ยวกับการฉีดอินซูลิน เป็นต้น

            ปัจจุบันบทบาทของเภสัชกรครอบครัวนั้นมีรูปแบบที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเราได้มีการจัดทำหนังสือร่วมกับสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) คือ คู่มือเภสัชกรครอบครัวและการเยี่ยมบ้าน เพื่อเภสัชกรครอบครัวสามารถเรียนรู้และหาข้อมูล ตลอดจนมีเครื่องมือในการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ซึ่งล่าสุดจากการเยี่ยมบ้าน เราพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เป็นโรคเรื้อรังซึ่งไม่สามารถรักษาหายได้ก็จะเริ่มหันมาใช้สมุนไพรกันมากขึ้น จึงได้จัดทำหนังสือขึ้นมาอีกเล่มคือ การประยุกต์ใช้สมุนไพรบนหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เราอยากสร้างความมั่นใจในเรื่องขององค์ความรู้ นอกจากนี้เรายังมีการพัฒนาทักษะโดยการจัดการอบรมเป็นหลักสูตรระยะสั้นคือ การอบรมระยะสั้น 4 เดือน ซึ่งมีเภสัชกรสนใจเข้าร่วมการอบรมแล้วกว่า 3 รุ่น (ประมาณกว่า 20 คน) เพื่ออบรมให้เภสัชกรที่มีความสนใจเกี่ยวกับการทำงานด้านเภสัชกรครอบครัวเพิ่มพูนทักษะและความสามารถตลอดจนสร้างความมั่นใจขึ้น

         “นับตั้งแต่ผมปฏิบัติงาน ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข 51 แห่งนี้มาเกือบ 21 ปี คณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ถือว่าเป็นคณะแรกที่ส่งนักศึกษาเภสัชมาร่วมฝึกการเยี่ยมบ้านกับเราตั้งแต่รุ่นที่ 1 จนถึงปัจจุบันน่าจะผ่านมาอย่างน้อย 16-17 รุ่น นอกจากนี้ก็ยังมีนักศึกษาเภสัชจากประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ส่งเข้ามาเพื่อร่วมดูงานการฝึกการเยี่ยมบ้านของศูนย์บริการสาธารณสุข 51 ซึ่งบรรดาพี่ ๆ พยาบาลก็รู้สึกถึงความสำคัญของการมีน้อง ๆ เภสัชกรทำงานร่วมกันเป็นทีมในการเยี่ยมและดูแลผู้ป่วยที่บ้าน โดยเมื่อปีที่แล้วผมได้รับโอกาสจากทางสมาคมฯ ให้เป็นตัวแทนเข้าร่วมในงานประชุม Asian Conference on Clinical Pharmacy ที่ประเทศเกาหลี นำเสนอเกี่ยวกับเภสัชกรครอบครัว (Family Pharmacist) ในประเทศไทย พบว่านอกจากประเทศไทยแล้ว ในประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ก็มีการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย แต่เป็นในส่วนของเภสัชกรประจำร้านยา ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับในหมู่ประเทศกลุ่มอาเซียนถือว่าประเทศไทยเราค่อนข้างไปได้ไกลกว่าประเทศอื่น” ภก.จตุพร เล่าเพิ่มเติมถึงความก้าวหน้าของการทำงานด้านเภสัชกรครอบครัว

Hearing But Not Listening: ได้ยิน แต่ไม่ได้ฟัง   

         “จุดเริ่มต้นของการดูแลติดตามการใช้ยาของผู้ป่วยต้องเกิดจากการสร้างความสัมพันธ์โดยการเยี่ยมบ้าน สิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เรียกว่า Therapeutic Relationship มีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ความสบายใจ และการตัดสินใจร่วมกัน ทักษะสำคัญอย่างหนึ่งที่ผมมักสอนน้อง ๆ นักศึกษาเภสัชทุกคนคือ Hearing But Not Listening: คุณได้ยิน แต่ไม่ได้ฟัง พี่ไม่ต้องการคนที่พูดเก่ง แต่พี่ต้องการคนที่ฟังเป็น ยกตัวอย่างเช่น แพทย์สั่งจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยสูงอายุรายหนึ่ง โดยให้รับประทานวันละครึ่งเม็ด แต่ผู้ป่วยสูงอายุกลับเลิกรับประทานยา เพราะทุกครั้งที่รับประทานจะเกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียน นั่นคือคุณได้ยินนะ แต่คุณยังไม่ได้ฟังว่าปัญหาหรือสาเหตุที่ผู้ป่วยเขาไม่รับประทานยาเพราะอะไร ถ้าคุณรู้ว่า...ผู้ป่วยสูงอายุอาศัยเพียงลำพังจึงไม่สามารถหักยาออกเป็นครึ่งเม็ดได้ จึงตัดสินใจรับประทานยาทั้งเม็ดซึ่งเกินขนาดไปเท่าหนึ่ง และมีผลข้างเคียงให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผู้ป่วยสูงอายุท่านนี้จึงเลิกรับประทานยา เมื่อคุณรู้ถึงสาเหตุของปัญหาจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด”     

         ภก.จตุพร กล่าวว่า การพูดคุย สื่อสาร และให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย นอกเหนือจากการใช้ยาอย่างถูกต้องเหมาะสม และปลอดภัยแล้ว เราจะต้องฟังและวิเคราะห์ในด้านอื่น ๆ ด้วย นั่นก็คือ การฟังให้ได้ IFFE (Idea, Feeling, Function, Expectation) ยกตัวอย่างเช่น I – Idea (ความคิด) ผู้ป่วยคิดอย่างไรกับยาตัวที่ได้รับ, F – Feeling (อารมณ์และความรู้สึก) ผู้ป่วยรับประทานยาหรือใช้ยาแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง, F – Function (สมรรถภาพทั่วไป) เมื่อผู้ป่วยรับประทานยาหรือใช้ยาไปแล้วเป็นอย่างไร และ E – Expectation (ความคาดหวัง) ผู้ป่วยมีความคาดหวังอย่างไรเกี่ยวกับการรับประทานยาหรือใช้ยา ทั้งหมดนี้คือหลักการที่บุคลากร ทางการแพทย์ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยใช้กัน โดย IFFE คือ ทักษะที่จะต้องนำมาใช้จริง เภสัชกรครอบครัวจะเข้าใจมุมมองและวิธีการใช้ชีวิตของผู้ป่วยซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ยา ยกตัวอย่างเช่น ยาบางชนิดจำเป็นต้องเก็บไว้ในตู้เย็น แต่ในความเป็นจริงแล้วตู้เย็นของบ้านผู้ป่วยอาจจะไม่มีพื้นที่เหมาะสมที่จะสามารถเก็บได้ ซึ่งบางครั้งจำเป็นต้องเลือกสักจุดที่ผู้ป่วยสามารถสังเกตเห็นได้ชัดในตู้เย็น ดังนั้น บางครั้งถ้าไม่ได้ผิดหลักทฤษฎีจนก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ป่วยก็ต้องทำความเข้าใจกับวิถีชีวิตของเขาด้วย สิ่งสำคัญ คือ ต้องสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดี (Therapeutic Relationship) เพื่อให้ผู้ป่วยมีความเชื่อใจซึ่งกันและกัน มีความสบายใจ และสามารถตัดสินใจร่วมกับเราได้ ก่อให้เกิดการยอมรับ แล้วตัวผู้ป่วยเองก็จะพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงพฤติกรรมด้วยความเต็มใจตามคำแนะนำของเรา

            เพราะฉะนั้นการทำงานของเภสัชกรครอบครับนอกจากการฟังผู้ป่วยให้ได้ IFFE แล้ว ยังต้องยึดแนวคิดในการทำงานตามหลักการเวชศาสตร์ครอบครัว โดยมีเป้าหมายและแนวคิดหลักคือ 1A4C ได้แก่ A – Accessibility (การเข้าถึงบริการ) เมื่อใดก็ตามที่เภสัชกรสามารถทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุดนั่นคือความประทับใจแรกที่ย่อมเกิดขึ้น ส่วน 4C ประกอบด้วย C – Continuity (การให้บริการอย่างต่อเนื่อง) และ C – Comprehensiveness (การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ) ซึ่งเป็นการผสมผสานในมิติของการดูแลทั้งสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และสภาพสังคมแวดล้อม และอีกมุมมองหนึ่งของการบริการทางสาธารณสุขก็คือ การดูแลที่ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ก็คือ ส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู C – Coordination (การประสานงาน) เภสัชกรครอบครัวจะต้องมีการทำงานประสานร่วมกับสหวิชาชีพอื่น ๆ เมื่อเยี่ยมบ้านผู้ป่วยแล้วเจอปัญหาก็สามารถสะท้อน หรือนำข้อมูลส่งต่อประสานงานกับวิชาชีพอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนางานของบุคลากรที่ทำงานประจำ และสุดท้าย C – Community participation (ชุมชนมีส่วนร่วม) ซึ่งหมายความว่า ชุมชนและครอบครัวต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย เช่น สมมุติปัญหาคือ ผู้ป่วยลืมรับประทานยาเป็นประจำ เราจะต้องนั่งคุยกันประโยคแรกเลยว่า “เราจะทำอย่างไรกันดีคุณป้า? เราถึงจะไม่ลืมรับประทานยา...” เภสัชกรครอบครัวจะต้องไม่บอกว่าคุณป้าควรตื่นมาตั้งแต่ 6 โมงเช้าแล้วก็รับประทานยาเม็ดแรกเลย แต่สิ่งที่เราพึงควรกระทำคือ เราต้องพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบ ทำอย่างไรให้การรับประทานยานั้นสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ภก.จตุพร กล่าวเพิ่มเติม

            สุดท้ายนี้ ภก.จตุพร ได้ให้คำแนะนำถึงน้อง ๆ เภสัชกรรุ่นใหม่ว่า ดั่งคำสอนของพระราชบิดา “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ...สิ่งสำคัญที่เราลงไปดูแลผู้ป่วยโดยการเยี่ยมบ้านก็คือ เราได้ใช้ความรู้ของเราให้เป็นประโยชน์ ถ้าเราทำทุกอย่างดีแล้ว สังคมยอมรับคุณค่าก็จะเกิดขึ้น ดังนั้น คุณค่าในตัวของเราทุกคนอยู่ที่การกระทำ เภสัชกรเป็นวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของยา เพียงแค่เรายังขาดโอกาสที่จะใช้องค์ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาให้คุ้มค่า อาจจะเนื่องด้วยข้อจำกัดของเวลาในการทำงาน เช่น เภสัชกรโรงพยาบาลจะมีเวลาเพียงเล็กน้อยมากในการอธิบายการใช้หรือรับประทานยาแก่ผู้ป่วย และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ผมและเภสัชกรซึ่งจบจากมหาวิทยาลัยมหิดลจะยึดถือตลอดมาคือ  True success is not in the learning, But in its Application to the benefit of mankind ความสำเร็จที่แท้มิใช่อยู่ที่การเรียนรู้เท่านั้น แต่อยู่ที่ความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้นั้นให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ