การดูแลทางโภชนาการในเด็กป่วยระยะวิกฤติโดย ASPEN/SCCM

การดูแลทางโภชนาการในเด็กป่วยระยะวิกฤติโดย ASPEN/SCCM

         เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สมาคม American Society of Parenteral and Enteral Nutrition (ASPEN) และ Society of Critical Care Medicine (SCCM) ได้ร่วมกันออกเผยแพร่แนวทางการดูแลทางโภชนาการในเด็กที่ป่วยระยะวิกฤติฉบับล่าสุด เพื่อทดแทนฉบับเดิมในปี ค.ศ. 2009 แล้ว เชื่อว่าจะช่วยทำให้ผลการรักษาในผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้ดีขึ้น และช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการมีภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับภาวะทุพโภชนาการ

            ปัจจุบันแนวทางในการดูแลทางโภชนาการในผู้ป่วยเด็กที่อยู่ในภาวะวิกฤตินั้นมีความแตกต่างกันค่อนข้างหลากหลายในแต่ละสถาบัน การมีแนวทางที่สามารถเป็นแหล่งอ้างอิงในเวชปฏิบัติจะมีส่วนช่วยทำให้กระบวนการดูแลรักษาทำได้ง่าย รวดเร็ว และตรงตามหลักฐานเชิงประจักษ์มากขึ้น โดยในแนวทางฉบับใหม่นี้ได้มีการเน้นความสำคัญในหลายส่วนให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ได้แก่

  • แนะนำการประเมินสภาวะทางโภชนาการตั้งแต่แรกรับเข้ารักษา (ภายใน 48 ชั่วโมงแรก) และเป็นระยะ ๆ ทุก 1 สัปดาห์ในระหว่างอยู่รักษาในโรงพยาบาล ทั้งนี้เนื่องจากการมีภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) หรือโรคอ้วนในเด็ก ต่างก็สัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนและผลการรักษาที่ไม่ดี เช่น เพิ่มระยะเวลาของการอยู่รักษาในหออภิบาลต้องใช้เครื่องช่วยหายใจนาน เพิ่มโอกาสของการติดเชื้อในโรงพยาบาล ไปจนถึงเพิ่มโอกาสในการเสียชีวิตได้ การตรวจพบมีภาวะทุพโภชนาการและให้การรักษาในทันทีที่พบจะช่วยทำให้สามารถลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ลงได้
  • ควรทำการตรวจวัดค่าพลังงานที่ร่างกายต้องการโดยใช้วิธี indirect calorimetry ในกรณีที่สามารถทำการตรวจวัดได้ แต่หากไม่สามารถตรวจได้ก็สามารถคำนวณได้จากสูตรของ Schofield หรือ Food Agriculture Organization/WHO/United Nations University ในการประเมินได้ แต่ไม่ควรใช้สูตร Harris-Benedict equations ในเด็กเนื่องจากความแม่นยำไม่ดีนัก
  • วิธีการเสริมสารอาหารแก่ผู้ป่วยที่เหมาะสมที่สุดคือ การให้ผ่านทางเดินอาหาร (enteral nutrition) โดยมีแนวทางในการประเมินความสามารถในการย่อยและดูดซึมอาหารผ่านทางเดินอาหาร และความเร็วในการปรับเพิ่มอาหารที่ให้อย่างชัดเจน
  • สารอาหารประเภทโปรตีนเป็นสารอาหารหลักที่จำเป็นที่สุดเนื่องจากมีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับผลการรักษา โดยควรให้ผู้ป่วยได้รับโปรตีนอย่างน้อย 1.5 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันหรือมากกว่า เพื่อทำให้เกิด positive nitrogen balance ส่วนในแง่ของสารอาหารชนิดอื่น ๆ รวมถึงสารอาหารในกลุ่ม immunonutrition ยังไม่พบหลักฐานถึงประโยชน์ที่แน่ชัด
  • การตรวจประเมินปริมาณอาหารที่เหลือค้างในกระเพาะอาหาร (gastric residual volume: GRV) ในผู้ป่วยเด็กยังไม่มีข้อมูลชัดเจนในแง่ของการช่วยตัดสินใจเกี่ยวกับการให้อาหาร เนื่องจากข้อมูลที่ผ่านมามีการตรวจพบว่าในผู้ป่วยที่มีปริมาณ GRV ที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนหรือโอกาสเสี่ยงในการเกิดการสำลักที่มากขึ้น แต่สำหรับในกลุ่มเด็กยังไม่มีข้อมูล

            คณะผู้จัดทำกล่าวว่า การมีแนวทางในการปฏิบัติเพื่อการดูแลภาวะทางโภชนาการในเด็กที่ชัดเจนขึ้นจะช่วยทำให้การดูแลผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้มีความเหมาะสมและรวดเร็วมากขึ้น และน่าจะช่วยทำให้ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับภาวะทุพโภชนาการในเด็กลดลงได้