การติดเชื้อที่หูในเด็กอาจไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

การติดเชื้อที่หูในเด็กอาจไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

            WebMD Health News: หลักฐานการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ที่รวบรวมโดย The National Institute for Health and Care Excellence (NICE) ประเทศอังกฤษพบข้อมูลที่บ่งชี้ว่า เด็กที่ป่วยด้วยโรคหูน้ำหนวก หรือโรคหูชั้นกลางอักเสบ (otitis media) อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเสมอไป

            โรคหูน้ำหนวกหรือ otitis media นั้นเป็นการอักเสบของหูชั้นกลางซึ่งมักจะมีการสะสมของของเหลวในหูชั้นกลางทำให้เกิดอาการปวดหู พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นตอนต้น โดยเป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีเด็กในกลุ่มอายุไม่เกิน 10 ปี อย่างน้อย 1 ใน 4 คนที่เคยป่วยเป็นโรคหูน้ำหนวกอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยมากแล้วอาการมักจะคงอยู่นานราว 3-4 วัน และมีส่วนน้อยที่อาจมีอาการได้นานถึง 7-8 วันได้ และจากข้อมูลการติดตามผู้ป่วยของ NICE ก็พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ราวร้อยละ 60) มักจะค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นได้เองแม้จะไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันก็พบว่าผู้ป่วยโรคหูน้ำหนวกเกือบทั้งหมดมักจะได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

            Gillian Leng ผู้อำนวยการของ NICE กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาเชื้อดื้อต่อยาปฏิชีวนะนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่ในหลายครั้งไม่ได้มีความจำเป็น และทำให้เกิดแรงกดดันที่ทำให้เชื้อมีการพัฒนาความสามารถในการดื้อต่อยาที่มากขึ้น ดังนั้น การพิจารณาเลือกใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะในรายที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยจากแนวทางเวชปฏิบัติของ NICE แนะนำการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น มีอาการต่อเนื่องนานเกินกว่า 3 วัน หรือในรายที่มีการแตกทะลุของเยื่อแก้วหูและมีหนองไหลออกหู เป็นต้น ส่วนในรายที่มีอาการไม่รุนแรง ซึ่งโดยมากอาการที่พบคือ อาการปวดหู จะสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา paracetamol หรือ ibuprofen ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาดี

            Helen Stokes-Lampard ประธานราชวิทยาลัย The Royal College of General Practitioners กล่าวสนับสนุนแนวทางปฏิบัติจาก NICE ว่ามีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ผ่านมา และหากมีการปฏิบัติอย่างแพร่หลายน่าจะช่วยทำให้ปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินความจำเป็นลดลงได้ ในขณะที่ยังสามารถใช้ยาได้อย่างเหมาะสมสำหรับในรายที่จำเป็น