ความคืบหน้ากฎหมายว่าด้วยความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า (Lemon Law)

ความคืบหน้ากฎหมายว่าด้วยความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า (Lemon Law)

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

            เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

เหตุใดจึงต้องมีกฎหมายนี้

            เดิมการทำสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภคนั้นจะยึดตามหลักความศักดิ์สิทธิ์ของเจตนา รัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซง แม้ว่าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะได้เปรียบกว่าก็ตาม เว้นแต่กรณีที่เป็นสิ่งที่ต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่เนื่องจากสภาพในปัจจุบัน ผู้ประกอบธุรกิจมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าผู้บริโภคมาก อีกทั้งสินค้าที่ผลิตนั้นไม่สามารถถูกตรวจสอบความชำรุดบกพร่องได้โดยง่าย ส่วนกฎหมายไทยที่มีอยู่เดิมที่พอจะใช้ได้บ้าง เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 ถึงมาตรา 474 ขอบเขตการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ชัดเจน ยังไม่กล่าวถึงสิทธิหน้าที่ของทั้งฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจและฝ่ายผู้บริโภค ขาดการเยียวยาความเสียหาย ส่งผลต่อการตีความกฎหมาย ดังนั้น กฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าฉบับนี้จึงจะสร้างความสมดุลระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภค ให้ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองมากขึ้น และเพิ่มมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

            ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. .... มีทั้งหมด 16 มาตรา สรุปได้ดังนี้

            1. สินค้าที่อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จะใช้กับสินค้าทุกประเภท ซึ่งเป็นสิ่งของที่มีไว้เพื่อขาย

            2. ผู้บริโภค ผู้ประกอบธุรกิจ กำหนดนิยามคำว่า “ผู้บริโภค” ให้หมายถึงผู้ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบธุรกิจ และ “ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย หรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า ซึ่งนิยามทั้ง 2 คำตามร่างกฎหมายฉบับนี้ยังแตกต่างจากพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522

            3. สัญญาเช่าซื้อ เพิ่มสิทธิผู้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อสามารถเรียกให้ผู้ขายดำเนินการจัดการกับสินค้าที่ชำรุดบกพร่องได้โดยตรง เพราะเดิมคนกลุ่มนี้เป็นผู้เรียกร้องไม่ได้

            4. นิยามความชำรุดบกพร่อง กำหนดขอบเขตให้กว้างขวางกว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแต่เดิมอาจจะถือว่าชำรุดบกพร่องเพียงเล็กน้อยไม่ถือว่าเป็นความชำรุดบกพร่อง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังได้ขยายขอบเขตไปถึงความชำรุดบกพร่องเนื่องจากการติดตั้งหรือประกอบสินค้า หรือแม้แต่การส่งมอบสินค้าผิดประเภทหรือน้อยกว่าที่ได้ตกลงกันไว้

            5. กำหนดสิทธิของผู้บริโภคเมื่อสินค้าชำรุดบกพร่อง ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกให้ผู้ขายแก้ไข ปรับปรุง หรือเปลี่ยนสินค้า และผู้ประกอบธุรกิจจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากส่วนนี้ หากไม่อาจทำให้ความชำรุดบกพร่องหมดไปได้ เช่น ซ่อมแซมไปแล้วถึง 2 ครั้ง ผู้บริโภคก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ขอลดราคา เรียกค่าเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

            6. กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับผิด จะไม่ใช้กับในกรณีที่ผู้บริโภคได้รู้อยู่แล้วตั้งแต่ต้นว่าสินค้ามีความชำรุดบกพร่อง เว้นแต่ผู้ประกอบธุรกิจปิดบังความชำรุดบกพร่องด้วยกลฉ้อฉลหรือได้ให้การรับประกันเกี่ยวกับคุณสมบัติของสินค้าที่ขาย หรือในกรณีเป็นสินค้าที่ซื้อจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจจะอ้างว่าผู้บริโภคประมาทซื้อสินค้าไม่ได้ เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่ของผู้บริโภคที่จะต้องตรวจสอบความชำรุดบกพร่องของสินค้า แต่จะยกเว้นเฉพาะเมื่อผู้บริโภครู้อยู่แล้วตั้งแต่ต้นว่าสินค้ามีความชำรุดบกพร่องแต่ก็ยังซื้อสินค้านั้น

            7. ข้อตกลงเกี่ยวกับสิทธิต่าง ๆ ของผู้บริโภค ต้องไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค

            8. การรับประกัน ต้องทำเป็นหนังสือระบุถึงสิทธิตามกฎหมายของผู้บริโภครวมไว้ด้วย ไม่อาจเปลี่ยนแปลงสิทธิต่าง ๆ ให้มีผลเสียหายแก่ผู้บริโภคได้ การรับประกันต้องมีรายละเอียดชัดเจน เข้าใจได้ง่าย และประกอบด้วยรายละเอียดที่สำคัญ อีกทั้งกำหนดแนวทางการตีความการรับประกัน

            9. ซื้อสินค้าไปแล้วพบความชำรุดบกพร่อง เดิมผู้บริโภคมีภาระต้องพิสูจน์ แต่กฎหมายนี้หากพบว่าสินค้าชำรุดบกพร่องภายใน 6 เดือนนับแต่วันส่งมอบ ให้สันนิษฐานว่าสินค้าชำรุดบกพร่องตั้งแต่วันส่งมอบ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้พิสูจน์ว่าสินค้าไม่ได้ชำรุดบกพร่อง

            10. อายุความ กำหนดอายุความการใช้สิทธิเรียกร้องมากกว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลา 1 ปี นับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง โดยขยายเวลาเป็น 2 ปี และกำหนดให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ในระหว่างที่ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือเปลี่ยนสินค้า

            11. สิทธิตามกฎหมายนี้ไม่ตัดสิทธิตามกฎหมายอื่น กำหนดให้การใช้สิทธิเรียกร้องตามพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบต่อการใช้สิทธิตามกฎหมายอื่น

การเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ

            เนื่องจากร่างกฎหมายนี้ใช้กับสินค้าทุกประเภท ดังนั้น สินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ ก็จะอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ด้วย

            หากผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าแล้วพบว่าสินค้านั้นมีความผิดปกติ ต้องการเปลี่ยนสินค้า ในอนาคตห้ามอ้างข้อความในสัญญาหรือประกาศที่ติดไว้ว่าซื้อสินค้าแล้วไม่รับเปลี่ยนหรือรับคืนสินค้า ต้องเปลี่ยนสินค้าให้แก่ผู้บริโภค

            แม้ว่าจะซื้อสินค้าไป 6 เดือนแล้ว ต่อมาพบว่าสินค้านั้นเสื่อมสภาพ ถือว่าสินค้านั้นมีความชำรุดบกพร่อง จะถือว่าสินค้านั้นชำรุดบกพร่องนับแต่วันส่งมอบ ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องพิสูจน์ว่าในวันที่ส่งมอบนั้น สินค้าที่ส่งมอบไม่ได้มีความชำรุดบกพร่อง หากพิสูจน์ไม่ได้ ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิด ซึ่งผู้บริโภคอาจจะขอเปลี่ยนสินค้าได้ แต่ถ้าการใช้สิทธิของผู้บริโภคนี้ทำให้เกิดภาระเกินสมควรแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจก็มีสิทธิปฏิเสธได้เช่นกัน หากผู้ประกอบธุรกิจยังปฏิเสธการเปลี่ยนสินค้า ผู้บริโภคยังมีสิทธิขอลดราคาสินค้าหรือเลิกสัญญาก็ได้

            ถ้าสินค้าชำรุดบกพร่องเพียงเล็กน้อย ผู้เขียนมีความเห็นว่าร่างกฎหมายยังมีประเด็นที่น่าคิดหรือน่าตีความว่าจะคุ้มครองผู้บริโภคได้เพียงใด เนื่องจากสินค้าที่ชำรุดบกพร่องเพียงเล็กน้อย ผู้บริโภคมีหลายแนวทางให้เลือกว่าจะขอเปลี่ยนสินค้าหรือขอลดราคาสินค้าได้ ถ้าผู้บริโภคเลือกให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้า ผู้ประกอบธุรกิจอาจจะอ้างเรื่องค่าแรงงาน ค่าวัสดุ ค่าส่งของทางไปรษณีย์หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ว่าข้อเรียกร้องของผู้บริโภคให้เปลี่ยนสินค้านั้นทำให้เกิดภาระเกินสมควรแก่ผู้ประกอบธุรกิจทำให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิเสธการเปลี่ยนสินค้าได้ ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องใช้วิธีการขอลดราคา แต่กฎหมายก็กลับไปกำหนดว่า หากชำรุดบกพร่องเพียงเล็กน้อย ผู้บริโภคไม่สามารถขอลดราคาตามสภาพได้ ซึ่งอาจจะผิดเจตนารมณ์เดิมที่ตั้งใจไว้ว่าแม้สินค้าที่ชำรุดบกพร่องเล็กน้อยก็จะคุ้มครองผู้บริโภค

            บางกรณีผู้ประกอบธุรกิจอาจจะยินดีที่จะลดราคาตามสภาพที่ผู้บริโภคเรียกร้องมากกว่าการเปลี่ยนสินค้าก็ได้ เนื่องจากเห็นว่ามีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า แต่ร่างกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า จะใช้สิทธิขอลดราคาตามสภาพได้นั้น ก็ต่อเมื่อมีการเรียกร้องขอเปลี่ยนสินค้าไปก่อนแล้วและผู้ประกอบธุรกิจปฏิเสธอย่างชัดเจน

เอกสารอ้างอิง

  1. คณะกรรมาธิการการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ. รายงานของคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ วาระปฏิรูปที่ 31: การปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่อง “ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า และร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ....”
  2. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. .... [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.lawamendment.go.th/index.php/laws-independent-entity/item/1141-2017-09-08-04-44-11 (วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560)
  3. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/8232 (วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560)