ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์

ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์
สมุนไพรจากภูมิปัญญาไทย สู่งานวิจัยที่ได้รับการยอมรับ

         “งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ได้มีการเปิดตัวภายใต้ธีม 'เสน่ห์ไทย สมุนไพรไทย 4.0' ซึ่งในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาพ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยครั้งนี้ได้มีการหยิบยกสมุนไพรจากสูตรตำรายาสัปดน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาโบราณของทางภาคใต้ที่ใช้เป็นยาบำรุงกำลังทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีสูตรสำหรับบำรุงกำลังมากกว่า 20 สูตร ทั้งนี้ได้ดึงมา 1 ตำรับ คือ “ยาเสาเรือนคลอน” ซึ่งนับว่าเป็นยาสมุนไพรไฮไลท์ของงานที่ได้รับการตอบรับจากบรรดาหนุ่ม ๆ ชาวไทยอย่างฮือฮา โดยช่วยแก้ปัญหาสมรรถภาพทางเพศเสื่อมและภาวะเครียดในเพศชาย สำหรับทีมงานวิจัยด้านสมุนไพรผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ก็คือ ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนางานวิจัยด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

         ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และผ่านการอบรม Diploma in Clinical Epidemiology จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้เริ่มปฏิบัติงานครั้งแรกที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เภสัชกรชำนาญการ หัวหน้าฝ่ายพัฒนางานวิจัยด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย รับผิดชอบหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องการวิจัย ดูแลด้านการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก (clinical trials) ซึ่งเป็นการวิจัยเกี่ยวกับการนำสมุนไพรมาทดสอบใช้ในคนจริง ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่การควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิต และสุดท้ายคือ การนำมาทดลองในอาสาสมัคร

งานวิจัยกับสมุนไพรไทย
            “หลังจากเรียนจบก็เริ่มทำงานครั้งแรกที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเลยครับ เพราะพื้นเพครอบครัวอาศัยอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี เริ่มงานครั้งแรกหัวหน้าก็ให้มาดูแลเกี่ยวกับการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก (clinical trials) เพราะสมัยที่เรียนอยู่ก็ทำโปรเจกต์จบเกี่ยวกับการทำวิจัย ซึ่งปกติเภสัชกรจำเป็นต้องเรียนวิชาเกี่ยวกับพืชสมุนไพร เนื่องจากในยุคสมัยแรกยาแผนปัจจุบันนั้นก็พัฒนามาจากพืชสมุนไพร แล้วในส่วนของโรงพยาบาลซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับคนไข้มากที่สุด เห็นปัญหาจริง เห็นความเจ็บป่วย เห็นความเดือดร้อนของคนไข้จริง ๆ ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เปรียบเสมือนโจทย์ของงานวิจัย เราจะต้องทำอย่างไรเพื่อตอบโจทย์และสามารถแก้ปัญหานั้นได้ ดังนั้น เมื่อจบงาน ผลลัพธ์จะถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนได้ต่อไปครับ” ภก.ณัฐดนัย เล่าถึงจุดเริ่มต้นเกี่ยวกับการทำงานวิจัย

            สำหรับการพัฒนางานวิจัยด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยจะเป็นการสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ด้วย กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสนับสนุนข้อมูลของภูมิปัญญาไทยและพืชสมุนไพรที่ใช้ในการดูแลรักษาโรคต่าง ๆ นั้นว่ามีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเป็นอย่างไร โดยที่ทำงานจะมีกรอบแนวคิดพื้นฐานคือ นำภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมหรือข้อมูลที่นำมาอ้างอิงได้แล้ว ขั้นตอนสุดท้ายจึงเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ออกสู่ประชาชน 

“ยาเสาเรือนคลอน” สูตรตำรายาสัปดนจากภูมิปัญญาโบราณของภาคใต้

            “งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติในปีนี้เปิดตัวในธีม 'เสน่ห์ไทย สมุนไพรไทย 4.0' จะเน้นเรื่องการดูแลสุขภาพของเพศชาย ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมาเราดูแลเพศหญิง ดูแลผู้สูงอายุ จนบางครั้งเราลืมไปว่าเพศชายซึ่งเป็นช้างเท้าหน้าเป็นกำลังหลักของครอบครัว ต้องทำงานหนักและมีความเหน็ดเหนื่อย เพราะฉะนั้นสุขภาพของเพศชายจึงต้องมีการดูแลอย่างจริงจัง ซึ่งเราจะดูแลสุขภาพของเพศชายทุกระบบตั้งแต่ระบบสมอง ระบบกล้ามเนื้อ ระบบปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงค้นหาตำรับยาเพื่อดูแลเพศชาย และเลือกดึงมาเพียง 1 ตำรับ คือ ยาเสาเรือนคลอน ซึ่งบังเอิญว่าเรื่องเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ของเพศชายนั้นได้รับความสนใจอย่างฮือฮา” ภก.ณัฐดนัย กล่าวถึงที่มาในการเลือกยาจากตำรายาสัปดน ซึ่งมีสูตรบำรุงกำลังมากกว่า 20 สูตร

            สำหรับ “ยาเสาเรือนคลอน” นั้นมีสรรพคุณทางยาในการช่วยบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อย อีกทั้งช่วยในเรื่องของการไหลเวียนโลหิตซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัวได้ ดังนั้น จึงสามารถช่วยแก้ปัญหาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เพราะว่ายานั้นมีฤทธิ์ร้อนทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดีขึ้น สามารถดื่มได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่ในกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ไม่ควรดื่มเพราะอาจจะส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้

            ยาเสาเรือนคลอน ประกอบด้วยสมุนไพร 5 ชนิด ได้แก่ 1. ม้าถอนหลัก จะใช้ได้ทั้งต้น  2. ผักหมหรือผักโขม ใช้ได้ทั้งต้น  3. แก่นลั่นทมหรือลีลาวดี จะใช้เฉพาะส่วนของแก่น  4. สังวาลพระอินทร์ ใช้ส่วนราก และสุดท้าย 5. ไม้หลักปักคงคาหรือว่านน้ำ จะใช้ส่วนราก สำหรับการดื่มนั้นจะนำเอาสมุนไพรทั้ง 5 ชนิดมาตากให้แห้ง จากนั้นนำมาใส่ในถุงผ้าเพื่อนำไปต้ม และกรองเอาน้ำที่ผ่านการต้มแล้วมาใช้ดื่มเป็นลักษณะของยาต้ม โดยการดื่มนั้นแต่ละวันควรดื่มประมาณ 3 แก้วกาแฟ ซึ่งสัดส่วนสำหรับการต้มจะใช้ม้าถอนหลักปริมาณมากกว่าสมุนไพรตัวอื่น ๆ ส่วนสมุนไพรอีก 4 ชนิดนั้นใช้ในปริมาณที่เท่ากัน

ความยากของงานวิจัยกับการนำสมุนไพรมาใช้ในปัจจุบัน
            สำหรับการทำงานวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพร 1 ชนิด หรือ 1 ตำรับ จะต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำจนกระทั่งถึง ปลายน้ำ การศึกษาจะต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกตลอดจนถึงขั้นตอนการทดสอบในคนไข้จริง ซึ่งขั้นตอนต่าง ๆ อาจจะกินระยะเวลาหนึ่งชั่วชีวิตคน เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลของยาแผนปัจจุบันก็ยังถือว่าข้อมูลของยาสมุนไพรยังไม่เพียงพอ จุดยากของการทำวิจัยคือ ต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง อาศัยองค์ความรู้ในการทดสอบมาก ยิ่งเป็นตำรับยาสมุนไพรที่มาจากพืชหลาย ๆ ชนิดจะต้องใช้เวลาในการทดสอบ ถือว่าเป็นเรื่องยากของการทำงานวิจัย ซึ่งจะไม่เหมือนกับการสังเคราะห์สารเดี่ยว ๆ เพื่อนำมาทำการทดสอบ

            “ผมก็เคยมีงานวิจัยที่ล้มเหลวเหมือนกัน บางงานก็ไม่ได้รับผลลัพธ์ตามที่เราตั้งใจไว้ ส่วนใหญ่ปัญหาที่พบ ถ้าเป็นปัญหาหน้างานก็แก้ไขตามที่พบ หากสุดท้ายของการทำงานวิจัยไม่ได้ผลจริง ๆ ตามที่เราคาดการณ์ไว้ ก็ต้องยอมรับผลการวิจัยนั้น แล้วก็ประเมินข้อผิดพลาดเพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เราก็ยังมีอะไรให้ทำอีกมาก งานมันมากจนไม่รู้ว่าจะต้องยอมรับความพ่ายแพ้อะไร สิ่งที่เราอยากเห็นในอนาคตเกี่ยวกับงานทางด้านสมุนไพรคือ สามารถใช้สมุนไพรไทยมาช่วยดูแลสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย เราเองก็เป็น หน่วยงานของภาครัฐ หน้าที่สำคัญของเราคือ การทำงานเพื่อรับใช้ประชาชนภก.ณัฐดนัย กล่าวทิ้งท้าย