คนไทยเกือบ 7,000 ชีวิตต้องสังเวยให้ควันบุหรี่มือสองทั้งที่รังเกียจและไม่สูบบุหรี่

คนไทยเกือบ 7,000 ชีวิตต้องสังเวยให้ควันบุหรี่มือสองทั้งที่รังเกียจและไม่สูบบุหรี่

พิษภัยจากควันบุหรี่มือสองคร่าชีวิตคนไทยถึง 6,500 คนต่อปี ด้วยโรคมะเร็ง หัวใจล้มเหลว และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ในสถานที่ทุกแห่งที่มีควันบุหรี่มือสอง แม้ลอยอวลเพียงเล็กน้อยก็มีอันตรายต่อสุขภาพ ทางเดียวที่จะปกป้องผู้ไม่สูบบุหรี่ได้ดีที่สุดคือ กำจัดการสูบบุหรี่ในทุกสถานที่ โดยเฉพาะที่บ้าน สถานที่ทำงาน  และสถานที่สาธารณะ

นพ.แดเนียล เคอร์เทซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การตายจากสาเหตุได้รับควันบุหรี่มือสองนั้นสามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยทำให้ “บ้านและสถานที่ทำงานปลอดบุหรี่” อย่างเด็ดขาด จะช่วยลดพิษภัยจากควันบุหรี่มือสองในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และไม่เป็นแบบอย่างการสูบบุหรี่ให้กลุ่มเยาวชน ทั้งลดทอนค่านิยมการสูบบุหรี่ในสังคมลงได้ด้วย

การบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบอย่างเข้มแข็งของรัฐบาลทำให้ควันบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ปิด ลดลงอย่างชัดเจน หากร่วมกันทำให้บ้านและที่ทำงานปลอดควันบุหรี่มือสองจะยิ่งทำให้เด็ก เยาวชน รวมถึงกลุ่มผู้หญิง คนไม่สูบบุหรี่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย แต่อันตรายของควันบุหรี่มือสองก็ยังเป็นภัยต่อเยาวชนไทย เพราะการสำรวจขององค์การอนามัยโลก ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2558 พบว่าเด็กนักเรียนไทย 1 ใน 3 ได้รับควันบุหรี่มือสองจากที่บ้าน

และยังมีการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2557 มีคนไทยประมาณ 15.2 ล้านคน ต้องรับควันบุหรี่มือสองในบ้านของตนเอง ส่วนสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ร่วมกับ สสส. และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และเครือข่าย จับมือกันทำโครงการ “บ้านปลอดบุหรี่” (Smoke Free Home) เพื่อรณรงค์เชิงรุกให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยของควันบุหรี่มือสอง

ทางด้าน .นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ในปีนี้ ประเทศไทยบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งสอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) กำหนดมาตรการลดการใช้ยาสูบและสูดดมควันบุหรี่มือสอง ให้คนไทยทุกคนต้องรับผิดชอบปกป้องสุขภาพของตนเองและครอบครัวจากบุหรี่มือสอง โดยทำให้บ้านและยานพาหนะเป็นที่ที่ปลอดบุหรี่ สอนให้เด็กอยู่ให้พ้นจากควันบุหรี่มือสอง และต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการไม่สูบบุหรี่ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท

เป็นที่แน่ชัดว่าการใช้ยาสูบเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการตายทั้งที่ป้องกันได้ การเสียชีวิตมากกว่า 51,000 คนต่อปี เป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคที่บุหรี่เป็นต้นเหตุสูงถึง 7.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในแต่ละปี สำหรับทั่วโลกประชากรราว 7 ล้านคนต่อปี เสียชีวิตจากการใช้ยาสูบ และอีกกว่า 890,000 คนต้องสิ้นลมด้วยควันบุหรี่มือสอง

นอกจากนี้ .นพ.ประกิต ยังแสดงหลักฐานความไม่น่าเชื่อถือที่ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95% ที่มีกลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า โดยอ้างองค์กรพับบลิคเฮลธ์อิงแลนด์ (Public Health England) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับรองรายงานที่มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งศึกษาจนออกมาเป็นรายงานฉบับดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ. 2558

ในทางตรงกันข้าม วารสารการแพทย์แลนเซทของอังกฤษ ซึ่งเป็นวารสารวิชาการแพทย์ที่ทั่วโลกให้ความเชื่อถือ ได้ลงบทบรรณาธิการวิเคราะห์และวิจารณ์ถึงปัญหาความน่าเชื่อถือของกระบวนการที่ทำให้ได้มาซึ่งข้อสรุปว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95% มีความไม่น่าเชื่อถือจากข้อสังเกต ดังนี้

1. ความเห็นดังกล่าวที่เสนอต่อพับบลิคเฮลธ์อิงแลนด์ อ้างอิงอีกรายงานหนึ่งที่มาจากการประชุมของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ 12 คน ทำการประชุมเพียงครั้งเดียวในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556 ที่กรุงลอนดอน เพื่อประเมินอันตรายของผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดต่าง ๆ รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้า แต่ไม่มีการเปิดเผยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ใช้คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมประชุม ที่คลางแคลงใจกันมากคือ จำนวนผู้เชี่ยวชาญนี้มี 2 คนที่โยงใยกับอุตสาหกรรมผลิตบุหรี่ไฟฟ้า

            2. ในการให้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมประชุมใช้วิธีการให้คะแนนอันตรายของผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดต่าง ๆ โดยไม่มีการแสดงหลักฐานสนับสนุนความเห็นของแต่ละคนเพื่ออ้างอิง

            3. ที่สำคัญกลุ่มผู้เขียนผลการศึกษาเองได้ระบุชัดในรายงานยอมรับว่า ระเบียบวิจัยที่นำมาซึ่งข้อสรุปยังมีปัญหา และผู้ร่วมทำรายงานเกี่ยวพันมีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่กลับไม่ระบุไว้ในผลรายงานที่เสนอต่อพับบลิคเฮลธ์อิงแลนด์แต่อย่างใด

ทั้งนี้นอกจากมีเพียงองค์กรพับบลิคเฮลธ์อิงแลนด์ที่รับรองรายงานชิ้นนี้แล้ว อีก 2 องค์กรคือ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งลอนดอน และองค์กรรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แอช ยูเค (ASH UK) ให้การรับรองรายงานเพียงบางส่วน และยังขอให้ใช้ความระมัดระวังในการนำไปอ้างอิง ส่วนองค์กรสุขภาพอื่นทั้งในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา รวมทั้งองค์กรนานาชาติยังไม่ยอมรับรายงานที่ยังมีปัญหานี้ ทั้งสมาคมแพทย์อังกฤษ คณะสาธารณสุขศาสตร์อังกฤษ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา สมาคมโรคปอดสหรัฐอเมริกา คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป และองค์การอนามัยโลก ซึ่งกลุ่มผู้ผลักดันให้ยกเลิกการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้นำข้อเท็จจริงทั้งหมดมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ถือเป็นการเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว

.นพ.ประกิต กล่าวต่อไปว่า รายงานที่เสนอต่อพับบลิคเฮลธ์อิงแลนด์ นอกจากมีปัญหาเรื่องระเบียบวิจัยและปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนแล้ว ยังเป็นข้อสรุปของปี พ.ศ. 2556 ซึ่งยังมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากันไม่มาก และงานวิจัยถึงผลกระทบต่อสุขภาพยังแทบจะไม่มีการทำกัน ซึ่งการแพร่หลายของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ จากผลสำรวจอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในนักเรียนระดับมัธยมในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2554 พบ 1.5% แต่ปี พ.ศ. 2558 อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในนักเรียนมัธยมเพิ่มถึง 16% หรือเพิ่มมากกว่า 10 เท่าเพียงไม่กี่ปี ขณะที่รายงานการวิจัยในหนูทดลองพบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อถุงลมปอด เหมือนกับหนูทดลองที่ได้รับควันบุหรี่ธรรมดา และเกิดผลเสียต่อเยื่อบุหลอดเลือดในคนเหมือนผู้ที่สูบบุหรี่อีกด้วย รวมทั้งการทบทวนรายงานผลการศึกษาล้วนพบว่าวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงจะสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้นหลายเท่า ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนออกมาหลังรายงานที่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่า 95% ที่เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2558 ทั้งสิ้น

 “ที่สำคัญองค์การอนามัยโลกจัดทำรายงานเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า โดยการทบทวนรายงานวิชาการทั้งหมด 175 รายงานที่มีการเผยแพร่จนถึงปี พ.ศ. 2558 พบว่า 34% หรือ 60 รายงาน เป็นรายงานที่มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน โดยได้รับการสนับสนุนทุนหรือเกี่ยวพันกับธุรกิจยาสูบ ซึ่งรายงานเหล่านี้ล้วนจะออกมาในทางที่บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อย และรายงานสุดท้ายที่องค์การอนามัยโลกเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ภาคีอนุสัญญาควบคุมยาสูบ ปีถัดมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ไม่มีการกล่าวถึงผลการศึกษาบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95% เลย ข้ออ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95% จึงเป็นความผิดพลาดของพับบลิคเฮลธ์อิงแลนด์ที่รีบเร่งไปยอมรับรายงานที่ว่าตั้งแต่ต้นโดยไม่ได้ศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ เป็นเหตุให้อีกฝ่ายที่บุกตลาดขายบุหรี่ไฟฟ้านำมาเป็นข้อมูลอ้างอิงจนสร้างความสับสนให้แก่สังคม” .นพ.ประกิต กล่าว

เอกสารอ้างอิง

  • Martin Mckee, Simon Capewell: Evidence about electronic cigarette: a foundation built on rock or sand? BMJ. 2015:351:H4863.
  • Experts question the evidence underpinning e-cigarette recommendations. Concern over Public Health England’s recent support for e-cigarettes BMI. 2015:h4863.