อ.ภก.ศุภทัต ชุมนุมวัฒน์

อ.ภก.ศุภทัต ชุมนุมวัฒน์
เภสัชกร คือผู้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ยา           

            “การใช้ยาและการเลือกใช้ยาที่มีคุณภาพดี ผ่านมาตรฐาน รวมไปถึงการเลือกใช้ยาที่มีประสิทธิภาพที่ดี มีความปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย และเป็นไปตามหลักฐานทางวิชาการ โดยในแง่ของการใช้ยาจำเป็นต้องคำนึงถึงขนาดยา วิธีการใช้ยา และระยะเวลาของการใช้ยาที่เหมาะสมเป็นหลัก รวมถึงราคายาที่เลือกใช้ควรมีความเหมาะสมกับบริบทของผู้ป่วยหรือสถานพยาบาลที่ปฏิบัติงานอยู่” อ.ภก.ศุภทัต ชุมนุมวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงคำนิยามของการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของตนเอง โดยอ้างอิงหลักการตามคำจำกัดความของคู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (บัญชียาหลักแห่งชาติ: 2552)

            อ.ภก.ศุภทัต ชุมนุมวัฒน์ ปฏิบัติงานที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นจึงได้ลาศึกษาต่อที่ University of Illinois at Chicago ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งแบ่งการเรียนออกเป็น Doctor of Pharmacy 3 ปี, PGY-1 Pharmacy Residency Program 1 ปี และ PGY-2 Residency Program in Translational Pharmacogenomics อีก 1 ปี ปัจจุบันปฏิบัติงานตำแหน่ง อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รับผิดชอบการสอนเกี่ยวกับเรื่องของโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคติดเชื้อ โดยมีความสนใจพิเศษเกี่ยวกับความรู้ด้านเภสัชพันธุศาสตร์ (Pharmacogenomics) ด้านอายุรศาสตร์ (Internal medicine) และงานบริการผู้ป่วยนอก (Ambulatory care)

การใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use)

            การใช้ยาโดยมีข้อบ่งชี้เป็นยาที่มีคุณภาพ มีประสิทธิผลจริง สนับสนุนด้วยหลักฐานที่เชื่อถือได้ ให้ประโยชน์ทางคลินิกเหนือกว่าความเสี่ยงจากการใช้ยาอย่างชัดเจน มีราคาเหมาะสม คุ้มค่าตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ไม่เป็นการใช้ยาอย่างซ้ำซ้อน คำนึงถึงปัญหาเชื้อดื้อยา เป็นการใช้ยาในกรอบบัญชียา ยังผลอย่างเป็นขั้นตอนตามแนวทางพิจารณาการใช้ยา โดยใช้ยาในขนาดที่พอเหมาะกับผู้รับบริการในแต่ละกรณี ด้วยวิธีการใช้ยาและความถี่ในการให้ยาที่ถูกต้องตามหลักเภสัชวิทยาคลินิก ด้วยระยะเวลาการรักษาที่เหมาะสม ผู้รับบริการให้การยอมรับและสามารถใช้ยาดังกล่าวได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง กองทุนในระบบประกันสุขภาพหรือระบบสวัสดิการสามารถให้เบิกจ่ายยานั้นได้อย่างยั่งยืน เป็นการใช้ยาที่ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้ผู้รับบริการทุกคนสามารถใช้ยานั้นได้อย่างเท่าเทียมกัน และไม่ถูกปฏิเสธยาที่สมควรได้รับ คำจำกัดความตามคู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (บัญชียาหลักแห่งชาติ: 2552)

            การใช้ยาอย่างสมเหตุผลในประเทศไทยได้มีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เริ่มมีนโยบายแห่งชาติด้านยาและได้มีการผลักดันมาเรื่อย ๆ โดยได้เริ่มจริงจังมากขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2554 นโยบายแห่งชาติด้านยาได้มีการบรรจุให้ “การใช้ยาอย่างสมเหตุผล” เป็นยุทธศาสตร์ด้านที่ 2 ของยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้ยาของแพทย์ เภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนให้เป็นไปอย่างสมเหตุผล ถูกต้อง คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล จึงมีความร่วมมือกันระหว่างองค์กรต่าง ๆ อาทิ กระทรวงสาธารณสุขมีการออกเอกสารชี้แจงถึงหลักการใช้ยาอย่างสมเหตุผล หรือแม้แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยก็มีหน่วยงานเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) เพื่อช่วยในการผลักดันเรื่องของการใช้ยาอย่างสมเหตุผล อ.ภก.ศุภทัต กล่าวถึงที่มาและความร่วมมือเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างสมเหตุผล

การใช้ยาปฏิชีวนะที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด

            ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ยาปฏิชีวนะคือ ยาที่ใช้สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น การใช้ยาในกลุ่มนี้จำเป็นจะต้องทราบแน่ชัดว่าผู้ป่วยกำลังมีหรือมีความเป็นไปได้มากว่ามีภาวะติดเชื้อแบคทีเรียอยู่ ยกตัวอย่าง กรณีของโรคที่พบบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริบทของโรงพยาบาลหรือร้านขายยา ก็คือ เจ็บคอ ท้องเสีย เป็นแผลติดเชื้อ ซึ่งโรคทั้ง 3 ที่ยกตัวอย่างมานั้น โอกาสที่จะติดเชื้อแบคทีเรียหรือมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะน้อยมาก (ไม่ถึง 10%) การประเมินความเหมาะสมของการใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับโรคติดเชื้อจะมีความแตกต่างกันออกไปตามตำแหน่งของการติดเชื้อ เช่น กรณีเจ็บคอ มักมีหลักในการประเมินอาการแสดงว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น มีไข้สูง (มากกว่า 38 องศาเซสเซียส) มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ร่วมกับพบเป็นจุดหนองที่บริเวณต่อมทอนซิล เป็นต้น ในเรื่องของอาการท้องเสีย ซึ่งผู้ป่วยประมาณร้อยละ 5-10 มีความจำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ โดยผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวมักมีลักษณะเด่นของอาการท้องเสียคือ มีไข้ร่วม ด้วยและถ่ายออกมาเป็นมูกเลือด หรือผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์ สำหรับการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันแผลติดเชื้อ หากแผลสะอาด ขอบแผลเรียบ ไม่มีการล้มหรือเปื้อนสิ่งสกปรกแล้ว โดยส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ดังนั้น การล้างแผลด้วยวิธีที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำในช่วง 1-2 วันแรกก็เพียงพอแล้ว แต่ในกรณีที่มีแผลลึก ขอบแผลขาดรุ่งริ่ง หรือมีเศษดินโคลนเข้าไปข้างในแผลก็มีโอกาสติดเชื้อได้ ดังนั้น กรณีนี้อาจมีความจำเป็นที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้วิธีในการรับประทานยาปฏิชีวนะและระยะเวลาการรักษาของแต่ละโรคก็มีความแตกต่างกัน เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอที่คาดว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจำเป็นต้องได้รับยากลุ่มเพนิซิลลิน (penicillin) เช่น ยาอะม็อกซีซิลลิน (amoxicillin) ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 10 วัน ตามคำ แนะนำในแนวทางการรักษาโรคติดเชื้อในปัจจุบันและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับวิธีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล อ.ภก.ศุภทัต เล่าถึงหลักกว้าง ๆ ในการใช้ยาปฏิชีวนะกับโรคที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด

อย่า “กาหัว” ผู้ป่วย... จงสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

            “ความลำบากใจอย่างหนึ่งที่เภสัชกรหลาย ๆ ท่านพบคือ ผู้ป่วยที่มีความเชื่อพื้นฐานในการใช้ยาที่ไม่ว่าจะมีอาการเจ็บป่วยใด ๆ จะต้องใช้ยาเพื่อรักษาอาการนั้น ๆ ให้ได้ทั้งหมด ซึ่งผมมองว่าปัญหานี้มีความสำคัญและเป็นปัจจัยที่ทำให้เภสัชกรหลายท่านเกิดความเบื่อหน่ายในการปฏิบัติงาน เนื่องจากในวันหนึ่งเราจะพบผู้ป่วยที่มีความเชื่อด้านการใช้ยาเช่นนี้มากกว่าหนึ่งครั้งต่อวัน และในแต่ละครั้งเรามักจะใช้เวลาและพลังในการอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจที่ค่อนข้างมาก ผู้ป่วยบางคนเข้าใจก็ดีไป แต่บางคนไม่เข้าใจจนถึงขั้นถกเถียงกันรุนแรงจนทำให้ความสุขในการปฏิบัติงานของเราลดลงหรือหายไปเรื่อย ๆ และสุดท้ายหลาย ๆ ท่านยอมแพ้และเริ่มกาหัวผู้ป่วยว่าผู้ป่วยที่มาหาเรานั้นดื้อ อย่างไรผู้ป่วยก็ไม่ฟังเรา จนสุดท้ายเราท้อ และหยุดทำหน้าที่ที่ควรทำไปในที่สุด ซึ่งผลกระทบนี้เป็นสิ่งที่เภสัชกรไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ เราต้องเริ่มสำรวจความรู้สึกตัวเองว่าเรากำลังท้อและยอมแพ้ในสิ่งที่เราควรจะทำหรือเปล่า ความรู้ที่เราตั้งใจเรียนหรือสั่งสมมา เราใช้เพื่อประโยชน์ต่อสังคมของเราอย่างเต็มที่หรือยัง อย่าลืมว่าไม่มีผู้ป่วยคนไหนจะรู้เกี่ยวกับการใช้ยาอย่างถูกต้องได้ดีเท่ากับเภสัชกร อย่ามองว่าผู้ป่วยเป็นคนไม่ดีหรือเป็นคนผิดเพียงเพราะผู้ป่วยของเราขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง เราควรพยายามมองหาโอกาสในการเปิดใจและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้ป่วยด้วยใจที่เป็นกลางเสมอ เพราะปัญหานี้ต้องการเวลาและความสม่ำเสมอในการจัดการ” อ.ภก.ศุภทัต กล่าว
            สำหรับในมุมมองทางธุรกิจ โดยเฉพาะเภสัชกรปฏิบัติงานประจำร้านยา ความคิดที่ว่า “คนนี้ยังไงก็จะซื้อยาให้ได้ ถ้าเราไม่ขายให้ เขาก็ไปซื้อกับคนอื่นอยู่ดี งั้นเราก็ขายให้เขาดีกว่า” เป็นสิ่งที่ผุดขึ้นมาในความคิดอยู่หลายครั้ง ซึ่งสิ่งที่จำเป็นต้องระลึกไว้เสมอคือ ผู้ป่วยรายนี้ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ยาอยู่และควรได้รับการให้ความรู้ในครั้งต่อไป สำหรับการใช้ยาในครั้งนี้แม้ว่าจะไม่เหมาะสมในแง่ของข้อบ่งใช้ แต่ผู้ป่วยควรจะต้องได้รับยาในขนาดที่ถูกต้องและปลอดภัยกับตัวผู้ป่วยอยู่ดี ดังนั้น เราจึงยังมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อผู้ป่วยอยู่แม้ว่าจะคับข้องใจกับข้อบ่งใช้ของยาที่จะจ่ายก็ตาม ถ้าหากเราหยุด เรายอมแพ้ เราใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลแล้วหยุดทำหน้าที่เพราะอารมณ์ไม่พอใจเหล่านั้น วันหนึ่งเราจะพบว่าเราปล่อยให้ผู้ป่วยเกิดการแพ้ยาหรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์เพราะใช้ยาเกินขนาดจากการที่เราไม่ยอมถามประวัติการแพ้ยา หรืออธิบายวิธีการรับประทานยาที่ถูกต้องให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อปัญหาของผู้ป่วยเหล่านี้สะสมมากขึ้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็จะหนีไม่พ้นคนใกล้ตัวและคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกันกับเรานั่นเอง

            สุดท้ายนี้ อ.ภก.ศุภทัต ได้ให้คำแนะนำถึงน้อง ๆ บัณฑิตรุ่นใหม่ว่า น้อง ๆ รุ่นใหม่นั้นมีความคิดสร้างสรรค์มาก ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างนวัตกรรมหรือเครื่องมือที่สามารถนำเอาความรู้ที่เล่าเรียนมาไปเผยแพร่ให้ผู้ป่วยสามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้องในวงกว้าง อีกทั้งน้อง ๆ มีความสามารถในการเรียนรู้ อยากให้ดึงเอาพลังตรงนี้มาใช้ในการเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ตนเอง สร้างทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองไปตลอดชีวิต เพราะสิ่งสำคัญที่ทำให้เราสามารถให้บริการผู้ป่วยอย่างถูกต้องตามหลักการใช้ยาอย่างสมเหตุผลได้หรือไม่นั้น... อยู่ที่ว่าเรามีทัศนคติที่ดี มีความรู้ที่ถูกต้อง มีทักษะการสื่อสาร และทักษะทางภาษาที่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอหรือไม่ ดังนั้น การประเมินตนเองและการพัฒนาความรู้ความสามารถอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้น้อง ๆ เป็นเภสัชกรที่มีความรู้ความสามารถ และสร้างประโยชน์จากความรู้ที่มีให้แก่ชุมชนและสังคมของเราได้อย่างมากมาย