Complementary Medicine in Pharmacy Practice-Research Update & Application

Complementary Medicine in Pharmacy Practice-Research Update & Application

            ปัจจุบันประชาชนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย ตลอดจนการเลือกใช้โภชนเภสัชภัณฑ์ อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนั้น เภสัชกรซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลือกใช้โภชนเภสัชภัณฑ์จึงถือเป็นที่พึ่งสำคัญแก่ประชาชนในการให้ความรู้และช่วยสนับสนุนการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเพิ่มพูนความรู้ด้านผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อให้เภสัชกรสามารถถ่ายทอดให้แก่ประชาชนในชุมชนได้อย่างถูกต้อง จึงได้จัดงานประชุมวิชาการ Complementary Medicine in Pharmacy Practice-Research Update & Application” ร่วมกับสถาบันวิจัยแบลคมอร์ส โดยเชิญคณะวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโภชนเภสัชภัณฑ์ทั้งในและต่างประเทศมาให้ความรู้ที่ทันสมัยตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกาภิวัตน์

Rational Drug Use ร้านยากับการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU Pharmacy)
ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล

ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย           

            จากการประเมินขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของการใช้ยาเป็นไปอย่างไม่สมเหตุผลทั้งจากการจ่ายยาโดยแพทย์และการขายยาที่ร้านขายยา ได้แก่ มีการใช้ยาโดยไม่จำเป็น ไม่เป็นประโยชน์จริง มีอันตรายสูง หรือใช้ยาผิดขนาด ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ใช้ยา เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น และก่อปัญหาเชื้อดื้อยา ยกตัวอย่างเช่น

ยา Allopurinol
            การใช้ยา allopurinol ที่ร้านยามีข้อควรระวังในการใช้ยาคือ ไม่ควรใช้ในกรณีที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงเท่านั้น ระดับกรดยูริกปกติในผู้หญิงคือ 2.6-6.0 mg/dl และในผู้ชายคือ 3.4-7.0 mg/dl แต่ควรใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้ที่สำคัญ 4 กรณีต่อไปนี้ 1. ผู้ป่วยมีอาการของโรคเกาต์ร่วมด้วย และมีอาการของโรคเกาต์ตั้งแต่ 2 ครั้ง/ปี  2. ผู้ป่วยมีก้อนตะปุ่มตะป่ำที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เรียกว่า ก้อน tophus  3. ผู้ป่วยมีนิ่วในทางเดินปัสสาวะที่เกิดจากกรดยูริก หรือ 4. ผู้ป่วยมีอาการของโรคเกาต์และมีภาวะไตวายเรื้อรังระดับ 2 ขึ้นไป (eGFR < 90 mL/min/1.73 m2) ทั้งนี้ยา allopurinol มีความเสี่ยงที่สำคัญคือ การแพ้ยาขั้นรุนแรง ได้แก่ Stevens Johnson syndrome, ตับอักเสบ และไตวาย

ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
            ขนาดยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัมที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัวของผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่คือ 10-15 มก./กก./ครั้ง ก็คือน้ำหนัก 34-50 กิโลกรัม รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด, น้ำหนัก 50-75 กิโลกรัม รับประทานยา 1 เม็ดครึ่ง และผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 67 กิโลกรัมขึ้นไป สามารถรับประทานได้ครั้งละ 2 เม็ด ห่างกันทุก 6 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้ใช้เกิน 4 กรัมต่อวัน ขนาดยาในเด็กหลังการคำนวณตามน้ำหนักตัวแล้วใช้ได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรใช้เกิน 4-5 ครั้งต่อวัน ร้านขายยาควรส่งเสริมการใช้ยาพาราเซตามอลชนิด 325 มิลลิกรัมทั้งในผู้ใหญ่และเด็กโต เพื่อความปลอดภัยที่สูงขึ้นควรจำกัดการใช้ยาพาราเซตามอลไม่เกิน 650 มิลลิกรัมต่อครั้ง และไม่เกิน 3,250 มิลลิกรัมต่อวัน

ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
            จากคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ ๒๓๔๖/๒๕๕๙ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2560 “ให้ตัดข้อบ่งใช้แบบเฉพาะที่ออก คงเหลือแต่ข้อบ่งใช้แบบภายในร่างกาย” เนื่องจากยา ketoconazole ชนิดรับประทานมีผลต่อการเกิด hepatotoxicity ทั้งนี้ร้านขายยามียาอื่นที่มีความปลอดภัยกว่าให้เลือกใช้ เช่น fluconazole และ griseofulvin เป็นต้น

ยากลุ่ม NSAIDs และ Coxib
            Nimesulide ซึ่งเป็นยาตัวหนึ่งในยากลุ่ม NSAIDs ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นพิษต่อตับอย่างร้ายแรง หน่วยงานด้านยาของสหภาพยุโรป (EMEA) จึงออกมาตรการควบคุมความเสี่ยงตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2012 โดยระบุว่าแพทย์ไม่ควรสั่งยาตัวนี้ในการบรรเทาอาการปวดในโรคข้อเสื่อม (osteoarthritis) เนื่องจากควรจำกัดการใช้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 2 สัปดาห์ จึงอนุมัติให้ใช้สำหรับการบรรเทาความเจ็บปวดเฉียบพลัน (acute pain) หรือปวดประจำเดือน (dysmenorrhoea) โดยให้ใช้ยาด้วยขนาดที่ต่ำสุดและใช้เป็นยาทางเลือกเท่านั้น หมายถึงไม่ควรใช้เป็นยาขนานแรก สำหรับประเทศไทยได้มีการแก้ไขเอกสารกำกับยา โดยระบุคำเตือนไว้ถึง 16 ข้อ รวมทั้งการห้ามใช้ยาติดต่อกันเกิน 15 วัน เป็นต้น

ยาในกลุ่ม Coxib เป็นยาที่มีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง รวมทั้งผู้มีภาวะหัวใจล้มเหลว เภสัชกรร้านยาจึงควรซักถามประวัติการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อนการจ่ายยาในกลุ่มนี้

ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine)
            ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน (antihistamines) ทั้งชนิด sedating และ non-sedating antihistamine ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในโรคภูมิแพ้ โดยยาชนิด sedating เช่น chlorpheniramine มีประสิทธิผลต่ำในการบรรเทาอาการน้ำมูกไหลในโรคหวัด ส่วนยาชนิด non-sedating ไม่มีประสิทธิผลแต่อย่างใด การใช้ยากลุ่มนี้เพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ในโรคหวัดจึงเป็นการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล

ยา Serratiopeptidase
            ปัจจุบันบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ต้นแบบได้ยุติการจำหน่ายยานี้ในประเทศไทยแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เนื่องจากข้อมูลทางด้านประสิทธิภาพของยาที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้ยานี้ในเวชปฏิบัติตามข้อบ่งใช้ที่ได้รับการรับรอง

ยาอมผสมยาปฏิชีวนะ
            Neomycin เป็นยาปฏิชีวนะที่ผสมอยู่ในยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอที่มีจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ยานี้ไม่ออกฤทธิ์ต่อ Group A Streptococcus ซึ่งเป็นสาเหตุของการเจ็บคอ แต่เมื่อกลืนลงสู่ทางเดินอาหารจะชักนำให้แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ดื้อต่อยากลุ่ม aminoglycoside ซึ่งเป็นยาสำคัญที่ใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล

            การใช้ยาอย่างสมเหตุผลที่ร้านยาคือ การใช้ยาที่เป็นประโยชน์จริงต่อผู้ป่วย มีอันตรายน้อย และด้วยความตระหนักถึงปัญหาเชื้อดื้อยา

โภชนเภสัชภัณฑ์กับการแพทย์แบบผสมผสาน (Integrative practice with complementary medicines – the possibilities)

ดร.เลสลีย์ บราวน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแบลคมอร์ส   

            การแพทย์แบบผสมผสานกับการบูรณาการทางเภสัชศาสตร์ (Integrative pharmacy) เป็นการนำศาสตร์และความรู้องค์รวมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยามาประยุกต์ใช้ในการอธิบาย ซึ่งปัจจุบันหลักฐานทางการศึกษาเกี่ยวกับแพทย์แผนโบราณ การบำบัดโดยใช้พืชสมุนไพร ตลอดจนการใช้อาหารเสริมมีการศึกษาและพบหลักฐานเชิงประจักษ์เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยอันตรกิริยาระหว่างยา (Drug interaction) นั้นเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้ยา 2 ชนิดร่วมกัน เกิดจากฤทธิ์หรือระดับยาที่มีการลดหรือเพิ่มขึ้นภายในร่างกายแล้วแสดงปฏิกิริยาต่าง ๆ เช่น ปฏิกิริยาทางลบอาจจะลดการตอบสนองต่อยา หรือทำให้เพิ่มความเป็นพิษ ปฏิกิริยาทางบวกอาจจะช่วยลดอาการข้างเคียงของการใช้ยา หรือทำให้ผลการรักษาที่ดีขึ้น อาทิ n-3 EFA ช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้ดี และสุดท้ายก็คือปฏิกิริยาที่เป็นกลาง
            สำหรับกลไกของการเกิดปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. ปฏิกิริยาต่อกัน ระหว่างยาทางพลศาสตร์ (Pharmacodynamic interactions) ซึ่งเกี่ยวกับการเพิ่มหรือลดฤทธิ์ของยา หรือเสริมอาการข้างเคียงของยา โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงระดับของยา และ 2. ปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาทางเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic interactions) เป็นปฏิกิริยาระหว่างยากับกระบวนการดูดซึมยา การกระจายตัวของยา และการเปลี่ยนสภาพยา

            จากการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ของพืชสมุนไพรที่นำมาใช้เป็นยาถึงอันตรกิริยาที่มีนัยสำคัญทางคลินิก โดยทำการศึกษาทั้งการวิจัยในห้องปฏิบัติการ (In vitro) และการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก (Clinical trial) พบว่า พริกไทยดำนั้นมีสารพิเพอรีน (Piperine) ที่มีผลต่อ CYP3A และ P-gp, โกลเด้นซีล (Goldenseal) จะยับยั้ง CYP2D6 และ 3A4, ชิแซนดร้า (Schisandra) จะยับยั้ง CYP3A4, P-gb และเซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John’s wort) จะเหนี่ยวนำ CYP3A4, P-gb นอกจากนี้พืชสมุนไพรที่มีอันตรกิริยาต่ำและค่อนข้างปลอดภัย ได้แก่ แบลคโคฮอส (Black cohosh) ลดอาการร้อนวูบวาบของหญิงวัยหมดประจำเดือน เอ็กไคนาเซีย (Echinacea spp.) ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน, กระเทียม (Garlic), โสม (Ginseng spp.), ใบแปะก๊วย (Ginkgo biloba), คาวา คาวา (Kava Kava) ใช้เพื่อคลายความวิตกกังวล และมิลค์ ทิสเซิล (Milk thistle) เป็นต้น
            นอกจากการใช้พืชสมุนไพรจะส่งผลต่ออันตรกิริยาของยาแล้ว สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การเกิดอันตรกิริยาระหว่างยากับปฏิกิริยาการดูดซึมสารอาหารชนิดต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การใช้ยาลดความดันกับระดับธาตุสังกะสี (Zinc) ในร่างกาย พบว่าการใช้ยาความดันบางกลุ่มจะลดระดับธาตุสังกะสีในร่างกาย เนื่องจากทำให้ร่างกายลดอัตราการดูดซับและเพิ่มการขับสารอาหารออกไป ซึ่งปกติธาตุสังกะสีนั้นจะสะสมในร่างกายได้ 3-4 วัน ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไป 1 สัปดาห์ ร่างกายก็จะเริ่มมีอาการขาดธาตุสังกะสี

         ธาตุสังกะสี (Zinc) ถือว่าเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญไม่ใช่เฉพาะคนที่รับประทานยาความดันเท่านั้นที่มีโอกาสขาดธาตุสังกะสี จากการศึกษาประชากรทั่วโลกขาดธาตุสังกะสีเป็นอันดับที่ 2 รองจากการขาดธาตุเหล็ก ธาตุสังกะสีมีส่วนสำคัญมากกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทั้งการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันทั่วไปไม่ว่าจะเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิล (Neutrophils) เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ (Monocyte) และยังช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ลิมโฟไซต์ (T-lymphocyte) การขาดธาตุสังกะสีนั้นเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ไม่เต็มที่ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย จากการศึกษา RCTs 15 ในอาสาสมัครกว่า 1,360 คน เกี่ยวกับการรับประทานธาตุสังกะสีทั้งรูปแบบน้ำเชื่อมและแบบยาอมหรือแบบเม็ดเมื่อเกิดอาการของโรคหวัด พบว่าเมื่อรับประทานธาตุสังกะสีภายใน 24 ชั่วโมงหลังเกิดอาการสามารถลดความรุนแรงและระยะเวลาของการเป็นหวัดในคนที่มีสุขภาพดีได้ นอกจากนี้ถ้ารับประทานธาตุสังกะสีติดต่อกัน 5 เดือน ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าลดอัตราการเกิดโรคหวัด การลาเรียนของเด็ก และการใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic)1

                  วิตามินซี (Vitamin C) จากการศึกษาของ Cochrane review จากกลุ่มตัวอย่างมนุษย์จำนวน 31 คนที่ป่วยเป็นโรคหวัดกว่า 9,745 ครั้ง พบว่าวิตามินซีสามารถป้องกันโรคหวัดได้ การให้วิตามินซีเสริมอย่างต่อเนื่องช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจทั้งผู้ใหญ่และเด็กได้2 นอกจากนี้การศึกษาเกี่ยวกับการให้วิตามินซีในผู้ใหญ่สูงกว่า 8 กรัม/วัน ทันทีที่มีอาการของโรคหวัดภายในระยะเวลา 5 วัน เพื่อดูความสามารถในการรักษาของวิตามีนซี พบว่าสามารถทำให้อาการของโรคหวัดมีระยะเวลาสั้นลงได้

            เอ็กไคนาเซีย (Echinacea) จากการศึกษาของประเทศเยอรมนีเกี่ยวกับโครงสร้างด้านเภสัชวิทยาของเอ็กไคนาเซีย ระบุว่ามีสารอยู่ 4 กลุ่มที่ออกฤทธิ์ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและส่งผลต่อการลดอาการอักเสบ และสิ่งสำคัญ 3 อย่างก็คือ ส่งผลต่อการทำงานของกระบวนการฟาโกไซโทซิส (Phagocytosis), กระตุ้นการทำงานของไฟโบรบลาสต์ (Fibroblast) อีกทั้งยังเพิ่มกระบวนการหายใจทำให้เม็ดเลือดขาว (Leukocyte) เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น นอกจากนี้จากการศึกษาวิเคราะห์จาก 14 กลุ่มตัวอย่าง พบว่าเอ็กไคนาเซียสามารถลดการเกิดโรคหวัดได้ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหวัดได้ 58% และลดระยะเวลาที่จะเป็นโรคหวัดได้ 1½ วัน3
            สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับโรคข้ออักเสบ (Osteoarthritis) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปลอดภัย ลดอาการปวด และสามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น และถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะสามารถกลับคืนสภาพการทำงานหรือช่วยให้ไม่เกิดปัญหาข้อเข่าเสื่อมมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง การศึกษาการใช้สารกลูโคซามีน (Glucosamine) ซึ่งเป็นสารประเภทเดียวกันที่พบได้ในกระดูกอ่อน มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบแต่จะแสดงผลได้ช้า กลูโคซามีนจะช่วยยับยั้งการเสื่อมของกระดูกอ่อน ช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแต่ไม่สามารถแก้ไขหรือซ่อมแซมให้กระดูกที่เสื่อมกลับคืนสภาพเดิมได้ จากการศึกษาในทวีปยุโรปเกี่ยวกับการใช้สารกลูโคซามีนและสาร Chondroitin สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อเข่าอักเสบ พบว่า สามารถลดอาการปวดได้และมีความเสี่ยงน้อยมาก สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาก็คือ การใช้สารกลูโคซามีนจะต้องดูฉลากกำกับในกรณีของผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมากอาจจะต้องรับประทานสูงกว่า 1,500 มิลลิกรัม นอกจากนี้จากการศึกษา Cochrane review ปี ค.ศ. 2015 พบว่าการรับประทานสารกลูโคซามีนเพียงอย่างเดียวหรือสาร Chondroitin ร่วมด้วยมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคข้ออักเสบได้อย่างมีนัยสำคัญ4
            สารโคเอนไซม์ คิวเท็น (Coenzyme Q10) เป็นสารที่มีความสำคัญต่อการสังเคราะห์อะดีโนซีนไตรฟอสเฟต (ATP) ของเซลล์ ยกตัวอย่างเรื่องของสารโคเอนไซม์ คิวเท็น กับโรคไมเกรน (Migraine) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงานในสมองและสาเหตุทางพันธุกรรม จากการศึกษาในปี ค.ศ. 2002 พบว่าโคเอนไซม์ คิวเท็น สามารถลดความถี่และความรุนแรงของอาการปวดไมเกรนต่อเดือนลงได้ และการศึกษา RCTs ในปี ค.ศ. 2005 ยังชี้ให้เห็นว่า โคเอนไซม์ คิวเท็น สามารถลดความถี่ของอาการปวดไมเกรน วันที่ปวดและวันที่มีอาการคลื่นไส้ได้แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการรับประทาน5

           สิ่งสำคัญเกี่ยวกับบทบาทของเภสัชกรในการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของอันตรกิริยาระหว่างยาเป็นสำคัญ มีการศึกษาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้ใช้ผลิตภัณฑ์

อันตรกิริยาระหว่างยากับสมุนไพรและสารอาหารสำหรับการบริบาลผู้ป่วย (The use of complementary interaction guide to assess nutrient/herb/drug interaction)

มอนิต้าร์ ตัน ผู้ชำนาญการด้านการศึกษา สถาบันวิจัยแบลคมอร์ส      

         ปัจจุบันประชาชนให้ความสนใจดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานวิตามิน เกลือแร่ สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (complementary medicines) หรือโภชนเภสัชภัณฑ์ ร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบันเป็นจำนวนมากขึ้น และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เภสัชกรมีความรู้เพิ่มเติมในเรื่องโภชนเภสัชภัณฑ์ สามารถให้คำแนะนำในการเลือกใช้ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ด้วยเหตุนี้สถาบันวิจัยแบลคมอร์สจึงได้จัดทำ “วิธีการใช้คู่มือความปลอดภัยในการใช้วิตามิน สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในทางเภสัชกรรม (อันตรกิริยาของโภชนเภสัชภัณฑ์): Complementary medicine interactions guideหรือ CMIG book” เพื่อเป็นหนังสืออ้างอิงในการช่วยบุคลากรทางการแพทย์และเภสัชกรให้เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับปฏิกิริยาระหว่างโภชนเภสัชภัณฑ์และยาแผนปัจจุบันได้อย่างง่าย โดยตารางในคู่มือเล่มนี้จะแสดงระดับความรุนแรง ความเป็นไปได้ในการเกิดปฏิกิริยา และระดับความน่าเชื่อถือของหลักฐาน เพื่อช่วยในการประเมินความเสี่ยงและช่วยสนับสนุนการให้คำแนะนำอย่างเหมาะสม สามารถเข้าไปดาวน์โหลดคู่มือนี้ได้ที่ www.blackmoresinstitute.org

ตัวอย่างสมุนไพรที่อาจจะมีอันตรกิริยากับกลุ่มยา Anticoagulants เช่น ยาวาร์ฟาริน (Warfarin): ยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือที่เรียกกันว่ายาละลายลิ่มเลือด และ Antiplatelet agents เช่น แอสไพริน (Aspirin) ได้แก่

กระเทียม (Garlic) ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium sativum การรับประทานกระเทียมร่วมกับยาวาร์ฟารินอาจเกิดอันตรกิริยาเพิ่มโอกาสในการทำให้เกิดเลือดออกมากขึ้น แต่ทั้งนี้เมื่อดูข้อมูลหลักฐานอ้างอิงจาก CMIG book พบว่าข้อมูลนี้ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ และมีคำแนะนำเกี่ยวกับอันตรกิริยาที่อาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ถ้าได้รับในปริมาณที่มากกว่า 7 มิลลิกรัม ดังนั้น เภสัชกรควรแนะนำผู้ป่วยที่รับประทานยาในกลุ่มนี้ร่วมกับกระเทียมให้ลดการรับประทานลง หรือระมัดระวังเป็นพิเศษในการรับประทานเพิ่มขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ เพราะถึงแม้ว่าการรับประทานกระเทียมจะมีอัตราการเกิดอันตรกิริยาน้อย แต่ถ้าเกิดขึ้นก็จะให้ผลลัพธ์ที่รุนแรงมาก นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ก็ควรหยุดรับประทานกระเทียม 1 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัดเพื่อความปลอดภัย

แปะก๊วย (Ginkgo) ชื่อวิทยาศาสตร์ Ginkgo bilobaจากข้อมูลหลักฐานอ้างอิงของ CMIG book พบว่า ผลของการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยายังขัดแย้งกันอยู่ โดยผู้ป่วยอาจเกิดความเสี่ยงมีเลือดออกได้ง่าย โดยเฉพาะถ้าพบว่าผู้ป่วยมีรอยคล้ำ หรือรอยจ้ำเลือดก็ให้หยุดรับประทานใบแปะก๊วยทันที นอกจากนี้แปะก๊วยยังมีอันตรกิริยากับยากันชัก ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs) และ CYP2C19 enzyme substrates ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่พบในตับ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงปฏิกิริยาทางชีวเคมีของยาหลายตัว โดยอาจทำให้เกิดเอนไซม์เหล่านี้เพิ่มขึ้น และลดระดับของ omeprazole แต่ไม่มีผลต่อ voriconazoleซึ่งข้อมูลที่ได้นี้ยังมีความขัดแย้งอยู่ การใช้จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของเภสัชกรที่ต้องคอยดูแลสังเกตอาการ นอกจากนี้ถ้าผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ควรหยุดการรับประทานใบแปะก๊วยก่อน 1 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย

โสม (Ginseng) ใน CMIG book จะมีข้อมูล 2 สายพันธ์ุ ได้แก่ โสมเกาหลี Ginseng (Korean) ชื่อวิทยาศาสตร์ Panax ginseng ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคสำหรับคนไทย ผลลัพธ์ของอันตรกิริยาที่ได้ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งถ้าผู้ป่วยรับประทานในปริมาณที่สูงมากกว่าคำแนะนำบนฉลาก และรับประทานวาร์ฟารินร่วมด้วยควรแนะนำให้ผู้ป่วยลดขนาดของโสมที่รับประทานลง แต่ทั้งนี้ปัญหาของหลักฐานอ้างอิงที่มีอยู่ขณะนี้คือ หลักฐานจากการศึกษาทางคลินิก หรือรายงานกรณีศึกษา (Case report) ที่ได้มาไม่ระบุว่าเกิดปัญหาจากโสมพันธ์ุใด ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยรับประทานโสมในขนาดสูง เภสัชกรจึงควรให้คำแนะนำให้ผู้ป่วยระวังไว้ก่อน

โสมไซบีเรีย Ginseng (Siberian) ชื่อวิทยาศาสตร์ Eleutherococcus senticosus จากข้อมูลหลักฐานอ้างอิงที่มีอยู่ใน CMIG book พบว่าโสมไซบีเรียจะเพิ่มประสิทธิผลของวาร์ฟารินให้อยู่ในระดับดี ซึ่งจากผลการศึกษาในหลอดทดลองยังพบว่า Eleutherococcus senticosus มีฤทธิ์ในการต้านการแข็งตัวของเลือด แต่ผลจากการทดลองนี้จะตีความเป็นนัยสำคัญทางคลินิกได้ค่อนข้างยาก จึงต้องศึกษาจากผลทางปฏิบัติทางคลินิกซึ่งน่าจะไม่พบปัญหาอะไร

เซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John’s Wort) ชื่อวิทยาศาสตร์ Hypericum perforatum เซนต์จอห์นเวิร์ตจะส่งผลต่อ CYP450 enzyme substrates (2C19, 3A4)  ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สำคัญระดับต้น ๆ โดยจะไปลดประสิทธิผลของยาวาร์ฟาริน และมีอันตรกิริยากับยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (Oral contraceptive pill: OCP) รวมถึงกลุ่มยาต้านซึมเศร้า (Prescription antidepressants-tricyclics, SSRIs and SNRIs) ไม่ควรใช้ร่วมกับเซนต์จอห์นเวิร์ตเพราะอาจจะทำให้เกิด serotonergic syndrome และ SSRIs อาจลดระดับเลือดของยาต้านซึมเศร้ากลุ่มยา TCA (Tricyclic antidepressant) ในเลือดได้

ฟ้าทะลายโจร (Andrographis) ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Andrographis paniculata ซึ่งเป็นสมุนไพรที่นิยมใช้ในประเทศไทย โดยจะไปเพิ่มฤทธิ์ของยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) และยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet drugs) แต่ทั้งนี้จากข้อมูลที่มีอ้างอิงจะเป็นผลที่เกิดขึ้นในสัตว์ และยังเป็นขั้นตอนในหลอดทดลอง ซึ่งเป็นในทางทฤษฎีเท่านั้น จึงไม่น่าจะเกิดปัญหา ผู้ป่วยสามารถรับประทานฟ้าทะลายโจรได้โดยเริ่มในปริมาณต่ำ ๆ วันละ 1 แคปซูล และสังเกตอาการต่อไปว่าถ้าไม่มีอันตรกิริยากับวาร์ฟารินก็สามารถเพิ่มปริมาณการรับประทานตามขนาดที่แนะนำได้

การเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุด้วยการใช้สมุนไพร (Herbal medicine for improving quality of life in elderly) 
รศ.ดร.ภญ.นริศา คำแก่น อาจารย์ประจำหมวดวิชาเภสัชเวทและตัวยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

            ผู้สูงอายุตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ (UN) หมายถึง ประชากรทั้งเพศชายและเพศหญิงซึ่งมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป แต่สำหรับองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดนิยามของผู้สูงอายุว่า คือผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และสำหรับประเทศไทยได้ให้คำนิยามของผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 คือบุคคลที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ทั้งนี้ผู้สูงอายุถือเป็นวัยที่มีแนวโน้มที่จะใช้ยามากกว่าคนในวัยอื่น ๆ รวมถึงการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ตัวเองด้วย โดยสมุนไพรที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตสำหรับผู้สูงอายุที่เลือกมานี้เป็น 5 สมุนไพรที่พบได้บ่อย เป็นที่นิยม บางชนิดมีอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ตลอดจนมีการนำมาใช้นอกเหนือจากข้อบ่งใช้ที่ระบุไว้ในบัญชียาหลักโดยมีผลงานวิจัยรองรับ ซึ่งสมุนไพรทั้ง 5 ตัวนี้ได้แก่

            1. ฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata) มีข้อบ่งใช้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ อาการเจ็บคอ โรคหวัด ท้องเสีย ช่วยในการรักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนที่ไม่ซับซ้อนยุ่งยากมากนัก เช่น มีเสมหะ ไอ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ มีไข้ เจ็บคอ ปวดหู เมื่อยล้า นอนไม่ค่อยหลับ ตลอดจนยังช่วยลดความถี่และความรุนแรงของการไอ โดยการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบในปี ค.ศ. 2015 สนับสนุนว่าช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการไอ และมีความปลอดภัย อีกทั้งยังมีงานวิจัยว่าช่วยลดไขมันไตรกลีเซอไรด์เทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน gemfibrozil บรรเทาและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้อักเสบ รวมถึงลดอัตราการเป็นซ้ำได้อีก เมื่อมีการใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ และยังพบว่าสามารถรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โดยจะช่วยลดการบวม การปวดข้อ ถ้าใช้ต่อเนื่องติดต่อกัน 14 สัปดาห์

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เคยมีรายงานที่ศูนย์ติดตามอาการไม่พึงประสงค์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่าการใช้ฟ้าทะลายโจรในปริมาณที่สูงมีโอกาสเกิดอาการภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) และภาวะช็อกจากปฏิกิริยาภูมิแพ้อย่างฉับพลัน (Anaphylaxis shock) อาจทำให้ปวดศีรษะเมื่อยล้า มีอาการผื่นคัน รวมถึงอาจทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง มีการรับรสที่เปลี่ยนไป ซึ่งมีรายงานว่าพบในคนไทยด้วย

2. ขมิ้นชัน (Curcuma longa) ขมิ้นชันมีสารสำคัญคือ Curcumin ช่วยต้านออกซิเดชั่น (oxidation) โดยมีข้อบ่งใช้ในบัญชียาหลักแห่งชาติในการบรรเทาอาการแน่นจุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ และรักษาโรคกระเพาะ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบว่าสามารถรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis), กลุ่มโรคที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร (Inflammatory Bowel Disease), เพิ่มความตื่นตัว (alertness), ความตั้งใจ (attention), ความจำ (memory) และความรู้สึกสงบ (calmness) ในผู้สูงอายุได้

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ขมิ้นชันพบว่า ขมิ้นชันค่อนข้างปลอดภัยในการรับประทานเป็นอาหาร แต่ในบางคนอาจจะมีอาการระคายเคืองทางเดินอาหารหากมีการใช้ในรูปแบบสารสกัดปริมาณสูงมาก จึงเป็นข้อที่ควรระวังและห้ามใช้ในผู้ที่เป็นท่อน้ำดีอุดตัน

3. บัวบก (Centella asiatica) ด้านแพทย์แผนไทยมีการนำบัวบกมาใช้ในการรักษาแผลให้หายเร็วขึ้น เนื่องจากบัวบกมีสรรพคุณในการเร่งการสร้างเนื้อเยื่อใหม่เกิดขึ้น อีกทั้งยังช่วยทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณส่วนต่าง ๆ ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบว่าลดความวิตกกังวล คลายเครียด ทำให้นอนหลับ ช่วยต้านลมชัก เพิ่มความทรงจำ ลดความเสื่อมของเซลล์และประสาท รวมถึงรักษาแผลอักเสบ แผลผ่าตัด และแผลที่เกิดจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวกได้อีกด้วย

ผลข้างเคียงจากการใช้บัวบก อาจพบอาการผื่นแพ้และแสบร้อนของผิวหนัง อาจพบอาการปวดศีรษะ ระคายเคืองกระเพาะอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการง่วงซึมจากการรับประทานในปริมาณที่สูงมาก

ข้อควรระวังในการใช้บัวบก ไม่ควรใช้บัวบกติดต่อกันเกิน 6 สัปดาห์ ในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ติดต่อกันนาน ควรมีการหยุดรับประทาน 2 สัปดาห์ จากนั้นจึงค่อยรับประทานใหม่ และถ้ามีความจำเป็นต้องใช้บัวบกในปริมาณสูง ควรระวังในการใช้ร่วมกับยาที่ทำให้นอนหลับ หรือยาคลายวิตกกังวล นอกจากนี้บัวบกยังมีผลต่อยาที่ลดระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้น ถ้าจะใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด หรือยาลดคอเลสเตอรอล จึงต้องพึงระวังในการใช้คู่กันด้วย

4. แปะก๊วย (Ginkgo biloba) ช่วยป้องกันการเสื่อมของเซลล์สมอง เนื่องจากในแปะก๊วยมีสารสำคัญหลายตัว เช่น สารกลุ่ม Flavonoid และสารกลุ่ม Terpenoid มีข้อบ่งใช้ตามกลไกการออกฤทธิ์คือ ลดการอักเสบ เพิ่มการไหลเวียนของออกซิเจนและกลูโคส ทำให้มีออกซิเจนและกลูโคสไปหล่อเลี้ยงในสมองเพิ่มมากขึ้น มีผลเกี่ยวกับการควบคุมสารสื่อประสาทในสมอง และควบคุมการเคลื่อนไหว ช่วยลดอาการเหน็บชา อาการปวดเกร็งจากกล้ามเนื้อหดตัว อีกทั้งการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบสนับสนุนว่า ช่วยเพิ่มการรับรู้ และป้องกันสมองเสื่อมจากอัลไซเมอร์ได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบว่าช่วยเพิ่มความจำ (memory) และการรับรู้ (cognition) ในผู้หญิงวัยกลางคนที่มีสุขภาพดีด้วย

ข้อควรระวังในการใช้แปะก๊วยคือ ระวังการใช้ในผู้ที่มีประวัติความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่มีประวัติการชัก และสตรีมีครรรภ์หรือให้นมบุตร และสำหรับผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดควรหยุดรับประทานแปะก๊วย 1-2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเลือดออก (bleeding) ในการผ่าตัดได้ ทั้งนี้ผลข้างเคียงของแปะก๊วยอาจทำให้เกิดการระบายท้อง ปวดศีรษะ ง่วงนอน ง่วงซึม นอกจากนี้ยังห้ามใช้ร่วมกับ warfarin หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulant) หรือยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น Ibuprofen

5. พรมมิ (Bacopa monnieri) มีสารสำคัญในกลุ่ม Alkaloid คือ Brahmin โดยแพทย์แผนไทยจะนำมาใช้ทั้งต้นเนื่องจากมีรสเย็นและหวาน ช่วยในการลดไข้ ร้อนใน กระหายน้ำ บำรุงประสาท แก้ลมบ้าหมู (Epilepsy) รวมถึงโรคหอบหืด (Asthma), โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS) อีกทั้งยังช่วยในเรื่องของความจำ (memory), ลดความวิตกกังวล (anxiety), ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) รวมถึงโรคสมาธิสั้นในเด็ก (Attention deficit-hyperactivity disorder: ADHD) และยังช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ (Allergy) ได้

สำหรับผลข้างเคียง พบว่าพรมมิค่อนข้างจะปลอดภัยในผู้ใหญ่ที่รับประทานทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว คือใช้เกิน 12 สัปดาห์ติดต่อกัน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่จัดทำในประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ. 2012 โดยทำการทดลองในกลุ่มอาสาสมัครผู้หญิงวัยกลางคนที่มีสุขภาพดีและอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป โดยให้รับประทานพรมมิในปริมาณ 300 มิลลิกรัม และ 600 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลาต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ พบว่าช่วยเพิ่มความจำได้ดี

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ อาจเกิดอาการคล้ายเป็นตะคริวที่กระเพาะอาหาร มีอาการปากแห้ง รู้สึกอ่อนเพลีย อ่อนล้า และคลื่นไส้ อาเจียนได้

ข้อควรระวังในการใช้ ห้ามใช้ในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และผู้หญิงที่ให้นมบุตร รวมถึงผู้ป่วยที่มีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำ (Bradycardia), ห้ามใช้ในผู้ที่มีการอุดกั้นของทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract blockage), มีแผลในกระเพาะอาหาร (Ulcer) เพราะอาจจะเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงขึ้น นอกจากนี้ผู้ที่มีภาวะของโรคปอด ภาวะไทรอยด์ และระบบทางเดินปัสสาวะอุดตัน ควรต้องพึงระวัง

เอกสารอ้างอิง

  1. Cochrane review DOl: 10.1002/1465185.CD001364. Pub3
  2. Cochrane review Jan 2013; DOI: 10.1002/1465185.CD000980. Pub4
  3. Capek et al. International Journal of Biological Macromolecules Volume 79, August 2015, Page 388-391.
  4. Singh JA, Noorbaloochi S, MacDonald R, Maxwell LJ. Chondroitin for osteoarthritis. Cochrane Database of Systematic Reviews 2015, Issue 1. Art.No: CD005614. DOI: 10.1002/1465158. CD005614. Pub2
  5. Braun Cohen, HNS 4th edt. Elsevier publishers, Headache, Markley Vol. 52, Issue 52, 2012, Page 81-87.