รศ.ดร.ภญ.บุษบา จินดาวิจักษณ์

รศ.ดร.ภญ.บุษบา จินดาวิจักษณ์
คุณภาพต้องเต็ม 100 ทุกบทบาทของการทำงาน        

“การปิดทองหลังพระนั้นเมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนักเพราะว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้” (พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2506) เปรียบเสมือนหลักสำคัญสำหรับการปฏิบัติงาน ซึ่ง รศ.ดร.ภญ.บุษบา จินดาวิจักษณ์ ยึดถือและปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาทตลอดมา

            รศ.ดร.ภญ.บุษบา จินดาวิจักษณ์ สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นจึงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมต่อในระดับปริญญาโท สาขาเภสัชกรรมคลินิก เริ่มปฏิบัติงานที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประมาณ 3 ปี จึงลาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก โดยเริ่มปฏิบัติงานเป็นอาจารย์ประจำ สังกัดสาขาเภสัชกรรมคลินิก ภาควิชาเภสัชกรรม มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา ปัจจุบันปฏิบัติงานทั้งในสายงานวิชาการตำแหน่ง อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม และสายงานบริหารดำรงตำแหน่ง รองคณบดีฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

            สำหรับบทบาทของอาจารย์ซึ่งทำงานสาขาเภสัชกรรมคลินิก สิ่งหนึ่งในมุมมองที่มีความแตกต่างของนักศึกษาจากอดีตสู่ปัจจุบันก็คือ ในยุคก่อน ๆ ตำราเรียนหรือหนังสือต่าง ๆ ทั้งหลายส่วนใหญ่จะเป็นภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้น เนื้อหาหรือสิ่งที่สอนนักศึกษาจะเน้นให้นักศึกษามีความกระตือรือร้นในการขวนขวายที่จะศึกษาหาความรู้เอง โดยมีเราเปรียบเสมือนที่ปรึกษาในเรื่องนั้น ๆ ดังนั้น นักศึกษาในสมัยก่อนจะค่อนข้างมีความสนิทสนมกับอาจารย์ผู้สอน นอกเหนือจากช่วงเวลาเรียนภายในชั่วโมงเรียนปกติแล้ว เมื่อนักศึกษาเกิดความสงสัยหรือต้องการซักถาม พูดคุย ขอคำปรึกษาทั้งในเรื่องของการเรียน ตลอดจนการไต่ถามเรื่องสารทุกข์สุกดิบกันตลอด เมื่อกล่าวถึงในยุคต่อ ๆ มา เริ่มมีการพัฒนาการใช้งานเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น การศึกษาหาความรู้หรือข้อมูลจากหนังสือสามารถทำได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น นักศึกษาส่วนใหญ่จะเน้นการจับกลุ่มเพื่อช่วยกันศึกษาหาความรู้กันเอง ซึ่งข้อสงสัยหรือการซักถามที่จะเกิดขึ้นกับอาจารย์ผู้สอนจะน้อยลง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เทคโนโลยีเข้ามานั้นเป็นสิ่งที่ดีซึ่งส่งผลให้นักศึกษารู้เร็ว รู้ทัน สามารถศึกษาและทำความเข้าใจได้เอง แต่ในทางกลับกัน บางครั้งข้อมูลหรือสิ่งที่นักศึกษาได้ค้นคว้าหรือศึกษามาจากอินเตอร์เน็ตนั้นอาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด ดังนั้น บทบาทของอาจารย์ในยุคปัจจุบันจะต้องเป็นส่วนเพิ่มเติมความรู้ที่ถูกต้องและชัดเจนให้แก่บรรดานักศึกษา

            “การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ตัวเราเองในฐานะอาจารย์ก็ต้องมีการปรับตัว มีการเรียนรู้เพื่อให้เท่าทัน ซึ่งเราเองนั้นมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่มากกว่า เมื่ออ่านเจอเนื้อความหรือรายละเอียดของข้อมูลแล้วไม่ถูกต้อง หรือขาดตกบกพร่องตรงไหน เราจะต้องทำความเข้าใจ นำมาประยุกต์ใช้ และสั่งสอนนักศึกษาให้ใช้ได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น การถ่ายทอดความรู้สู่นักศึกษาจึงจะไม่เหมือนในสมัยก่อน ยกตัวอย่างเช่น สมัยก่อนสอนกันง่าย ๆ เราก็จะบอกว่า 1 + 1 = 2 จบเท่านั้น แต่ในปัจจุบันสิ่งที่เราต้องทำก็คือ การพยายามสอนวิธีคิด ฝึกให้นักศึกษาคิดเอง คิดว่ามีตัวเลขอะไรบ้างที่ทำให้มีผลลัพธ์ที่ได้เท่ากับ 2 ซึ่งนักศึกษาสามารถมีกรอบแนวคิดได้มากมาย ทำให้เกิดความหลากหลายในมุมมองและวิธีในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้สามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดในอนาคต” รศ.ดร.ภญ.บุษบา กล่าวถึงความแตกต่างของวิธีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักศึกษาจากอดีตสู่ปัจจุบัน

สวมหมวก 2 ใบ คุณภาพการทำงานต้องเต็ม 100%

         ปัจจุบันรับผิดชอบการปฏิบัติงานทั้งหมด 2 ส่วนด้วยกัน เหมือนกับการสวมหมวก 2 ใบ ในบทบาทการทำงานที่แตกต่างกัน บทบาทของความเป็นอาจารย์มีหน้าที่หลักก็คือ การสอนหนังสือ บทบาทงานบริหารก็เปรียบเสมือนงานเสริมเพิ่มขึ้นมา เมื่อลองนำมาคิดสัดส่วนก็อาจจะสามารถแบ่งออกเป็น งานสอน 60% งานบริหาร 40% ซึ่งจะต้องพยายามแบ่งรักษาสมดุลของคุณภาพและประสิทธิภาพของทั้งสองส่วนไม่ให้หย่อนด้อยไปกว่ากัน สำหรับบทบาทของอาจารย์ 60% นั้นไม่ได้แปลว่าคุณภาพการให้ความรู้แก่นักศึกษาจะลดเหลือเพียง 60% แต่คุณภาพและประสิทธิภาพด้านการสอนยังจะต้องเต็มที่ทั้ง 100% ทั้งนี้จากการที่เรามีความชำนาญและประสบการณ์ในเรื่องเหล่านั้นอยู่แล้ว การเตรียมการสอน ตลอดจนการศึกษาหาความรู้ก็จะสามารถใช้ช่วงเวลาที่น้อยลงหรือสั้นกว่าคนอื่นได้ ในส่วนของบทบาทด้านงานบริหาร 40% ก็ต้องทำงานอย่างเต็มความสามารถเช่นกัน เพื่อให้งานออกมามีทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพ ทั้งนี้การทำงานด้านการบริหารนั้นจะมีการปฏิบัติตนเองง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเราอยากให้ใครทำแบบไหนกับเรา เราก็พึงทำอย่างนั้นกับคนอื่น และต้องมีความเชื่อมั่นในความสามารถของแต่ละคน ทุก ๆ คนย่อมมีความสามารถที่ไม่เท่าเทียมกันซึ่งเราจะต้องยอมรับและให้โอกาสในการพัฒนาความสามารถ ถึงแม้ว่าไม่สามารถทำสิ่งนั้นได้ก็ไม่จำเป็นต้องไปดูถูกดูแคลน โดยส่วนตัวแล้วมีมุมมองว่า ทุก ๆ คนนั้นมีส่วนดีอยู่ในตนเอง เพียงแต่ว่าจะดีหรือถนัดในด้านไหนมากกว่ากัน

         รศ.ดร.ภญ.บุษบา กล่าวเพิ่มเติมถึงหลักในการทำงานว่า ในการทำงานนั้นจะต้องประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานซึ่งอาจจะประกอบด้วยหลาย ๆ ส่วนเกี่ยวข้องกัน บางครั้งเมื่อต้องทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกันกับบุคคลอื่น ถึงแม้จะมีการแบ่งงานกันทำ แบ่งความรับผิดชอบ ก็ย่อมจะต้องพบปัญหาขัดแย้งหรือโต้เถียงกันเป็นธรรมดา ในฐานะที่มีความอาวุโสกว่าก็จะพยายามเป็นผู้คอยไกล่เกลี่ย รับฟังปัญหาและพยายามหาทางแก้ไข เพื่อให้งานชิ้นนั้นประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ โดยส่วนตัวมีมุมมองสำหรับการทำงานแบบมุ่งเน้นเพื่อให้งานนั้นสามารถบรรลุผลลัพธ์สุดท้ายหรือความสำเร็จของงานเป็นที่ตั้ง แต่ทั้งนี้การทำงานทุก ๆ ครั้งจะยึดถือเอาประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ถึงแม้การทำงานนั้นจะมีใครให้ความร่วมมือมากบ้างน้อยบ้าง ก็จะต้องใช้ความอดทนอดกลั้น แต่ไม่ทิ้งงาน ไม่นิ่งเฉย ไม่ใช้อารมณ์ และพยายามทำงานนั้นจนกระทั่งสุดท้ายแล้วงานชิ้นนั้นบรรลุผลสำเร็จ ดังเช่นพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ว่า “การปิดทองหลังพระนั้นเมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนักเพราะว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้” ซึ่งเรายึดถือปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาล อีกทั้งด้วยความรักที่เรามีต่อคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณทั้งทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประเทศไทยซึ่งเราได้รับทุนการศึกษาเรียนต่อจนจบปริญญาเอกจากรัฐบาล เพราะฉะนั้น เราจึงรู้สึกว่าการทำงานทุก ๆ อย่างของเราจะต้องให้ผลลัพธ์สุดท้ายบรรลุถึงเป้าหมาย ประสบความสำเร็จเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น หรือมีคนให้ความร่วมมือน้อยแค่ไหนก็ตาม

Thailand 4.0 กับการปรับตัวของเภสัชกร

ยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเข้ามาพร้อมการพัฒนาการศึกษาหาความรู้ การใช้งานเทคโนโลยี และการปรับใช้นวัตกรรมต่าง ๆ บทบาทของเภสัชกรจึงเริ่มมีการปรับเปลี่ยนเรียนรู้และนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปฏิบัติงานประจำที่ทำซ้ำ ๆ ยกตัวอย่างเช่น การนำเทคโนโลยีของหุ่นยนต์มาช่วยในการจัดยา ซึ่งระบบหุ่นยนต์จัดยาจะทำการบรรจุยาแต่ละชนิด และติดฉลากโดยมีเภสัชกรคีย์คำสั่งใช้ยาตามใบสั่งยา จึงลดงานให้เภสัชกรได้ แต่ไม่แย่งงานของเภสัชกร เพราะการตรวจสอบความถูกต้องของใบสั่งยาและการจ่ายยานั้นยังคงเป็นหน้าที่ของเภสัชกรซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญด้านยา รู้จักลักษณะของเม็ดยา ตลอดจนคุณสมบัติต่าง ๆ เป็นอย่างดี ดังนั้น ถึงแม้จะมีหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปฏิบัติงานส่วนนี้ เภสัชกรก็ไม่ตกงาน แต่เภสัชกรจะเป็นสมองของหุ่นยนต์ เภสัชกรจะมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเพื่อให้การจ่ายยาในแต่ละครั้งนั้นเกิดความปลอดภัยและมีประโยชน์สูงสุดแก่คนไข้ เช่น ใบสั่งยาของคนไข้เพศหญิง อายุ 20 ปี ระบุคำนำหน้าเป็นนางสาว แต่ในใบสั่งยานั้นมียาชนิดหนึ่งห้ามรับประทานในสตรีตั้งครรภ์ ดังนั้น เพื่อความถูกต้องปลอดภัย เภสัชกรจะต้องมีการตรวจสอบโดยสัมภาษณ์คนไข้ว่าตั้งครรภ์หรือไม่ก่อนที่จะมีการจ่ายยาออกไป

            สำหรับการศึกษาหาความรู้หรือข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดของยาชนิดต่าง ๆ ทางอินเตอร์เน็ตถือว่าเป็นอีกช่องทางในการสืบค้นข้อมูลที่มีความสะดวกรวดเร็วที่สุด ดังนั้น สิ่งสำคัญที่เภสัชกรจะต้องคำนึงถึงก็คือ ต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านั้นเพื่อให้สามารถนำมาใช้งานได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น จากการสืบค้นข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตพบว่ามียากว่า 100 ชนิดที่ทำให้ไตวาย สิ่งที่สำคัญที่เภสัชกรต้องวิเคราะห์คือ ยาทั้ง 100 ชนิดนั้นทำให้ไตวายได้จริงหรือ? ทำให้เกิดไตวายได้อย่างไร? ในขนาดยาเท่าใด? ฯลฯ สุดท้ายแล้วเมื่อผ่านการวิเคราะห์และสังเคราะห์แล้ว เภสัชกรอาจจะพบว่ามียาเพียง 10 ชนิดเท่านั้นที่ทำให้ไตวาย

            “เทคโนโลยีมาพร้อมกับความสะดวก รวดเร็ว ทันใจ ง่ายดาย แต่ต้องมองว่าไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต การปรับตัวในการเรียนรู้และใช้งานเทคโนโลยีนั้นสามารถช่วยให้เราเพิ่มพูนความรู้ให้เท่าทันต่อเหตุการณ์ และพร้อมก้าวออกสู่สังคมถือเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการปฏิบัติงานของเภสัชกรนั้นจะต้องมีหัวใจของความเป็นเพื่อนมนุษย์ การให้บริการแก่คนไข้ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เสมือนว่าเขาคือคนในครอบครัวเดียวกันกับเรา” รศ.ดร.ภญ.บุษบา กล่าวทิ้งท้าย

            ท้ายสุดนี้ รศ.ดร.ภญ.บุษบา ได้ฝากถึงนักศึกษาและเภสัชกรทุกคนว่า อาจารย์นั้นคาดหวังให้ลูกศิษย์ทุก ๆ คนซึ่งจบไปเป็นเภสัชกรประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน สามารถรับใช้สังคม ดูแลตนเองได้ดี ดูแลครอบครัวได้ดี สิ่งสำคัญก็คือ สามารถดูแลประชาชนของประเทศไทยให้ดีด้วย สำหรับความคาดหวังที่มีต่อบทบาทวิชาชีพเภสัชกรรมนั้นก็คือ ได้รับการยอมรับในสังคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราสามารถเป็นหนึ่งในทีมที่ทำงานเคียงคู่กับแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทุก ๆ สาขา นอกจากนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตประเทศไทยจะสามารถพึ่งพาตนเองในเรื่องของยาและการผลิตยาได้มากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนภายในประเทศ