น้ำตาตกเมื่อใช้น้ำตาเทียมผิด

น้ำตาตกเมื่อใช้น้ำตาเทียมผิด

เชื่อหรือไม่ น้ำตาเทียมที่ดูเหมือนจะปลอดภัยแต่กลับแฝงไว้ด้วยอันตรายถ้าใช้ไม่ถูกต้อง โดยปกติแล้วน้ำตาเทียมเป็นเภสัชภัณฑ์ที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการตาแห้ง มีสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์น้ำตาเทียมที่มีขายในประเทศไทยในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ สารละลาย(มีทั้งแบบ multiple dose ที่ใส่สารกันเสีย และ unit dose ที่ไม่ใส่สารกันเสีย) เจล และขี้ผึ้ง ซึ่งแต่ละรูปแบบต่างก็มีจุดเด่นและจุดด้อยแตกต่างกันไป(1) โดยทั่วไปน้ำตาเทียมจะจัดอยู่ในหมวดยาแผนปัจจุบันชนิดยาใช้ภายนอก ไม่ได้อยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ ยาเสพติดหรือยาควบคุมพิเศษ แต่สำหรับบางชื่อการค้าจะจดทะเบียนเป็นยาใช้ภายนอกชนิดยาอันตราย(2)

ส่วนประกอบหลักของน้ำตาเทียมในรูปแบบสารละลายและเจล ได้แก่ สารช่วยหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา เช่น methylcellulose, carboxymethylcellulose, hydroxyethylcellulose, hydroxypropyl methylcellulose, dextran, polyvinyl alcohol, sodium hyaluronate, polyethylene glycol, carbomer เป็นต้น นอกจากนี้ยังประกอบด้วยบัฟเฟอร์เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงและควบคุมความเป็นกรด-ด่างของน้ำตาเทียมให้เข้ากับความเป็นกรด-ด่างของน้ำตา เช่น boric acid และ sodium borate สารปรับสภาพตึงตัวเพื่อปรับ osmolarity ของน้ำตาเทียมให้เข้ากับน้ำตา ที่นิยมใช้คือ sodium chloride สารอิเล็กโทรไลต์อื่น ๆ เพื่อทำให้น้ำตาเทียมมีสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตา เช่น calcium chloride, magnesium chloride, potassium chloride, sodium lactate เป็นต้น และสารกันเสีย เช่น benzalkonium chloride ส่วนน้ำตาเทียมรูปแบบขี้ผึ้งประกอบด้วยสารช่วยหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา เช่น lanolin, white petrolatum, mineral oil เป็นต้น และอาจใส่หรือไม่ใส่สารกันเสียในผลิตภัณฑ์(1,2)

รูปแบบของน้ำตาเทียม(2)

1. น้ำตาเทียมรูปแบบสารละลายชนิดขวด ขนาดบรรจุ 5, 15 และ 30 มิลลิลิตร

  • น้ำตาเทียมรูปแบบนี้จะเหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งเล็กน้อยและสะดวกใช้เป็นประจำ
  • มีราคาตามท้องตลาดถูกกว่ารูปแบบสารละลายชนิดแท่งใช้วันเดียวมาก
  • ใช้ง่ายกว่ารูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา ไม่เหนอะหนะ สามารถหยอดได้ในช่วงเวลากลางวันโดยไม่ทำให้ตาพร่ามัว แต่มีข้อเสียคือ ต้องใช้บ่อยกว่ารูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา
  • ใช้หยอดตาได้หลายครั้ง เนื่องจากมีสารกันเสียในตำรับ ทำให้สามารถใช้ได้นานประมาณ 1 เดือนหลังการเปิดขวดใช้ครั้งแรก
  • ใส่สารกันเสีย ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองตาได้ เนื่องจากสารกันเสียไปทำลายเซลล์เยื่อบุกระจกตา
  • หลังการเปิดใช้หยอดตาแต่ละครั้ง หากปิดขวดยาไม่สนิทหรือเก็บยาไม่มิดชิดอาจเกิดการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมได้ง่าย ในการใช้ยารูปแบบนี้จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการจัดเก็บและการใช้หยอดตาในครั้งถัดไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อที่ดวงตาติดตามมา

            2. น้ำตาเทียมรูปแบบสารละลายชนิดแท่งใช้วันเดียว หรือน้ำตาเทียมรายวัน (monodose eye drops) ขนาดบรรจุหลอดละ 0.3, 0.4 และ 0.8 มิลลิลิตร บรรจุตั้งแต่ 20-60 หลอดต่อ 1 กล่อง

  • น้ำตาเทียมรูปแบบนี้จะเหมาะกับผู้ที่มีประวัติการแพ้สารกันเสียในน้ำตาเทียมหรือต้องหยอดตาบ่อย ๆ เป็นเวลานาน เพราะการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารกันเสียติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการทำลายเซลล์เยื่อบุกระจกตาได้
  • มีราคาสูงกว่ารูปแบบแรก โดยภาชนะบรรจุน้ำตาเทียมรูปแบบนี้จะแบ่งบรรจุเป็นแท่งหรือหลอดเล็ก ๆ ทำให้สามารถแบ่งพกพาได้ตามจำนวนที่ต้องการใช้หยอดตา และสะดวกต่อการใช้งานในแต่ละวัน
  • ใช้ง่ายกว่ารูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา ไม่เหนอะหนะ สามารถหยอดได้ในช่วงเวลากลางวันโดยไม่ทำให้ตาพร่ามัว แต่มีข้อเสียคือ ต้องใช้บ่อยกว่ารูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา
  • การหยอดยาแต่ละครั้งจะได้ปริมาณน้ำตาเทียมเท่ากันของการหยอดแต่ละครั้ง
  • ไม่มีสารกันเสีย จึงมีอายุการใช้งานภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากเปิดใช้ครั้งแรก แต่มีข้อดีคือ ให้ความรู้สึกสบายตากว่า สามารถช่วยลดโอกาสตาแพ้สารกันเสียได้ (แต่ยังอาจแพ้สารเพิ่มความหนืดของน้ำตาเทียมได้อยู่) และมีโอกาสปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกภายนอกได้น้อยกว่า

            3. น้ำตาเทียมรูปแบบเจลและแบบขี้ผึ้งป้ายตา ขนาดบรรจุ 3.5 กรัม

  • มีความหนืดมากกว่าน้ำตาเทียมรูปแบบสารละลายชนิดขวดและชนิดแท่งใช้วันเดียว จึงทำให้ความถี่ในการใช้ยาน้อยกว่าทั้ง 2 รูปแบบดังกล่าว
  • ด้วยความที่มีความหนืดมากกว่า ทำให้น้ำระเหยช้าลงจึงช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตาได้นานกว่า จึงเหมาะสำหรับใช้ในผู้ที่มีอาการตาแห้งระดับปานกลางถึงรุนแรง
  • สามารถใช้ได้นานตามข้อกำหนดในเอกสารกำกับยาของแต่ละบริษัทยา แต่ต้องเก็บยาหลังการเปิดใช้ด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม
  • มักรบกวนการมองเห็นมากกว่าน้ำตาเทียม 2 รูปแบบแรก โดยอาจทำให้ตาพร่ามัวหลังหยอดหรือป้ายตาชั่วขณะ จึงแนะนำให้ใช้ในช่วงก่อนนอน ส่วนผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ไม่ควรใช้น้ำตาเทียมรูปแบบนี้ เพราะจะรบกวนการมองเห็นภาพและอาจทำให้คุณภาพของคอนแทคเลนส์ลดลงไป
  • ในสูตรตำรับอาจพบองค์ประกอบของ lanolin, white petrolatum หรือ mineral oil ซึ่งเป็นตัวช่วยทำให้ฟิล์มของน้ำตาเทียมรูปแบบขี้ผึ้งจับที่ผิวดวงตาได้นานขึ้น จึงให้ความรู้สึกเหนอะหนะที่ตา

อันตรายที่แฝงอยู่ในน้ำตาเทียม(1,3)

            สารกันเสียที่อยู่ในน้ำตาเทียมหรือยาหยอดตาชนิดอื่นสามารถทำให้เซลล์เยื่อบุกระจกตาถูกทำลาย โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ควรหลีกเลี่ยงน้ำตาเทียมที่มีสารกันเสียที่ทำให้เกิดการทำลายเซลล์เยื่อบุกระจกตาได้ เช่น benzalkonium chloride เนื่องจากคอนแทคเลนส์ดูดซับสารนี้ได้และทำให้เยื่อบุกระจกตาสัมผัสกับสารนี้เป็นเวลานาน จึงอาจทำลายเซลล์เยื่อบุกระจกตาได้ ดังนั้น จึงควรเลือกใช้น้ำตาเทียมที่ปราศจากสารกันเสียซึ่งเป็นชนิดที่บรรจุในภาชนะบรรจุแบบ unit dose หรือเลือกใช้น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสียชนิดที่เป็นพิษต่อเยื่อบุกระจกตาน้อย เช่น stabilized oxychloro complex, polyquaterium-1 สารประกอบระหว่าง boric acid, zinc, sorbital และ propylene glycol แต่หากจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมที่มี benzalkonium chloride ควรถอดคอนแทคเลนส์ออกก่อนหยอดน้ำตาเทียม และใส่คอนแทคเลนส์หลังจากหยอดตาเสร็จแล้วประมาณ 10 นาที

ผลข้างเคียงของน้ำตาเทียม(4)

            หากมีอาการแสบหรือระคายเคืองตาอย่างรุนแรงหลังจากที่ใช้น้ำตาเทียม มีความผิดปกติในการมองเห็น หรือมีอาการปวดตา ให้หยุดใช้น้ำตาเทียมในทันทีและควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

            โดยทั่วไปแล้ว ผลข้างเคียงจากการใช้น้ำตาเทียมที่พบบ่อย ได้แก่ มีอาการแสบหรือระคายเคืองตา ตาแฉะหรือน้ำตาไหล ตาแดงและมีอาการคัน มองเห็นได้ไม่ชัด และรู้สึกขมในคอ

            นอกจากนั้นหากมีสัญญาณของอาการแพ้ ได้แก่ หายใจลำบาก ลมพิษ และมีอาการบวมที่ใบหน้า ลิ้น ริมฝีปาก หรือคอ ควรรีบติดต่อขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน หรือรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

            ผลข้างเคียงที่รุนแรงอาจเกิดขึ้นได้หากใช้น้ำตาเทียมในปริมาณที่มากเกินกว่าที่แนะนำไว้ ดังนั้น ผู้ใช้ควรมีความรอบคอบและมีความระมัดระวังในการใช้ ที่สำคัญควรปฏิบัติตามที่แพทย์ได้แนะนำ หรือควรอ่านฉลากให้ละเอียดก่อนการใช้

เอกสารอ้างอิง

  1. จิรัชญา เตชะพิริยะกุล. “ตาแห้ง” กับน้ำตาเทียม. http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=14
  2. น้ำตาเทียม (Artificial tears) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ. https://medthai.com/น้ำตาเทียม/
  3. ระวัง! ยาหยอดตาและน้ำตาเทียมเป็นภัยต่อกระจกตามากที่สุด. https://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9590000053341
  4. น้ำตาเทียม ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย. https://www.pobpad.com/น้ำตาเทียม