APGAR แบบประเมินโรคหืดแบบใหม่ช่วยให้การรักษาโรคหืดดียิ่งขึ้น

APGAR แบบประเมินโรคหืดแบบใหม่ช่วยให้การรักษาโรคหืดดียิ่งขึ้น

         แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการนำเอาแบบประเมินต่าง ๆ เช่น asthma control test (ACT) หรือ asthma control questionnaire (ACQ) เข้ามาใช้ในการช่วยประเมินความรุนแรงและระดับการควบคุมโรคหืด แต่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าแบบประเมินเหล่านี้จะสามารถช่วยทำให้ผลการรักษาโรคหืดดีขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ Barbara P Yawn และคณะผู้วิจัยจาก Olmsted Medical Center รัฐมินนิโซตา จึงคิดสร้างแบบประเมินโรคหืดใหม่ขึ้นเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม เรียกว่า APGAR assessment tool ซึ่งประกอบด้วย Activities, Persistence, triGGers, Asthma medications และ Response to therapy

            Activities: เป็นคำถามเกี่ยวกับอาการหายใจผิดปกติในระหว่างการทำกิจกรรมต่าง ๆ ว่ามีน้อย (never) บางครั้ง (1-2 ครั้ง) หรือบ่อย (ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป) ในรอบ 2 สัปดาห์

            Persistence: เป็นคำถามเกี่ยวกับจำนวนวันและจำนวนคืนในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผู้ป่วยโรคหืดจำเป็นต้องใช้ยาขยายหลอดลมเพื่อบรรเทาอาการของโรคหืดตั้งแต่ไม่มีเลย (none) มี 1-2 วัน หรือตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป

            Triggers: เป็นคำถามเกี่ยวกับปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการว่าผู้ป่วยทราบหรือไม่ และมีอะไรบ้าง เช่น บุหรี่ ควัน อากาศเย็น การป่วยเป็นไข้หวัด การออกกำลังกาย ฝุ่น ดอกไม้ สุนัขหรือแมว รา ฯลฯ รวมถึงถามว่าสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านี้ได้หรือไม่ (น้อย, บางครั้ง, หรือเป็นส่วนใหญ่)

            Asthma medications: เป็นคำถามเกี่ยวกับรายการยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่ปัจจุบันรวมถึงความสม่ำเสมอในการใช้ยาแต่ละชนิดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

            Response to therapy: เป็นคำถามเกี่ยวกับการตอบสนองต่อการรักษาภายหลังการใช้ยารักษาโรคหืดต่าง ๆ

            คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการนำเอาแบบสอบถามนี้มาใช้ในกระบวนการรักษาผู้ป่วยโรคหืด โดยมีเป้าหมายในการวัดผลหลักคือ ระดับการควบคุมอาการของโรคหืดและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเมื่อเริ่มการวิจัย และที่ 6 และ 12 เดือนหลังเริ่มการวิจัย ส่วนการวัดผลรอง ได้แก่ จำนวนครั้งของการเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินหรือเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากการกำเริบของโรคหืด มีอาสาสมัครเข้าร่วมในการวิจัยทั้งหมด 1,066 ราย ซึ่งหลังจากใช้แบบประเมินเพื่อเป็นแนวทางในการปรับการรักษาไปแล้ว 6 เดือน พบว่าอาสาสมัครที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวมีจำนวนครั้งของการต้องมาพบแพทย์ด้วยปัญหาโรคหืดลดลงจาก 17.5% เหลือ 10.6% ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้ใช้แบบประเมินมีจำนวนครั้งของการมาพบแพทย์ที่มากขึ้นเล็กน้อยคือ จาก 15.9% เป็น 20.9% แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และเมื่อทำการวิเคราะห์โดยตัดปัจจัยในแง่ของอายุ เพศ เชื้อชาติ รายได้ ประวัติการรักษา และความแตกต่างในแง่เวชปฏิบัติโดยแพทย์แล้ว กลุ่มที่ไม่ได้ใช้แบบประเมิน APGAR ยังคงมีจำนวนครั้งของการต้องมาพบแพทย์ด้วยโรคหืดที่มากกว่ากลุ่มที่ใช้แบบประเมินถึง 2 เท่า และเมื่อทำการศึกษาครบ 12 เดือน อาสาสมัครในกลุ่มที่ได้รับการประเมินโดยใช้ APGAR สามารถควบคุมอาการของโรคหืดได้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญคือ จาก 40.8% เป็น 54.3% ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้ใช้แบบประเมินมีการควบคุมโรคหืดได้ดีขึ้นจาก 42.6% เป็น 46.0% ซึ่งไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ

            ผู้วิจัยกล่าวเสริมอีกด้วยว่า แม้ว่าแพทย์และพยาบาลที่ได้นำเอาวิธีการประเมินแบบใหม่ไปใช้จะรู้สึกว่าต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นในการเรียนรู้และทำความคุ้นเคยกับการประเมิน แต่ก็ใช้เวลาในการสร้างความคุ้นเคยไม่มากนัก ดังนั้น เชื่อว่าแบบประเมินนี้น่าจะเป็นประโยชน์ที่จะช่วยทำให้การรักษาผู้ป่วยโรคหืดดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้แพทย์และพยาบาลในการศึกษานี้ยังคงเชื่อว่าการประเมินด้วยวิธีนี้จะยังไม่สามารถทดแทนแนวทางการรักษาผู้ป่วยที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมดได้