เด็ก “แพ้นมวัว” ผู้ปกครองพึงระวัง เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

เด็ก “แพ้นมวัว” ผู้ปกครองพึงระวัง เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

            แม้นมวัวจะอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย และมีส่วนช่วยในกระบวนการสร้างความเจริญเติบโตให้แก่ลูกน้อย แต่ทราบหรือไม่ว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีอาการแพ้นมวัว บางรายแพ้รุนแรงจนอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและถึงแก่ชีวิตได้ ผู้ปกครองควรรู้ถึงสาเหตุและวิธีป้องกันและรับมือ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุร้ายกับลูกรักได้                                                   

พญ.ฉัฐฐิมา เสาวภาคย์ กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และหอบหืด โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า ปัจจุบันสถิติอัตราการเกิดของทารกแรกเกิดในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 8 แสนคนต่อปี การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน มีเพียงร้อยละ 20 เพราะฉะนั้น จะมีเด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยนมวัวประมาณ 6 แสนคน และมีเด็กแพ้นมวัวสูงถึงปีละ 20,000 ราย โรคแพ้โปรตีนนมวัวมีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเห็นโปรตีนในนมวัวเป็นสิ่งแปลกปลอมและพยายามกำจัดออก ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ จนเด็กไม่สบาย สามารถพบอาการได้ในหลายระบบของร่างกาย ได้แก่ ระบบทางเดินอาหาร ระบบผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ โดยมาจากการแพ้โปรตีนในนมวัว ทั้งยังเป็นผลพวงมาจากพันธุกรรม เช่น หากทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ หรืออาจไม่ต้องเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดเดียวกันก็ได้ เช่น คนหนึ่งเป็นโรคหืด คนหนึ่งเป็นผื่นแพ้ ลูกก็มีโอกาสเกิดการแพ้ได้มากกว่าการมีพ่อหรือแม่แพ้เพียงคนเดียว และเด็กที่แพ้โปรตีนนมวัวมักมีโอกาสที่จะแพ้อาหาร ยา สารต่าง ๆ ได้สูงกว่าคนทั่วไป เมื่อโตขึ้นเด็กกลุ่มที่แพ้โปรตีนนมวัวอาจเป็นผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบหรือเป็นโรคหืด ภูมิแพ้จมูกได้

สำหรับอาการแพ้โปรตีนนมวัวมักเกิดในช่วงแรกของชีวิต คือหลังจากที่เด็กได้รับนมวัวจะมีอาการแพ้เกิดขึ้น ซึ่งมีรูปแบบและระยะเวลาในการเกิดอาการแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. อาการเกิดแบบรวดเร็ว (Rapid onset) โดยเกิดอาการขึ้นทันทีหลังได้กินนมวัวเข้าไป คือเด็กจะมีอาการกระสับกระส่าย อาเจียน หายใจหอบ มีเสียงวี้ด มีอาการบวม เกิดลมพิษและคันตามตัว ท้องเสียและถ่ายเป็นเลือด  2. อาการเกิดแบบช้า (Delayed หรือ Slower onset) คือ เกิดอาการแพ้แบบค่อยเป็นค่อยไป อาจเกิด 7-10 วันภายหลังจากได้รับนมวัว อาการที่พบส่วนใหญ่จะใกล้เคียงกับแบบที่เกิดอาการแบบรวดเร็ว โดยจะมีอาการท้องเสียถ่ายเหลว อาจมีเลือดปนมากับอุจจาระ อาเจียน ไม่อยากอาหาร หงุดหงิด ปวดท้องหรือมีอาการทางผิวหนัง เป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เริ่มที่อายุประมาณ 2 เดือน สำหรับวิธีการรักษาเด็กแพ้โปรตีนนมวัวคือ ควรให้เด็กหลีกเลี่ยงนมวัวและอาหารที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบ แต่เด็กก็ยังต้องการโปรตีนและแคลเซียมเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ผู้ปกครองอาจใช้นมชนิดอื่นหรืออาหารอื่นมาทดแทนนมวัว อาหารที่สำคัญสำหรับเด็กคือ การให้นมแม่จะดีที่สุด แต่ถ้าเด็กไม่สามารถกินนมแม่ได้อาจจะต้องใช้นมพิเศษ หรือนมที่มีการปรับเปลี่ยนกรดอะมิโน โดยควรใช้ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์ หากเด็กมีอาการแพ้โปรตีนนมวัวแบบรวดเร็วต้องได้รับยาเอพิเนฟรีน (Epinephrine) ทันที และรีบพามาพบแพทย์โดยด่วน ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาและดูแลอาการผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เด็กที่แพ้โปรตีนนมวัวที่มีอาการแบบรวดเร็วควรต้องมีการพกยาฉีดเอพิเนฟรีนติดตัวไว้ ในเด็กที่มีอาการแพ้อาหารที่มีส่วนประกอบของนมวัว เด็กอาจมีอาการเมื่อไปสัมผัสส่วนประกอบของอาหารโดยไม่ตั้งใจ ต้องมีการฝึกฝนให้ฉีดยานี้ได้ ในกรณีที่เด็กกินนมแม่ก็ให้กินต่อไป โดยที่คุณแม่ต้องงดกินนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวทุกชนิดในระหว่างที่ให้นมลูก และไม่แนะนำดื่มนมถั่วเหลืองแทนนมวัวเพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน เนื่องจากในเด็กบางรายก็อาจมีอาการทั้งแพ้โปรตีนนมวัวและแพ้โปรตีนนมถั่วเหลืองได้ คุณพ่อคุณแม่ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์

            เด็กที่แพ้โปรตีนจากนมวัวมีโอกาสหายจากอาการแพ้ได้ตามช่วงอายุคือ ร้อยละ 45-56 อาการจะหายไปเมื่ออายุ 1 ปี, ร้อยละ 60-77 อาการจะหายไปเมื่ออายุ 2 ปี, ร้อยละ 84-87 อาการจะหายไปเมื่ออายุ 3 ปี และร้อยละ 90-95 อาการจะหายไปเมื่ออายุ 5-10 ปี อย่างไรก็ตาม การพาเด็กมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและหาอาการแพ้โปรตีนจากนมวัวนับว่าเป็นสิ่งที่ดี เพื่อผู้ปกครองจะได้รู้เท่าทันและรักษาได้อย่างต่อเนื่อง ให้ลูกรักเติบโตและแข็งแรงอย่างปลอดภัย