จับตาร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ รอบครึ่งปี พ.ศ. 2561

จับตาร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ รอบครึ่งปี พ.ศ. 2561

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

            ปีนี้เป็นปีที่ต้องมีการรีบผลักดันร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ให้เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติอย่างรวดเร็ว ก่อนที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะประกาศยุติการบริหารและให้มีการจัดการเลือกตั้ง ร่างกฎหมายที่ต้องจับตาที่นำเสนอในครั้งนี้เป็นร่างกฎหมายที่มีการผลักดันมานาน แต่ไม่คืบหน้าเสียที ขณะนี้มีความคืบหน้าที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

            ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้รับหลักการแล้วเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2561 และสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561[1]

            ประเด็นที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับวงการยาในขณะนี้คือ กฎหมายนี้จะพยายามปลดอุปสรรคจากกฎหมายเดิมโดยให้สามารถนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หรือเพื่อการวิจัยในมนุษย์ได้ แต่จะต้องมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยสาขาเวชกรรมไทย หรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัย ซึ่งจะต้องมีประกาศฉบับนี้ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับ[2] การโฆษณาวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและยาเสพติดให้โทษบางรายการต้องติดตามว่าจะมีการเปิดช่องให้โฆษณาได้มากน้อยเพียงใด[3] การกำหนดให้ท้องที่ใดสามารถเสพกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิด[4] ซึ่งประเด็นนี้มีความเห็นว่าหากต้องการประกาศให้การเสพกระท่อมไม่เป็นความผิด ไม่ควรกำหนดเฉพาะบางพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนบางพื้นที่ และอาจขัดรัฐธรรมนูญได้ นอกจากนี้การเสพโดยไม่มีความผิดนั้นไม่ควรคำนึงถึงเฉพาะทางด้านการแพทย์เท่านั้น แต่ควรคำนึงถึงจารีตประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมด้วย เพราะตามหลักสิทธิมนุษยชนนั้น การปฏิบัติตามจารีตประเพณีที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ใด ประชาชนย่อมมีสิทธิทำได้

 

         ร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. .... อยู่ระหว่างรอเข้าสู่การพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติในชั้นรับหลักการ[5] กฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายปลายทางเพื่อให้มีการเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ให้มีปริมาณวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการ มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการเสริมภูมิคุ้มกันโรคเพื่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน

            ประเด็นที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับวงการยาคือ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือมีเหตุจำเป็น เพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อป้องกัน ควบคุม รักษา หรือลดความรุนแรงของโรค หรือเพื่อความมั่นคงของประเทศ ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มีอำนาจประกาศกำหนดเรื่องหนึ่งเรื่องใดดังต่อไปนี้ คือ การผลิตวัคซีนตามชนิดและปริมาณที่กำหนด สัดส่วนการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ซึ่งต้องเหมาะสมกับสัดส่วนการใช้วัคซีนภายในประเทศ การประกันหรือการควบคุมคุณภาพวัคซีน การจัดหา การบริหารจัดการ การกระจาย การให้บริการวัคซีน หรือการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่เหมาะสม เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องกับเหตุฉุกเฉินหรือเหตุจำเป็นในกรณีที่ไม่อาจขอความเห็นจากคณะกรรมการได้ทันต่อสถานการณ์ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไปก่อน แล้วดำเนินการเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อให้ความเห็นชอบภายใน 3 วันทำการ หากไม่ได้ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดหรือคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติไม่ให้ความเห็นชอบ ให้การประกาศดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุดลง และให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ นอกจากนี้เมื่อเหตุฉุกเฉินหรือเหตุจำเป็นสิ้นสุดลงแล้ว ให้รัฐมนตรียกเลิกประกาศได้ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

            สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ได้กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หลักการเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล และกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงบประมาณ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานศาลยุติธรรม เกี่ยวกับความชัดเจนของคำนิยาม การบังคับใช้กับหน่วยงานของรัฐ การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ การกำหนดวิธีการเกี่ยวกับการทำลายข้อมูลการขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปี ลักษณะต้องห้ามของประธาน กรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ การดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการ เบี้ยประชุมอนุกรรมการและกรรมการผู้เชี่ยวชาญ การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่มีมาตรฐานในการบังคับใช้เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การเตรียมความพร้อมรองรับของทุกภาคส่วนและประชาชน สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิอุทธรณ์ที่ไม่รับเรื่องร้องเรียนของเจ้าของข้อมูลต่อศาล และปัญหาการใช้สิทธิร้องเรียนตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป[6]

            การเก็บข้อมูลส่วนบุคคล จะต้องแจ้งรายละเอียดต่าง ๆ เช่น วัตถุประสงค์ ข้อมูลที่จะเก็บ ประเภทบุคคลหรือหน่วยงานที่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ ห้ามเก็บข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล เว้นแต่กรณีเพื่อป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพของบุคคล เป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะด้วยความยินยอมโดยตรงหรือโดยปริยายของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายหรือการใช้อำนาจรัฐของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ห้ามเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่จากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลโดยตรง เว้นแต่เข้าข้อยกเว้น เช่น เป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ห้ามมิให้เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ หรือข้อมูลอื่นใดซึ่งกระทบความรู้สึกของประชาชนตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล[7]

            ร่างพระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีการรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ ระหว่างวันที่ 1 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561[8]

            สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นการแก้ไขพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เมื่อพิจารณาแล้วพบว่าส่วนหนึ่งเป็นการนำเนื้อหาจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 77/2559 เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในการแก้ไขกฎหมาย ประกอบด้วย แก้ไขเพิ่มเติมนิยาม “กระบวนการพิจารณาอนุญาต” “ผู้เชี่ยวชาญ” “องค์กรผู้เชี่ยวชาญ” “หน่วยงานของรัฐ” “องค์กรเอกชน” (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4) กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีอำนาจขึ้นบัญชีผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำหน้าที่ในการประเมินเอกสารทางวิชาการ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการ หรือการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหาร (เพิ่มมาตรา 13/1 ในหมวด 1/1) กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการอาหารมีอำนาจประกาศกำหนดเกี่ยวกับการได้มาซึ่งผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ อัตราค่าขึ้นบัญชีสูงสุดและค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดและค่าใช้จ่ายที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร (เพิ่มมาตรา 13/2 ในหมวด 1/1) กำหนดให้คณะกรรมการอาหารมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการได้มาซึ่งผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ อัตราค่าขึ้นบัญชีสูงสุดและค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดและค่าใช้จ่ายที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร (เพิ่มมาตรา 13/3 ในหมวด 1/1) กำหนดให้ค่าขึ้นบัญชีและค่าใช้จ่ายที่จัดเก็บเป็นเงินของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และจ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ที่กำหนด (เพิ่มมาตรา 13/4 ในหมวด 1/1) กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับและจ่ายเงิน (เพิ่มมาตรา 13/5 ในหมวด 1/1)

            ประเด็นอื่นที่มีการแก้ไข เช่น

            (1)  การรายงานข้อมูลเกี่ยวกับอาหาร โดยให้ผู้รับอนุญาตผลิตเพื่อการส่งออกต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับอาหารนั้นให้ผู้อนุญาตทราบ รวมทั้งจัดเก็บเอกสารหรือหลักฐานเกี่ยวกับข้อกำหนดของประเทศผู้ซื้อหรือผู้สั่งซื้อ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 24)

            (2) การโฆษณาอาหาร แก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตอาหารท้ายพระราชบัญญัติ ฉบับละ 5,000 บาท แก้ไขเพิ่มเติมข้อความที่ห้ามโฆษณา (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 40) ซึ่งเพิ่มความชัดเจนในเรื่องข้อห้ามการโฆษณาอาหารจากเดิมซึ่งอาจเป็นแค่ประกาศเท่านั้น กล่าวคือ การโฆษณาอาหารต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือลักษณะของอาหาร ซึ่งมีลักษณะดังนี้ คือ ข้อความที่เป็นความเท็จหรือเกินความจริง ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับอาหาร ไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม ข้อความที่แสดงสรรพคุณอันทำให้เข้าใจว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคหรืออาการของโรค ข้อความที่ทำให้เข้าใจว่ามีสรรพคุณบำรุงกาม หรือเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน ข้อความที่จะทำให้เข้าใจว่ามีวัตถุใดในอาหารหรือเป็นส่วนประกอบของอาหาร ซึ่งความจริงมีวัตถุหรือส่วนประกอบนั้นในอาหารไม่เท่าที่ทำให้เข้าใจตามที่โฆษณา ข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือไม่เข้าใจลักษณะหรือวิธีการบริโภคอาหาร ข้อความที่เป็นการรับรองหรือยกย่องคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หรือผู้ที่อ้างหรือแสดงตนเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ข้อความอย่างอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการอาหาร อย่างไรก็ตาม ข้อความที่ใช้ในการโฆษณาที่บุคคลทั่วไปสามารถรู้ได้ว่าเป็นข้อความที่ไม่อาจเป็นความจริงได้โดยแน่แท้ ไม่เป็นข้อความที่ต้องห้ามในการโฆษณา อีกทั้งกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาต การออกใบอนุญาต และอายุของใบอนุญาตโฆษณาอาหาร (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41) ตลอดจนเพิ่มโทษหากฝ่าฝืนเรื่องการโฆษณา กล่าวคือ หากฝ่าฝืนมาตรา 40  จากเดิมต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต เดิมปรับไม่เกิน 5,000 บาท เปลี่ยนเป็นปรับไม่เกิน 100,000 บาท

            (3)  การจัดการของกลางที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งทำลายหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดกับของกลางที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายตามที่เห็นสมควร โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการอาหารกำหนด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 44)

            (4) การเปรียบเทียบปรับ หากความผิดกรณีที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดได้ จากเดิมให้เปรียบเทียบปรับเฉพาะความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 75)

[1]

                  [1] สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (2561). การรับฟังความคิดเห็นเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ พ.ศ. .... สืบค้นจาก http://www.senate.go.th/w3c/senate/secretariat.php?url=content&id=844

[2]

                  [2] ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 57

[3]

                  [3] ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 36 วรรคสอง

[4]

                  [4] ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 59

[5]

                  [5] ดู http://www.senate.go.th/bill/bk_data/387-1.pdf

[6]

                  [6] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (2561). มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล. สืบค้นจาก https://cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=99328632

[7]

                  [7] ดูร่างกฎหมายได้ที่ https://ictlawcenter.etda.or.th/de_laws/download_file/3_Draft_DP.pdf

[8]

                  [8] ดูที่ http://www.lawamendment.go.th/index.php/laws-department/item/1241-2018-05-01-03-41-03