ทิศทางของกฎหมายพืชกระท่อมและกัญชาจะเป็นอย่างไร

ทิศทางของกฎหมายพืชกระท่อมและกัญชาจะเป็นอย่างไร

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

            ภายหลังที่มีกระแสจากต่างประเทศปลดล็อกความเข้มงวดของกฎหมายที่ควบคุมกัญชาเพื่อเปิดโอกาสให้นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มากขึ้น แต่ในขณะที่กฎหมายในประเทศไทยกำหนดให้เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการวิจัยและใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ หลายภาคส่วนจึงมีความพยายามผลักดันให้รัฐบาลมีมาตรการแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกสามารถให้นำพืชนั้นมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้

ทบทวนปัญหาของกฎหมายในปัจจุบันโดยสังเขป

            ปัจจุบันพืชกระท่อมและกัญชาถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ส่งผลให้การผลิต (ซึ่งรวมถึงการเพาะปลูก) การจำหน่าย การนำเข้า การส่งออก จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเป็นราย ๆ ไป ส่งผลให้เป็นอุปสรรคต่อการวิจัย การวิจัยสามารถดำเนินการได้อย่างล่าช้า บางกรณี เช่น การวิจัยพืชกระท่อมนักวิจัยของไทยต้องไปทำวิจัยร่วมกับต่างชาติซึ่งมีอุปสรรคด้านการวิจัยน้อยกว่า จนกระทั่งต่างชาติสามารถจดสิทธิบัตรอนุพันธ์ของสารไมทราไจนีน (mitragynine)

            เมื่อถึงขั้นตอนการนำมาทดลองใช้ในมนุษย์ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจะเป็นการเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยฝ่าฝืนกฎหมาย และไม่สามารถพัฒนาเป็นยาได้ ปิดโอกาสพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งปิดโอกาสการนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในตัว

การปรับปรุงกฎหมายในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนใด

            ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่เป็นความหวังเพื่อผ่อนคลายความเข้มงวดในการควบคุมพืชกระท่อมและกัญชา ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2561 แต่ขณะนี้กลับไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ทำให้หลายภาคส่วนที่สนับสนุนให้มีการนำพืชกระท่อมและกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เกิดความกังวลว่าร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดอาจพิจารณาให้แล้วเสร็จไม่ทันในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งต่อไป ทำให้ร่างกฎหมายนี้ไม่ได้รับการสานต่อในสมัยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้

คำสั่งหัวหน้า คสช. กับการปลดล็อกพืชกระท่อมและกัญชา

            เมื่อการแก้ไขร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้ภาคีเครือข่ายวิชาการศึกษาพืชกระท่อมและกัญชาเกิดแนวคิดเสนอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคําสั่งโดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มีประเด็นเสนอให้ออกคำสั่งเพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

            1. ไม่ให้พืชกระท่อมและกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อีกต่อไป

2. ต้องสามารถเสพพืชกระท่อมและกัญชาเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย หรือเพื่อการรักษาผู้ป่วยที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพืชกระท่อมและกัญชา ซึ่งขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณแล้ว หรือเป็นการรักษาผู้ป่วยตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือการผลิตยาของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมตามใบสั่ง รวมทั้งตามใบสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยด้านเวชกรรมไทย หรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือการผลิตยาของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยด้านเภสัชกรรมไทยตามใบสั่ง

3. การกำหนดพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย การใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมหรือกัญชาในทางการแพทย์และสุขภาพ และการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกำหนดเขตพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใด เพื่อการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) ทดลอง เพาะปลูกกัญชาและพืชกระท่อม

            (2) ผลิต ทดสอบเกี่ยวกับกัญชา พืชกระท่อม และสารสำคัญจากกัญชาหรือพืชกระท่อม

            (3) กำหนดวิธีการ ขั้นตอนในการเสพหรือครอบครองกัญชา พืชกระท่อม และสารสำคัญจากกัญชาหรือพืชกระท่อม ตามประเภทและปริมาณที่กำหนด

            การกำหนดพื้นที่และการกระทำการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และประกาศดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ มีมาตรการควบคุมและตรวจสอบการกระทำดังกล่าวด้วย โดยผู้รับอนุญาตจะต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ สถาบันอุดมศึกษา หรือนิติบุคคลที่ได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

นอกจากนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีอำนาจดำเนินการตามที่กำหนด รวมถึงการขนส่ง ทำลาย หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับกัญชา พืชกระท่อม และสารสำคัญจากกัญชาและพืชกระท่อม โดยต้องจัดทำรายงานเสนอคณะกรรมการทุก 6 เดือน      

4. ยกเว้นความผิดกรณีเพาะปลูกและครอบครองพืชกระท่อมและกัญชา รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยาที่ทำจากพืชกระท่อมและกัญชาของผู้ป่วย และของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำหนด

            ทางด้านสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ให้ข้อมูลว่าการแยกเรื่องใดที่จะใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. นั้นให้คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ และต้องการให้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าถึงผู้ป่วยที่ต้องการใช้สารจากกัญชาในการรักษาโรคอย่างแท้จริง ส่วนพืชกระท่อมนั้นยังไม่พิจารณา เพราะยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์มารองรับอย่างเป็นทางการ[1]

            ท้ายที่สุดแล้ว การปลดล็อกพืชกระท่อมและกัญชาเพื่อจะนำมาใช้ประโยชน์ด้านการวิจัยและด้านการแพทย์จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เกิดขึ้นในรูปแบบใด จะต้องติดตามต่อไป

[1]

                  [1] มติชน. ‘บิ๊กจิน’ เร่งเคลียร์ปม ม.44 ปลดล็อกกัญชาทดลอง-รักษาผู้ป่วย. ฉบับวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2561 หน้า 3