เปิดมิติใหม่ของการซ่อมแซมบาดแผลด้วยกลไกธรรมชาติ

อ.นพ.สันติ สิลัยรัตน์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

เปิดมิติใหม่ของการซ่อมแซมบาดแผลด้วยกลไกธรรมชาติ

            เป็นที่น่าสังเกตว่าในกรณีที่เกิดบาดแผลขึ้นในช่องปาก บาดแผลเหล่านี้มักจะหายกลับเป็นปกติได้อย่างรวดเร็วซึ่งต่างจากบาดแผลในบริเวณอื่น เช่น ที่บริเวณผิวหนังที่ใช้เวลานานกว่ามาก จึงมีการสร้างสมมติฐานว่าเซลล์ของเนื้อเยื่อในช่องปากนั้นน่าจะมีสารหรือโมเลกุลบางอย่างที่ทำให้มีความพร้อมสำหรับการซ่อมแซมบาดแผลอยู่ตลอดเวลา กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จึงเริ่มเกิดแนวคิดที่จะค้นหากลไกที่สำคัญนี้เพื่อที่จะนำเอากลไกเดียวกันนี้มาใช้เพื่อช่วยเร่งการซ่อมแซมบาดแผลที่ผิวหนังซึ่งจะช่วยลดการเกิดรอยแผลเป็นลงได้

            Ramiro Iglesias-Bartolome และคณะผู้วิจัยจาก National Institute of Arthritis and Musculoskeletal and Skin Diseases, National Institute of Health ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับกลไกการซ่อมแซมบาดแผลที่เกิดขึ้นภายในช่องปากของอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 30 ราย โดยการสร้างบาดแผลในช่องปากและที่ผิวหนังพร้อมกันแล้วติดตามดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันเป็นเวลา 6 วัน ซึ่งผลการศึกษาวิเคราะห์พบว่าแผลในช่องปากนั้นมีกระบวนการซ่อมแซมบาดแผลที่เร็วกว่าแผลบริเวณผิวหนังอย่างชัดเจน และจากการวิเคราะห์ทางชีวเคมีและเนื้อเยื่อก็พบว่าเซลล์ของเนื้อเยื่อที่ช่องปากมีรูปแบบของ gene expression บางชนิดที่ทำให้เกิดกลไก downregulation ของกระบวนการอักเสบในขณะที่เซลล์ของเนื้อเยื่อที่ผิวหนังไม่มีกลไกดังกล่าวนี้ จึงทำให้ที่ผิวหนังมีการอักเสบต่อเนื่องนานกว่าและมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นที่มากกว่า นอกจากนี้ยังมี gene บางกลุ่มที่เป็น transcription factors เช่น sex-determining region Y-box 2 (SOX2) และ paired-like homeodomain 1 (PITX1) เพิ่มขึ้นซึ่งทำให้กระบวนการซ่อมแซมบาดแผลเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย ซึ่งเมื่อทำการพิสูจน์โดยการเพาะพันธุ์หนูทดลองที่ได้รับการปรับพันธุกรรมให้มี SOX2 เพิ่มมากขึ้น ก็พบว่าหนูเหล่านี้สามารถซ่อมแซมบาดแผลที่เกิดขึ้นบนผิวหนังได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

            ผู้วิจัยกล่าวว่า ผลการศึกษาที่ออกมาเป็นการพิสูจน์แนวคิดที่ว่าบาดแผลบริเวณผิวหนังสามารถเกิดกระบวนการซ่อมแซมที่รวดเร็วเหมือนกับบาดแผลที่เกิดขึ้นในช่องปากได้หากสามารถใช้ยาหรือวิธีการเพื่อปรับเปลี่ยนกลไกการอักเสบและซ่อมแซมให้เหมือนกับเซลล์ของช่องปาก ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการนำไปรักษาโรคที่ทำให้เกิดบาดแผลเรื้อรังหายได้ช้าหรือหายยาก เช่น แผลที่เกิดในผู้ป่วยเบาหวาน

            Andrew Boulton ศาสตราจารย์จาก University of Manchester, United Kingdom และ visiting professor ของ University of Miami กล่าวให้ความเห็นเกี่ยวกับการค้นพบนี้ว่า เป็นการค้นพบที่สำคัญและถือเป็นความก้าวหน้าที่ดีมากอย่างหนึ่งและน่าจะเป็นหนทางของการรักษาบาดแผลที่มีประสิทธิภาพมากในอนาคต อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยที่เกิดแผลที่เท้าเรื้อรังเนื่องจากเป็นเบาหวาน นอกเหนือไปจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการซ่อมแซมบาดแผลให้หายโดยเร็วแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องคำนึงถึงที่อาจจะเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถใช้วิธีนี้ในการรักษาให้ได้ผล เช่น การที่ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมีความผิดปกติของเส้นประสาทรับความรู้สึกที่เป็นภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน (diabetic neuropathy) ทำให้ผู้ป่วยมักจะไม่รับรู้ถึงการเกิดบาดแผลหรือการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นที่เท้า ทำให้เกิดรอยแผลซ้ำที่บริเวณเดิมและไม่สามารถซ่อมแซมอย่างสมบูรณ์ได้ และอีกประการหนึ่งคือ การซ่อมแซมบาดแผลมักจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่าหากรอยแผลอยู่ในบริเวณของร่างกายที่ไม่จำเป็นต้องรับน้ำหนัก ซึ่งในกรณีของผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า บาดแผลส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณที่ต้องรับน้ำหนัก ทำให้การซ่อมแซมบาดแผลอาจเกิดขึ้นได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น จึงควรมีการพิจารณาประเด็นเฉพาะในด้านต่าง ๆ เหล่านี้เอาไว้ด้วย