ไวรัส Herpes สัมพันธ์กับโรคอัลไซเมอร์

ผศ.ดร.นพ.ประกอบ ผู้วิบูลย์สุข

ไวรัส Herpes สัมพันธ์กับโรคอัลไซเมอร์

            โรคหลายชนิดในอดีตเราคิดว่าเป็นความผิดปกติของร่างกายหรืออวัยวะที่เป็นไปเอง รวนไปเอง หรือเป็นจากกรรมพันธุ์ ที่เมื่อสวิตช์ของโรคเปิดทำงานก็เริ่มเป็นโรคนั้น ๆ ขึ้นมา

            แต่หลัง ๆ มาเรามีข้อมูลหรือหลักฐานยืนยันมากขึ้นว่า บางโรคนั้นมิใช่ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์หรือการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย แต่เป็นเพราะเชื้อโรค โดยเฉพาะไวรัส อาทิ ไวรัสอย่างไวรัสตับอักเสบก็เป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งตับ หรือเชื้อ H. pylori หนึ่งในต้นเหตุโรคแผลกระเพาะอาหาร (peptic ulcer) ก็ยอมรับกันแล้วว่าเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุใหญ่

            มาถึงโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ก็เช่นกัน

            อย่างน้อย 30 ปีที่ผ่านมา มีรายงานออกมาเรื่อย ๆ ว่า โรคอัลไซเมอร์อาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัส Herpes

            ครั้งแรกเมื่อราว 30 ปีก่อน Prof.Dr.Ruth Itzhaki แห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ได้พบความสัมพันธ์ว่า ไวรัส Herpes Simplex type 1 (HSV1) นั้นเพิ่มความเสี่ยงในการทำให้สมองเสื่อม (dementia) และการใช้ยาต้านไวรัสจะช่วยลดความเสี่ยงนี้ลง

            แต่ ณ ตอนนั้นยังไม่รู้รายละเอียดมากนัก เพียงมีแนวคิดว่ามันสัมพันธ์กัน ขณะที่ปัจจุบันมีแนวโน้มหนักขึ้นว่า ไวรัสไม่ใช่แค่สัมพันธ์กับโรคสมองเสื่อม ที่หนักกว่านั้นคือ ไวรัสน่าจะเป็นต้นเหตุ!

            ไวรัสชนิดนี้มักติดเชื้อกับผู้ป่วยสูงอายุ เช่น อายุ 70 ปี จากนั้นมันก็พาตัวไปสู่สมองและซ่อนตัวอยู่ในนั้น สร้างความเสียหายไปเรื่อย ๆ

            แถมมีหลักฐานจากการวิจัยว่า HSV1 อาจเป็นตัวสร้างสาร amyloid beta ซึ่งเราพบในผู้ป่วยอัลไซเมอร์

            เมื่อไม่นานมานี้ก็มีการวิจัยสำคัญ ๆ เพิ่มขึ้นมาที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์นี้ครับ

            หนึ่งในนั้นมีการวิจัยหนึ่งที่พบว่า ผู้ป่วยที่เป็น Herpes zoster ophthalmicus เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมมากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อถึง 3 เท่า!

            และยังพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านไวรัสเพื่อรักษาการติดเชื้อนี้ ความเสี่ยงที่จะเป็นสมองเสื่อมลดลงถึงครึ่งหนึ่ง

            นี่หมายความว่า ยาต้านไวรัสอาจจะเป็นสิ่งป้องกันโรคสมองเสื่อมได้

            อีกหนึ่งการวิจัยที่ติดตามผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส HSV กว่า 8 พันคน เป็นเวลานาน 10 ปี เทียบกับคนปกติท่ีอายุ เพศ ใกล้เคียงกัน พบว่าคนที่เคยติดเชื้อไวรัสนี้เสี่ยงเป็นสมองเสื่อมมากขึ้น 2 เท่าครึ่ง

            ที่เล่ามาข้างต้นเป็นการวิจัยกับคนที่ติดเชื้อในระดับที่ค่อนข้างรุนแรง ไม่ใช่กลุ่มที่มีอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังนั้น กลุ่มที่ป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจเสี่ยงเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพียงแต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน

            Prof.Dr.Ruth Itzhaki ผู้รายงานเรื่องนี้กล่าวอีกว่า คนอังกฤษวัย 30-40 ปี มีเชื้อไวรัสนี้อยู่กับตัว (แม้จะเป็นโรคหรือแค่พาหะ) สูงถึงร้อยละ 70 และหากเขาเหล่านั้นได้พันธุกรรมโรคอัลไซเมอร์ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากขึ้น นับเป็นตัวเลขที่น่ากังวล

             แล้วแนวทางป้องกันล่ะ...

            Prof.Dr.Ruth Itzhaki บอกว่า การใช้ยาต้านไวรัสอาจจะเป็นคำตอบสำหรับการลดโอกาสการเป็นโรคนี้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าให้ร่วมกับยาต้านการอักเสบ (anti-inflammatory)

            การให้วัคซีนป้องกัน HSV1 ก็อาจช่วยลดความเสี่ยง

            รายงานการวิจัยที่กล่าวไปข้างต้นยังเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น ยังคงต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมอีกมากมาย แต่หากมีการยืนยันว่าใช่

            ในมุมหนึ่งก็นับเป็นข่าวดีว่า โรคอัลไซเมอร์อาจป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ Herpes ไม่ต้องปล่อยตามเวรกรรมว่าจะเป็นโรคนี้ขึ้นมาเมื่อไหร่