ทารกในครรภ์ที่ได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้น

ทารกในครรภ์ที่ได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้น

            Medscape Medical News: ข้อมูลการศึกษาล่าสุดโดย Morteza Bashash จากสถาบัน Dalla Lana School of Public Health ประเทศแคนาดาชี้ ทารกที่ได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป ไม่เพียงแต่จะทำให้พัฒนาการด้านสมองและสติปัญญาช้าลงเท่านั้น ยังอาจมีผลเพิ่มอุบัติการณ์ของโรคสมาธิสั้นได้อีกด้วย

            ก่อนหน้านี้มีข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าการได้รับฟลูออไรด์ในช่วงตั้งครรภ์อาจมีผลกระทบต่อกระบวนการสร้างและพัฒนาของระบบประสาทและพฤติกรรมในทารกได้ สำหรับในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยจึงทำการศึกษาเพื่อค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับฟลูออไรด์ในช่วงตั้งครรภ์กับลักษณะทางคลินิกของโรคสมาธิสั้นในเด็ก โดยนำข้อมูลจากการศึกษาชื่อ the Early Life Exposures in Mexico to Environmental Toxicants (ELEMENT) birth cohort study ในช่วงปี ค.ศ. 1994-2005 ซึ่งมีอาสาสมัครเป็นหญิงตั้งครรภ์และบุตรจำนวน 213 คู่เข้าร่วมอยู่ในการศึกษา โดยผู้วิจัยทำการวัดระดับฟลูออไรด์ในปัสสาวะที่ปรับค่าตามระดับ creatinine แล้วจากหญิงตั้งครรภ์ และทำการตรวจประเมินพฤติกรรมของเด็กที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์เพื่อค้นหาลักษณะต่าง ๆ ที่เข้าได้กับโรคสมาธิสั้นเมื่อเด็กมีอายุระหว่าง 6-12 ปี โดยการประเมินเด็กประกอบด้วยการใช้แบบประเมิน Conner’s Rating Scales-Revised (CRS-R) และ Conner’s Continuous Performance Test (CPT-III) 

            ผลการศึกษาพบว่าการมีระดับฟลูออไรด์ในปัสสาวะที่สูงขึ้นทุก ๆ 0.5 mg/L นั้นสัมพันธ์กับค่าคะแนนของอาการสมาธิสั้นที่เพิ่มขึ้นถึง 2.38 คะแนน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์กันในแบบ dose-dependent relationship ซึ่งเป็นการยืนยันว่าการได้รับฟลูออไรด์ในระยะเริ่มต้นของชีวิตมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านที่ให้ความเห็นว่ายังควรรอคอยผลการวิจัยที่ใหญ่กว่านี้ก่อนให้การสรุป