วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ช่วยลดการนอนโรงพยาบาลได้ดีในหญิงตั้งครรภ์

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ช่วยลดการนอนโรงพยาบาลได้ดีในหญิงตั้งครรภ์

            Medscape Medical News: ข้อมูลการสำรวจประสิทธิภาพของการให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ในระยะ 6 ปีที่ผ่านมา โดย Mark G Thompson นักระบาดวิทยาประจำแผนกโรคไข้หวัดใหญ่ของ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) บ่งชี้ว่า วัคซีนสามารถลดความเสี่ยงของการต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากไข้หวัดใหญ่ลงได้ถึง 40%

            ข้อมูลการศึกษาดังกล่าวนี้ได้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมเอาไว้โดยเครือข่าย the Pragnancy Influenza Vaccine Effectiveness Network (PREVENT) ซึ่งมุ่งเน้นศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่ยืนยันการวินิจฉัยได้จากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีอาสาสมัครเป็นหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุตั้งแต่ 18-50 ปี และมีช่วงเวลาของการตั้งครรภ์คร่อมช่วงฤดูที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010-2016 โดยการวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะต้องยืนยันด้วยผลการตรวจด้วยวิธี real-time reverse transcription polymerase chain reaction (rRT-PCR) ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ออกมาพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับวัคซีนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่นั้นลดลงคิดเป็น adjusted vaccine effectiveness ถึง 40% โดยสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดในระยะที่ศึกษาส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม influenza A (H1N1) และ A (H3N2)

            ผู้วิจัยกล่าวว่า ผลการศึกษาที่ออกมานี้นับเป็นข้อมูลที่สำคัญมาก เนื่องจากในจำนวนหญิงตั้งครรภ์ในแต่ละปีมีมากถึงกว่า 2 ล้านคน ในจำนวนนี้ 84% มีช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ที่คร่อมช่วงเวลาที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนั้น การให้วัคซีนในคนกลุ่มนี้ช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมากในแง่ของการลดอัตราการเกิดความเจ็บป่วย การต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา และผลการศึกษานี้อาจนำไปสู่คำแนะนำในการให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แก่หญิงตั้งครรภ์ที่มีช่วงการตั้งครรภ์คร่อมฤดูการระบาดของไข้หวัดใหญ่ทุกราย