‘ชะลอวัยลึกถึงระดับดีเอ็นเอ’ โรงพยาบาลพญาไท 2 เผยเคล็ดลับชีวิตยืนยาวออกแบบสุขภาพดีได้ด้วยเวชศาสตร์ชะลอวัย

‘ชะลอวัยลึกถึงระดับดีเอ็นเอ’ โรงพยาบาลพญาไท 2 เผยเคล็ดลับชีวิตยืนยาวออกแบบสุขภาพดีได้ด้วยเวชศาสตร์ชะลอวัย

            “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” ประโยคที่คอยย้ำเตือนให้เราดูแลสุขภาพกันอยู่เสมอ แต่ทั้งที่คิดว่าดูแลตัวเองดีแล้ว โรคภัยก็ยังมาเยือน ปัญหาสำคัญก็คือ การดูแลสุขภาพอย่างไม่ถูกจุด วิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้นช่วยให้เรามี ‘สูตรการดูแลสุขภาพประจำตัว’ ที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพด้วย ‘เวชศาสตร์ชะลอวัย’

         พญ.กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 2 อธิบายถึงความหมายของ ‘เวชศาสตร์ชะลอวัย’ ที่มักเกิดความเข้าใจผิดไว้ว่า “เมื่อได้ยินชื่อเวชศาสตร์ชะลอวัย คนมักคิดว่าเป็นเรื่องของการดูแลผิวพรรณ หรือศัลยกรรมเพื่อความสวยงามภายนอก ความจริงแล้วตรงกันข้าม เวชศาสตร์ชะลอวัยเป็นศาสตร์ดูแลร่างกายให้ดีจากภายใน ด้วยการตรวจวิเคราะห์ร่างกายอย่างละเอียดลึกซึ้งถึงระดับดีเอ็นเอ ค้นหาความผิดปกติและแนวโน้มการเกิดโรคในอนาคต เพื่อนำมาวางแผนดูแลสุขภาพ ป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดโรค”

            เวชศาสตร์ชะลอวัยเป็นศาสตร์ที่มีแนวคิดมาจาก ‘การป้องกันก่อนป่วย’ ซึ่งเหมาะสมกับเทรนด์ในปัจจุบันที่ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น โดยเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพจาก ‘เชิงรับ’ คือ ป่วยก่อนจึงค่อยไปหาหมอ รับประทานยารักษาให้หาย เป็นการดูแลสุขภาพ ‘เชิงรุก’ ทำให้ร่างกายแข็งแรง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค

            “แพทย์จะทำหน้าที่เหมือนเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว วิเคราะห์ผลตรวจทั้งวิตามิน ฮอร์โมน และตรวจระดับพันธุกรรม เพื่อมาแนะนำว่าคุณควรใช้ชีวิตอย่างไรให้มีสุขภาพดี และมีชีวิตที่ยืนยาว โดยการปรับพฤติกรรมทั้งการกิน การออกกำลังกาย การนอน ไปจนถึงการดูแลจิตใจให้อยู่ในสภาวะสมดุล หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรค ผู้ป่วยจะได้รู้จักร่างกายของตัวเอง และรู้วิธีดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมกับตัวเองที่สุด เหมือนเป็นคู่มือการใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับบุคคลนั้น ๆ” พญ.กอบกุลยา กล่าวเสริม

         แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ และ สารวัตรหมี พ.ต.ท.ศักดิ์สุนทร เปรมานนท์ คู่รักคนรุ่นใหม่สายเฮลตี้ เล่าว่าทั้งคู่ต่างเป็นคนที่ใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพกันอยู่แล้ว จึงเริ่มศึกษาด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย และสนใจที่จะเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิธีการดูแลสุขภาพ ใช้ชีวิตอย่างไรจึงจะมีสุขภาพดีชะลอวัย และมีชีวิตที่ยืนยาว

            ซึ่ง พญ.กอบกุลยา ได้สรุปเคล็ดลับการดูแลสุขภาพตามแบบเวชศาสตร์ชะลอวัยด้วย 7 มิติวิเคราะห์ชีวิตยืนยาว”

‘นอนให้เป็น’ เคล็ดลับชะลอวัยที่ใครก็ทำได้

            การนอนหลับเป็นสิ่งที่เราต้องทำกันอยู่ทุกวัน แต่ไม่ใช่ว่าการนอนทุกครั้งร่างกายจะได้รับการซ่อมแซม เพราะโกรทฮอร์โมนที่มีหน้าที่ซ่อมแซมร่างกายมีเงื่อนไขว่าจะหลั่งในช่วงเที่ยงคืนถึงตีหนึ่งครึ่ง และหลั่งในตอนที่เราหลับลึกเท่านั้น หากร่างกายไม่ได้รับฮอร์โมนนี้เต็มที่จะทำให้ร่างกายเสื่อมลงและแก่เร็ว! พญ.กอบกุลยา แนะนำว่าการหลับที่ถูกต้องจะต้องนอนช่วง 4 ทุ่มเพื่อให้หลับลึกในช่วงที่โกรทฮอร์โมนหลั่งพอดี นอกจากนี้ให้งดน้ำตาลหลัง 6 โมงเย็น เพราะน้ำตาลจะเป็นตัวทำลายโกรทฮอร์โมน การตรวจวัดระดับโกรทฮอร์โมนเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะบอกได้ว่าร่างกายมีโกรทฮอร์โมนเพียงพอที่จะช่วยชะลอวัยให้ร่างกายได้หรือไม่ จะได้ปรับพฤติกรรมการนอนให้เหมาะสม

กินอาหารดีก็ใช่ว่าสุขภาพจะดี

            คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ก็เพียงพอกับการดำรงชีวิต แต่ความจริงแล้วประชากรทั่วโลกกว่า 2 พันล้านคน พบปัญหาการขาดวิตามินและแร่ธาตุจากการรับประทานอาหารไม่ตรงกับสารอาหารที่ร่างกายต้องการ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว เนื่องจากขณะที่ขาดวิตามินร่างกายก็ยังคงทำงานต่อไป ไม่ได้แสดงอาการเจ็บป่วยจนถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลและไม่มีอาการแน่ชัด บางคนอาจหงุดหงิด เพลียง่าย อ้วนง่าย ลงพุง มีผื่นขึ้นง่าย ท้องผูก หรือภูมิแพ้กำเริบ

            “การตรวจระดับวิตามินและแร่ธาตุสามารถทำได้ง่ายด้วยการตรวจเลือด ผลวิเคราะห์จะบอกว่าร่างกายของผู้ป่วยมีวิตามินและแร่ธาตุแต่ละชนิดในปริมาณเท่าใด เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายหรือไม่ แพทย์จะแนะนำให้เพิ่มหรือลดวิตามินและแร่ธาตุเพื่อให้ร่างกายสมดุล โดยเริ่มจากปรับพฤติกรรมการรับประทาน และอาจให้เสริมวิตามินในกรณีของคนที่ขาดวิตามินในปริมาณมาก” พญ.กอบกุลยา กล่าว

แพ้ใจก็ไม่เท่าแพ้อะไรแล้วเราไม่รู้

            อาหารเป็นสิ่งที่เรารับประทานกันทุกวันเพื่อรับสารอาหารที่มีประโยชน์เข้าสู่ร่างกาย แต่อาหารบางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย โดยเฉพาะการแพ้อาหารแฝงที่จะไม่ได้แสดงอาการทันทีอย่างภูมิแพ้อาหารแบบเฉียบพลัน แต่หากรับประทานเข้าไปมาก ๆ เป็นระยะเวลานาน ร่างกายจะแสดงออกมาในรูปแบบของการสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ตอบสนองต่ออาหารเสมือนเป็นสิ่งแปลกปลอมนำไปสู่การอักเสบของร่างกาย เป็นสาเหตุให้เกิดโรคเรื้อรังในที่สุด จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ควรทำการทดสอบเพื่อให้รู้ว่าเราแพ้อาหารแฝงชนิดได้ จะได้สามารถหลีกเลี่ยงได้

            แพนเค้ก-เขมนิจ ให้ความสนใจเรื่องภูมิแพ้อาหารแฝงเป็นพิเศษ เธอบอกว่า “สิ่งที่น่ากลัวของภูมิแพ้อาหารแฝงคือ ถ้าไม่ตรวจเราก็จะไม่รู้ แล้วเราก็จะรับประทานอาหารเข้าไปโดยไม่คิดอะไร ซึ่งถ้าเราเกิดแพ้อาหารแฝงชนิดนั้นขึ้นมา กว่าจะรู้ตัวก็ตอนที่ร่างกายสะสมมากจนแสดงอาการออกมา เมื่อเป็นโรคเรื้อรังก็จะยิ่งรักษายาก”

รู้ไหมทำไม Diet แล้วไม่ผอม

            หลายคนเผชิญปัญหาลดน้ำหนักเท่าไหร่ก็ไม่ลง แม้ว่าจะออกกำลังกายและควบคุมอาหารอย่างจริงจัง พญ.กอบกุลยา อธิบายว่า อาจมีสาเหตุมาจากภาวะไทรอยด์ต่ำ แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นโรคไทรอยด์ต่ำแฝง ทำให้ระบบเผาผลาญไม่ดี แนะนำให้ผู้ที่ประสบปัญหาตรวจระดับฮอร์โมนเพื่อตรวจสอบและรักษาระดับไทรอยด์ให้สมดุล ควบคู่กับ DXA scan ให้ทราบว่ามีปริมาณไขมันในส่วนใดของร่างกาย เพื่อออกแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสม

            DXA scan เป็นการตรวจไขมันแต่ละส่วนทั่วร่างกาย รวมไปถึงกล้ามเนื้อแต่ละมัด จึงเหมาะกับคนที่ต้องการออกกำลังกายจริงจัง หรือเป็นนักกีฬาอาชีพ สารวัตรหมี ให้ความสนใจการตรวจนี้เป็นพิเศษ โดยบอกว่า “การรู้ว่าร่างกายส่วนไหนมีไขมันและกล้ามเนื้อเท่าไหร่ จะสามารถช่วยในการออกแบบการออกกำลังกายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ชีวิตเครียดไปแล้วหรือเปล่า

            เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) ซึ่งถ้าเกิดอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะไปเร่งกระบวนการแก่ชรายับยั้งภูมิคุ้มกัน ขณะเดียวกันร่างกายจะสร้างความสมดุลโดยผลิตฮอร์โมน DHEA หรือฮอร์โมนต้านความเครียดมาต้านฤทธิ์ของคอร์ติซอล ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและชะลอความเสื่อมของร่างกาย หากความเครียดสะสมเรื้อรังจนกระทั่งร่างกายเสพติดความเครียดจะทำให้ฮอร์โมนทั้งสองไม่สมดุล นานเข้าจะทำให้เกิดภาวะต่อมหมวกไตล้าและมีผลต่อสุขภาพ ภูมิคุ้มกันต่ำ ป่วยง่าย และขับถ่ายผิดปกติ จึงควรหาวิธีการผ่อนคลายจากความเครียดให้เร็ว และตรวจเช็กระดับฮอร์โมนเพื่อดูว่าต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติหรือไม่

            “เราควรค้นหาวิธีการคลายเครียดของตัวเอง ลองหากิจกรรมแล้วสังเกตตัวเองว่าอะไรช่วยให้เราผ่อนคลาย บางคนชอบท่องเที่ยว ช็อปปิ้ง รับประทานอาหารอร่อย ๆ สำหรับการออกกำลังกายก็เป็นหนึ่งในวิธีคลายความเครียดที่ชอบ ดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต” แพนเค้ก เสริม

ระวังโลหะหนัก สารพิษในชีวิตประจำวันที่ต้องกำจัดออกจากร่างกาย

            การใช้ชีวิตประจำวันในปัจจุบันมีความเสี่ยงต่อการรับสารโลหะหนักและสารพิษเข้ามาในร่างกายตลอดเวลา เป็นสิ่งที่ป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ยาก โลหะหนักเหล่านี้เมื่ออยู่ในระดับน้อยอาจไม่แสดงอาการ แต่เมื่อมีการสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายกับร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน อัลไซเมอร์ และมะเร็งต่าง ๆ การตรวจโลหะหนักในร่างกายจะช่วยให้เราป้องกันตัวเองไม่ให้มีโลหะหนักในร่างกายมากเกินไป โดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือกำจัดโลหะหนักเหล่านั้นออกด้วยวิธีทางการแพทย์ เพื่อให้ร่างกายกลับมาสะอาดปราศจากสารพิษ

ออกแบบสุขภาพดีด้วยการตรวจพันธุกรรม

            เทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้าทำให้เวชศาสตร์ชะลอวัยสามารถตรวจวิเคราะห์ร่างกายคนได้ลึกถึงระดับดีเอ็นเอที่จะสามารถบอกได้ว่าแต่ละคนมีแนวโน้มการเกิดโรคทางพันธุกรรมต่าง ๆ มากน้อยแค่ไหน ด้วยการดูรหัสพันธุกรรมในดีเอ็นเอว่ามีความเสี่ยงในการเป็นแต่ละโรคมากน้อยแค่ไหน และหาแนวทางดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคนั้น

            “หากมีความเสี่ยงในการเกิดโรคสูงก็ไม่อยากให้กังวล เพราะที่ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 2 เรามีทีมแพทย์สหสาขาที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมรับฟัง ให้คำปรึกษา และให้แนวทางการรักษาเจาะลึกชัดเจน ออกแบบโปรแกรมดูแลสุขภาพชะลอวัยที่เหมาะสม พร้อมทีมพยาบาลและบุคลากรที่พร้อมให้ความช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อชีวิตยืนยาว พร้อมด้วยสุขภาพที่ดีของผู้ป่วยทุกคน” พญ.กอบกุลยา กล่าวสรุป