เมลาโทนิน (Melatonin)

ผศ.ดร.นพ.ประกอบ ผู้วิบูลย์สุข

เมลาโทนิน (Melatonin)

            เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่เราค้นพบมาราว 60 ปีแล้ว หลายปีมานี้เราพบว่ามันมีส่วนในการนอนหลับของคนเรา จึงมีการนำมาใช้กับคนที่มีปัญหาการนอน

            การที่เมลาโทนินได้รับอนุมัติให้ซื้อขายได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์ทำให้การใช้ฮอร์โมนนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ด้วยความง่ายในการซื้อหา ความเชื่อว่ามันจะปลอดภัยเพราะรัฐบาลอนุญาตให้ขายตามร้านแบบ OTC ใครจะซื้อก็ได้ แล้วมันปลอดภัยจริงหรือ ได้ผลหรือไม่

            เรามาดูกันครับ

            ภาพสะท้อนตรงไปตรงมาของการใช้คือ ยอดขายของสารนี้ในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นจากราว 260 ล้านดอลลาร์เมื่อ 6 ปีที่แล้ว เพิ่มมาจนน่าจะเกินกว่า 425 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ เป็นสิ่งที่เห็นชัด

            ในยอดจำหน่ายนี้มีผู้ใหญ่อเมริกันใช้สารนี้ราว 3 ล้านคน บวกกับเด็กอีกราวครึ่งล้านคน!

            แม้แต่ในเด็กก็ยังใช้... แปลว่าอะไร

            แปลว่าผู้ใหญ่เข้าใจว่ามันคงจะปลอดภัย เพราะคิดว่ามันเป็นวิตามิน มันเป็นสารเสริมอาหาร และแม้แต่รัฐบาลยังให้ขายได้อย่างเสรี

            แต่ในอีกด้านหนึ่ง จำนวนของผู้ป่วยด้วยอาการเป็นพิษของการรับประทานสารนี้เกินขนาดในเด็ก ๆ ก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ (สารนี้มีขายในรูปแบบหมากฝรั่งหรือแบบขบเคี้ยวมีรสหวานในสหรัฐอเมริกา)

            เมลาโทนินไม่ใช่วิตามิน มันไม่ใช่สารเสริมอาหาร!

            แต่มันคือ ฮอร์โมนครับ

            ฮอร์โมนต้องการการใช้ในขนาดที่ถูกต้อง ถูกเวลา และถูกระยะเวลา

            ลองดูตัวอย่างง่าย ๆ นะครับ

            เมลาโทนินเป็นสารที่ค่อย ๆ หลั่งในสมองตอนหัวค่ำ หลั่งเรื่อยมาขณะดึก และค่อยลดหายไปในช่วงเช้า

            สิ่งที่มันทำคือ คงการหลับ (maintain sleep) มันได้ทำให้ง่วงหรือหลับเร็ว (initiate sleep)

            พูดอีกนัยหนึ่ง เมลาโทนินคือ sleep regulator ไม่ใช่ sleep initiator!

            ฉะนั้น การเอามันมาใช้ให้หลับเร็วหลับง่ายจะไม่ได้ผล

            หลายต่อหลายคนที่เคยลองใช้จะรู้ซึ้งถึงอันนี้ดี เพราะรับประทานแล้วก็ยังไม่หลับอยู่ดี

            เมลาโทนินจึงไม่ได้ผลกับทุกคน มีเพียงบางส่วนที่ได้ผล ที่เหลือไม่ใช่ครับ

            แล้วมันเหมาะกับใคร

            มันเหมาะกับคนที่มีปัญหา circadian rhythm disorder เช่น หลั่งฮอร์โมนนี้น้อยในช่วงหัวค่ำ หรือลดลงเร็วเกินไปก่อนเวลาอันควร และยังพบว่าได้ประโยชน์กับเด็กในกลุ่ม autism spectrum disorders ที่มีปัญหาระดับของเมลาโทนิน และเด็กที่เป็น ADHD ที่มีปัญหาไม่ง่วงนอน

            แล้วโทษภัยล่ะ

            เมื่อ 2-3 ปีก่อนมีรายงานชิ้นหนึ่งกล่าวว่า ฮอร์โมนนี้กระทบต่อระบบสืบพันธุ์ในหนูทดลองจนมีนักวิจัยพยายามเอามันมาใช้เป็นยาคุมกำเนิด แต่ยังอยู่ในขั้นการวิจัย ในขณะนี้จึงยังไม่มีข้อมูลมากนัก ผู้เชี่ยวชาญได้แค่แนะนำว่าเมื่อเรายังรู้น้อยเกี่ยวกับความปลอดภัยของฮอร์โมนนี้ ฉะนั้น การใช้ในเด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะในเด็กเล็กจึงไม่แนะนำ

            ส่วนการใช้แบบเป็นครั้งคราว หรือในระยะสั้น พบว่าปลอดภัย (แต่ระยะยาวยังไม่รู้) อย่างไรก็ตาม การรับประทานเกินขนาดอาจทำให้เกิดฝันร้ายและง่วงซึมไปทั้งวันในวันรุ่งขึ้น ส่วนในเด็กอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ปวดศีรษะ อารมณ์เปลี่ยนแปลง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ฯลฯ

            เน้นนะครับ.. ว่าผลข้างเคียงระยะยาวเรายังไม่ทราบ

            โดยสรุปคือ ฮอร์โมนนี้ใช้สำหรับผู้ใหญ่ที่มีปัญหา circadian rhythm ส่วนในเด็กก็ใช้ได้กับเด็กกลุ่มออทิซึม และเด็กสมาธิสั้นที่มีปัญหาการนอน

            ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ สารนี้ไม่ได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวด ดังนั้น ปริมาณ ประสิทธิภาพ และสารที่ผสมเพิ่มเติมเข้าไปอาจแตกต่างกันไปในแต่ละผลิตภัณฑ์