วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในขนาดสูงให้ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดีในผู้ป่วยที่ล้างไต

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในขนาดสูงให้ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดีในผู้ป่วยที่ล้างไต

         Medscape Medical News: ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ได้รับการรักษาด้วยการล้างไตเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันมีคำแนะนำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี และข้อมูลการศึกษาล่าสุดโดย Dana C Miskulin และคณะผู้วิจัยจาก Tufts Medical Center, Tufts University School of Medicine ก็พบว่าผู้ป่วยเหล่านี้จะได้รับประสิทธิภาพของการป้องกันที่มากขึ้นได้อีกหากได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในขนาดสูง (high-dose influenza vaccine) ซึ่งมีปริมาณ antigen ในวัคซีนสูงกว่าขนาดปกติ 4 เท่า

            การศึกษาดังกล่าวนี้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มผู้ป่วยโรคไตวายที่ได้รับการรักษาด้วยการล้างไต และรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่แตกต่างกัน 3 ชนิด คือ standard trivalent, standard quadrivalent และ high-dose trivalent influenza vaccine ในช่วงปี ค.ศ. 2015-2016 และ 2016-2017 โดยมีผู้ป่วยอยู่ในแต่ละกลุ่มเป็นจำนวน 127, 3,614 และ 5,700 คน ตามลำดับ ซึ่งเมื่อทำการเปรียบเทียบอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลระหว่างกลุ่มที่ได้รับ quadrivalent vaccine และ high-dose trivalent vaccine พบว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนในขนาดสูงมีอัตราการเข้ารับการรักษาที่น้อยกว่า คือ 8.04 รายต่อ 100 patient-months เทียบกับ 8.71 รายในกลุ่มที่ได้รับ quadrivalent vaccine คิดเป็น hazard ratio เท่ากับ 0.93 (95% CI 0.86-1.00, p = 0.04)

            ผู้วิจัยกล่าวว่า ผลการวิจัยที่ออกมานี้น่าจะมีส่วนช่วยทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงดังเช่นในกรณีนี้ได้ดีขึ้น ซึ่งแม้ว่าความแตกต่างที่เห็นได้จะไม่มากนัก แต่เมื่อเทียบกับผลดีที่จะได้รับก็น่าจะถือได้ว่าสร้างผลกระทบในเชิงบวกได้มากพอสมควร