ตรวจวัด CRP แบบ point of care ช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วย COPD

อ.นพ.สันติ สิลัยรัตน์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

ตรวจวัด CRP แบบ point of care ช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วย COPD

         ผลการศึกษาเกี่ยวกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อช่วยในการตัดสินใจใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease; COPD) โดย Christopher C Butler และคณะผู้วิจัยจาก University of Oxford ประเทศอังกฤษพบว่า ชุดตรวจวัดระดับสาร C-reactive protein (CRP) สำหรับใช้ในหน่วยบริการปฐมภูมิสามารถช่วยในการตัดสินเลือกใจใช้ยาปฏิชีวนะ และลดการใช้ยาในผู้ป่วย COPD ที่เกิดการกำเริบเฉียบพลันลงได้อย่างชัดเจน

            CRP เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในร่างกายที่ทำการตรวจวัดได้ง่าย แม่นยำ และรวดเร็ว และมีแนวโน้มว่าสามารถนำมาใช้เพื่อประเมินการกำเริบเฉียบพลันในผู้ป่วย COPD เพื่อช่วยการตัดสินใจในการสั่งยาปฏิชีวนะ ให้ผลการรักษาที่ดีขึ้น และลดอัตราการเกิดเชื้อดื้อยาได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การศึกษาเกี่ยวกับการใช้ CRP ที่ผ่านมายังเป็นการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความแม่นยำของการตรวจเท่านั้น และยังไม่ได้มีการพิสูจน์ชัดเจนถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นได้จริงในทางคลินิก ดังนั้น ผู้วิจัยจึงทำการศึกษาในผู้ป่วย COPD จำนวน 649 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ CRP ช่วยในการประเมินและรักษา กับกลุ่มที่ให้การรักษาตามปกติ และวัดผลการศึกษาด้วยอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อการรักษาอาการเฉียบพลันของโรคภายใน 4 สัปดาห์ และผลการรักษาภายใน 2 สัปดาห์หลังเข้าร่วมการศึกษา

ผลการศึกษาที่ออกมาพบว่าที่ 4 สัปดาห์ อาสาสมัครในกลุ่มที่ใช้ CRP ช่วยในการตัดสินใจมีการใช้ยาปฏิชีวนะน้อยกว่าในกลุ่มที่ได้รับการรักษาตามปกติอย่างชัดเจน (ร้อยละ 57 และ 77.4 ตามลำดับ คิดเป็น adjusted odds ratio 0.31, 95% confidence interval 0.20-0.47) ซึ่งหมายความว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่มีลักษณะเข้าได้ตามเกณฑ์ Anthonisen criteria อย่างน้อย 2 ข้อนั้น มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ในขณะที่ผลการศึกษาในด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการต้องเข้ารับการรักษาเพิ่มเติมโดยแพทย์เฉพาะทาง การเกิดเป็นโรคปอดอักเสบ หรือการใช้ทรัพยากรก่อนอื่น ๆ ภายในช่วงเวลา 6 เดือนนั้น ไม่ได้แตกต่างกันอย่างชัดเจนในทั้งสองกลุ่ม

Allen S Brett และ Majdi N Al Hasan บรรณาธิการ กล่าวให้ความเห็นว่าผู้ป่วย COPD ที่มีการกำเริบเฉียบพลันโดยมีเสมหะมากขึ้นหรือสีเปลี่ยนอาจไม่จำเป็นต้องมีการใช้ยาปฏิชีวนะหากระดับ CRP ในเลือดไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งผลจากการศึกษาในครั้งนี้ก็ช่วยสนับสนุนได้ค่อนข้างชัดเจนว่าการตรวจ CRP สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจเลือกใช้ยาปฏิชีวนะได้ และหากนำการตรวจดังกล่าวนี้ไปใช้ในสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิก็อาจช่วยทำให้ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาที่เหมาะสมได้ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ และลดความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลในระดับที่สูงขึ้นไปได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางคณะบรรณาธิการได้กล่าวย้ำว่า การศึกษานี้เป็นเพียงข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าการตรวจ CRP จะช่วยทำให้การเลือกตัดสินใจให้ยาปฏิชีวนะมีความเหมาะสมมากขึ้นโดยไม่ทำให้ผลการรักษาแย่ลง แต่ไม่สามารถช่วยบอกได้ว่าผู้ป่วยกลุ่มใดเหมาะที่จะใช้ยาปฏิชีวนะมากที่สุด และหากมีการใช้ควรเลือกใช้ยาชนิดใด ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ยังจำเป็นต้องรอคอยผลการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป