ข้อควรระวังในการรีวิวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์

ข้อควรระวังในการรีวิวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์

อ.ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ ศูนย์สารสนเทศทางยาและคุ้มครองผู้บริโภค คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

            การรีวิว (review) ในความหมายของโลกสังคมออนไลน์จะหมายความทำนองถึงการแบ่งปันประสบการณ์ ข้อมูลความรู้ ความรู้สึกของตนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องการนำเสนอ แต่บ่อยครั้งมักมีปัญหาว่าหากมีการรีวิวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ เช่น ยา อาหาร เครื่องสำอางนั้น จะถือว่าเป็นการโฆษณาหรือไม่ สามารถกระทำได้หรือไม่ หรือผิดจรรยาบรรณหรือไม่ บทความนี้ก็จะทบทวนแบ่งปัน (รีวิว) ประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

1. รีวิวแบบใดที่เข้าข่ายการโฆษณา

            พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของคำว่า “โฆษณา” หมายความว่า “กระทำการไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า” นั่นแสดงให้เห็นว่าการรีวิวไม่ว่าเป็นการอัดคลิป ออกอากาศสด พิมพ์เล่าเรื่องราว แสดงเป็นการ์ตูนหรือภาพ การติด hashtag ชื่อการค้า หรือจะใช้วิธีใด ถ้าเป็นการทำเพื่อประโยชน์ทางการค้าก็เข้าข่ายการโฆษณาได้

            แล้วคำว่า “เพื่อประโยชน์ในทางการค้า” หมายถึงอะไร เมื่อพิจารณาจากความหมายในพจนานุกรมมีเพียงคำว่า “ค้า” ซึ่งหมายความว่า “ซื้อขายสินค้าหรือบริการ” จึงอาจแปลความ “เพื่อประโยชน์ในทางการค้า” อย่างแคบที่สุดคือ เพื่อประโยชน์ในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ซึ่งเป็นการมองไปที่เป้าหมายปลายทางว่าการโฆษณานั้นต้องเป็นการทำให้ผู้อื่นเห็นหรือทราบข้อความโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าหรือบริการ

            บางคนให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีการอ้างชื่อหรือแสดงชื่อการค้าหรือพยายามสื่อให้เข้าใจว่าเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใด โดยให้เหตุผลว่าเป็นการให้ข้อมูลในลักษณะเชิงวิชาการ ไม่ใช่ลักษณะเพื่อประโยชน์ในทางการค้า แต่เมื่อพิจารณาการให้ข้อมูลนั้นเป็นการกล่าวถึงแต่ข้อดีของผลิตภัณฑ์หรือไม่มีข้อเสียหรือคำเตือนเลย หรืออาจจะกล่าวถึงข้อเสีย แต่ข้อเสียที่กล่าวถึงนั้นไม่ใช่ประเด็นที่ควรระมัดระวังในการใช้สินค้าหรือบริการนั้นอย่างที่สมควรจะเป็น เช่น ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาว่ารักษาอะไรได้บ้าง แต่พอเรื่องคำเตือนกลับอ้างเพียงว่าโปรดอ่านคำเตือนบนฉลากก่อนใช้ยา ลักษณะการบอกแต่ข้อดีนี้จะเข้าข่ายการโฆษณา[1] ไม่ใช่การเขียนในแนววิชาการ หรือถ้าตนเองได้ให้ข้อมูลสินค้าหรือผลิตภัณฑ์โดยได้รับค่าจ้างหรือผลประโยชน์ตอบแทนก็เข้าข่ายการโฆษณาได้เช่นกัน

            บางคนไม่เคยใช้สินค้านั้น แต่กลับทำเสมือนว่าตนเองได้ใช้สินค้านั้น เพื่อจูงใจให้คนอื่นมาใช้สินค้า หรือสิ่งที่กำลังรีวิวนั้นเป็นการโฆษณา แต่ไม่ได้ชี้แจงว่ากำลังโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์สินค้าอยู่ กรณีดังกล่าวนี้ ดร.ณัชชา สุขะวัธนกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ข้อมูลว่าหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สิงคโปร์ ถือว่าการโฆษณาที่ไม่ชี้แจงว่าเป็นการโฆษณา และการโฆษณาที่ทำเสมือนว่าตนเองเป็นผู้บริโภคเองถือว่าเป็นการโฆษณาโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค[2]

2. การรีวิวแบบใดต้องขอหรือไม่ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณา

            การรีวิวที่มีลักษณะเชิงวิชาการ ไม่ได้รับค่าจ้างหรือผลประโยชน์ตอบแทน หรือกรณีที่ไม่เข้าข่ายโฆษณาแล้ว ก็ไม่ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สินค้าหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพจะมีหน่วยงานหลักที่อนุญาตก่อนการโฆษณา คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

            หากทราบว่าการกระทำใดเป็นการโฆษณาแล้ว ขั้นตอนต่อมาจะต้องทราบว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใดจะต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณาหรือไม่ เช่น การโฆษณาขายยา[3] การโฆษณาเครื่องมือแพทย์[4] ต้องได้รับอนุญาตก่อนการโฆษณา แต่การโฆษณาอาหาร (เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม อาหารทางการแพทย์) ไม่ต้องขออนุญาตก่อนโฆษณา[5] หากกล่าวถึงแค่ชื่อการค้า ราคา สถานที่จำหน่าย แต่ถ้าเมื่อใดที่กล่าวถึงคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหาร ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณาทันที

            ส่วนการรีวิวเครื่องสำอางแม้ว่าจะเข้าข่ายโฆษณาแล้ว ก็ไม่ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณา แต่เนื้อหาต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย

3. คำที่ห้ามพูด คำที่ห้ามใช้

            นอกจากการพิจารณาว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ใดที่รีวิวนั้นต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณาหรือไม่แล้ว สินค้าและผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดอาจมีข้อความที่ห้ามใช้ในการโฆษณาแตกต่างกัน ซึ่งต้องพิจารณาจากข้อกำหนดตามกฎหมาย หรือหลักเกณฑ์การโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์นั้น เช่น ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่าด้วยหลักเกณฑ์การโฆษณาขายยา ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร[6] คู่มือการโฆษณาเครื่องสำอาง

            ข้อความ คำพูด หรือคำที่ห้ามใช้ในการรีวิวต่อประชาชนทั่วไป มีหลักการเบื้องต้น ดังนี้

            1. ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา ห้ามพูดในทำนองลักษณะที่เป็นสรรพคุณยา การอ้างเรื่องป้องกัน บำบัด บรรเทา รักษาโรค การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานของร่างกาย โดยเป็นผลจากทางเภสัชวิทยา วิทยาภูมิคุ้มกัน หรือปฏิกิริยาเผาผลาญให้เกิดพลังงานเป็นหลัก เช่น ลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต ลดไขมันในเส้นเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน หลอดเลือดแข็งตัว ภูมิแพ้ หอบหืด บรรเทาอาการปวดศีรษะ ไมเกรน อาการชา บวมและเส้นเลือดขอด แก้ปัญหาปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เพิ่มความจำ แก้อาการหลงลืม เพิ่มน้ำนม กระตุ้นน้ำนม เพิ่มการไหลเวียนของเลือด บำรุงสมอง บำรุงประสาทหรือบำรุงอวัยวะของร่างกาย เสริมสร้างหรือกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย เพิ่มภูมิคุ้มกัน เพิ่มภูมิต้านทาน Detoxหรือล้างสารพิษ

            2. ห้ามใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม

            3. ห้ามใช้ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง

            4. ห้ามใช้ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม

            5. ห้ามใช้ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรมหรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ

            6. ห้ามใช้ข้อความที่ทำให้เข้าใจว่ามีสรรพคุณบำรุงกาม บำรุงเพศ หรือเพื่อการมีเพศสัมพันธ์ เช่น ช่วยบำรุงและเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศ เพิ่มสมรรถภาพชายหรือหญิง เพิ่มขนาดอวัยวะเพศ เพิ่มขนาดหน้าอก อัพไซส์ กระชับช่องคลอด

            7. ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน

            8. ข้อความที่ห้ามใช้เด็ดขาด

                        8.1 กรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์ยาหรืออาหาร จะห้ามใช้ข้อความที่มีลักษณะทำนองโอ้อวด เช่น ศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ ปาฏิหาริย์ วิเศษ เลิศที่สุด ดีเลิศ ชนะเลิศ ชั้นเลิศ เลิศเลอ ล้ำเลิศ เลิศล้ำ ยอด ยอดเยี่ยม ยอดไปเลย เยี่ยมยอด เยี่ยมไปเลย สุดยอด ที่หนึ่ง หนึ่งเดียว ที่หนึ่งเลย ที่สุด ดีที่สุด ดีเด็ด สูงสุด เด็ดขาด หายห่วง หายขาด หมดกังวล สุดเหวี่ยง ไม่มีผลข้างเคียง ไร้ผลข้างเคียง

                        8.2 ผลิตภัณฑ์ยา ห้ามแสดงว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรืออาการของโรคเบาหวาน มะเร็ง อัมพาต วัณโรค โรคเรื้อน หรือโรคหรืออาการของโรคของสมอง หัวใจ ปอด ตับ ม้าม ไต

                        8.3 ผลิตภัณฑ์อาหาร ห้ามใช้ข้อความที่สื่อแสดงให้เข้าใจว่าสามารถลดน้ำหนัก ลดความอ้วน หรือข้อความอื่นใดในทำนองเดียวกัน เช่น ลดความอ้วน ช่วยให้ระบายท้อง สลายไขมันที่สะสมในร่างกาย ดักจับไขมัน ลดน้ำหนัก Block/Burn/Build/Break การใช้ภาพสายวัด/เครื่องชั่งน้ำหนัก/กางเกง Over Size ภาพก่อนและหลังการใช้ผลิตภัณฑ์ ข้อความ Weight Loss เพรียว สลิม Slim Slen ไม่โยโย่ กระชับสัดส่วน หุ่นดี ผอม ลดยาก ดื้อยา ลดความอยากอาหาร

            ตัวอย่างข้อความที่มีปัญหา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ใช้ข้อความทำนองว่า “ผลิตภัณฑ์นี้มีส่วนผสมที่ทำให้ผอมได้จริง ปลอดภัย 100% เรื่องโยโย่เอฟเฟ็กต์ไม่มีแน่นอน สามารถลดไขมันสะสมพุง ใครที่หาตัวช่วยลดน้ำหนัก ลดความอ้วน แนะนำเลยผลิตภัณฑ์นี้” “ช่วยให้แขนขาเรียว หุ่นเพรียว กระชับ เคล็ดลับหุ่นเฟิร์ม ลดน้ำหนักภายใน 7 วัน”[7]

            เครื่องสำอาง ใช้ข้อความทำนองว่า “ใช้แล้วขาวขึ้นภายใน 7 วัน” “นอนดึกทำกิจกรรมแต่งหน้าจัดเต็มทุกวัน หน้าก็ไม่เคยเป็นสิว” “เคล็ดลับหน้าใส ไม่ต้องฉีดหน้าใส ไม่ต้องไปคลินิก”[8] “หน้าใสใสกว่าฉีด”[9]

4. บทลงโทษมีมากน้อยเพียงใด

            บทลงโทษที่เกี่ยวข้องกับการรีวิวขึ้นกับว่าผลิตภัณฑ์นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทใดตามกฎหมาย กล่าวคือ ฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับโฆษณาขายยาไม่ว่าจะเป็นโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือใช้ข้อความหรือวิธีการที่ห้ามใช้ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ถ้าการรีวิวนั้นเข้าข่ายการโฆษณาอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาตต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท กรณีนี้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาหรือผู้ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยามอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ หากผู้รีวิวได้ชำระค่าปรับตามที่กฎหมายกำหนดแล้วก็ไม่ต้องถูกพิจารณาคดีในศาล

            แต่ถ้าผลิตภัณฑ์ที่รีวิวนั้นเป็นอาหารแล้วโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร เช่น โฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ไม่โยโย่ จะต้องห้ามไม่ให้โฆษณาตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2561 ข้อ 4 (6) ประกอบบัญชีหมายเลข 1 แนบท้ายประกาศข้อ 2.5 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีนี้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาหรือผู้ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยามอบหมายไม่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ ผู้รีวิวจะต้องเสียเวลาไปสู้คดีในชั้นศาล ซึ่งอาจถูกตัดสินให้ลงโทษจำคุกทันที หรือถูกตัดสินให้จำคุกแต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษได้ ถ้าถูกตัดสินให้เสียค่าปรับด้วยแม้จะลดโทษค่าปรับแล้วแต่ก็มักจะต้องเสียค่าปรับด้วย

            แต่ถ้าผลิตภัณฑ์ที่รีวิวนั้นเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีข้อความ คำพูด หรือคำที่ห้ามใช้ในการรีวิวต่อประชาชนทั่วไปต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีนี้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาหรือผู้ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยามอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ หรือหากอาจตัดสินใจดำเนินคดีอาญาโดยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ผู้รีวิวไปสู้คดีในชั้นศาลก็ได้

            นอกจากนี้หากผู้รีวิวเป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอาจถูกพิจารณาคดีจรรยาบรรณวิชาชีพจากสภาวิชาชีพนั้นอีกด้วย

            ผู้รีวิวควรทราบข้อกำหนดด้านกฎหมาย จรรยาบรรณวิชาชีพ เพื่อจะได้ปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง และมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

[1] ราชบัณฑิตสถาน, “โฆษณา”, บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2551 ช่วงเวลา 7.00-7.30 น.

[2] [2]ณัชชา สุขะวัธนกุล, “คอลัมน์ กฎหมาย 4.0: ข้อควรทราบทางกฎหมาย สำหรับ 'นักรีวิว' ในยุค 4.0”, กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2562): 9

[3] [3]พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 88 ทวิ

[4] พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 57

[5] [5]พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 41

[6] [6] ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2561

[7] [7]“นักร้องดัง-เน็ตไอดอล พบ ตร.รับข้อหารีวิวสินค้าเครือเมจิกฯ”, มติชน (วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2562): 9

[8] [8]“ฝ้าย-ไซร่า ขึ้นเขียงรีวิวเมจิกสกิน”, มติชน (วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2562): 8

[9] [9]“คนดังรีวิว 'เมจิกสกิน นิวเคลียร์-เพชรจ้า' โชคดีแค่โดนสั่งปรับ”, สยามรัฐ (วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2562): 8