การสืบค้นข้อมูลใบอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ

การสืบค้นข้อมูลใบอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ

อ.ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ ศูนย์สารสนเทศทางยาและคุ้มครองผู้บริโภค คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

            ผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงการเผยแพร่ฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในนิตยสารวงการยา ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ว่า ฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณานี้จะมีประโยชน์ในการช่วยเฝ้าระวังการโฆษณาสินค้าหรือบริการ ตลอดจนจะช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่าโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่พบตามสื่อสาธารณะนั้นเป็นข้อมูลที่ได้รับอนุญาตด้านเนื้อหาและวิธีการโฆษณาอย่างถูกต้องหรือไม่ จนกระทั่งเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็ให้ข่าวว่าจะมีการเปิดใช้ระบบฐานข้อมูลอนุญาตโฆษณายา อาหาร และเครื่องมือแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561 เพื่อหวังลดปัญหาโฆษณาผิดกฎหมาย แต่ก็ยังไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงฐานข้อมูลดังกล่าวได้โดยง่าย[1]

            ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เผยแพร่ฐานข้อมูลนี้ในหน้าแรกของเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (www.fda.moph.go.th) โดยเลือกที่หัวข้อ “สืบค้นข้อมูลใบอนุญาตโฆษณา” ดังรูปที่ 1 แทงบอล

รูปที่ 1 หน้าแรกของเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

จากนั้นระบบจะให้เลือกว่าต้องการสืบค้นข้อมูลโฆษณาประเภทใด เช่น โฆษณายา โฆษณาอาหาร โฆษณาเครื่องมือแพทย์ ดังรูปที่ 2 เมื่อเลือกว่าจะสืบค้นรายละเอียดโฆษณาของผลิตภัณฑ์ประเภทใด จะปรากฏหน้าเว็บไซต์ที่ต้องการสืบค้นรายละเอียดเกี่ยวกับโฆษณา ดังรูปที่ 3

รูปที่ 2 แถบเลือกระบบสืบค้นโฆษณา

รูปที่ 3 ตัวอย่างหน้าเว็บไซต์ที่ต้องการสืบค้นรายละเอียดเกี่ยวกับโฆษณา

            จากนั้นก็สามารถเลือกข้อมูลหรือพิมพ์ข้อมูลที่ต้องการค้นหา แล้วกดค้นหาก็จะปรากฏข้อมูลการพิจารณาอนุญาตขึ้นมา

ตัวอย่างการสืบค้นข้อมูลการอนุญาตโฆษณายา

            เรื่องการโฆษณาขายยานั้น ขอทบทวนว่าก่อนที่จะโฆษณาขายยาจะต้องได้รับอนุญาตเสียก่อน ซึ่งจะต้องยื่นแบบคำขออนุญาตโฆษณาขายยา ดังรูปที่ 4 ซึ่งใบแบบคำขอนั้นจะระบุว่าใครเป็นผู้ขออนุญาตโฆษณาและมีที่อยู่ที่ใด ยาที่โฆษณานั้นมีชื่อและทะเบียนตำรับยาอะไร เป็นยาประเภทใด มีกลุ่มเป้าหมายในการโฆษณาเป็นประชาชนทั่วไปหรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะ หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ จะโฆษณาผ่านช่องทางใด ซึ่งมีช่องให้เลือกสื่อที่ต้องการโฆษณา พร้อมแนบเอกสารที่ต้องการให้ตรวจสอบ ข้อมูลดังกล่าวนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณายา

รูปที่ 4 ตัวอย่างแบบคำขออนุญาตโฆษณาขายยา

            เมื่อค้นหาด้วยชื่อยา หรือเลขที่ใบอนุญาตโฆษณา จะปรากฏข้อมูลรายละเอียดข้อมูลการอนุญาตโฆษณายา ประกอบด้วย

  1. ประเภทใบอนุญาตโฆษณา (เช่น ผู้ขออนุญาตได้ขอใบอนุญาตโฆษณาผ่านทางสื่อใด)
  2. ผลการพิจารณา (เช่น มีผลบังคับใช้)
  3. เลขที่ใบอนุญาตโฆษณา (เช่น ฆท. ..../25.. หรือ ฆศ. ..../25..)
  4. ผู้รับอนุญาต (หมายถึง ผู้รับอนุญาตโฆษณา)
  5. ที่ตั้งของผู้รับอนุญาต
  6. ชื่อผลิตภัณฑ์/เลขที่อนุญาต ซึ่งเป็นชื่อผลิตภัณฑ์ที่ขออนุญาตโฆษณา และเลขทะเบียนตำรับยา
  7. ประเภทสื่อ ซึ่งจะระบุว่าการโฆษณานี้ครอบคลุมถึงสื่อประเภทใดบ้าง เช่น วิทยุกระจายเสียง (ความยาว ... วินาที), Internet Homepage, หนังสือ-หนังสือพิมพ์, นิตยสาร, วารสาร, รูปลอก, แผ่นพับ-ใบปลิว, แผ่นป้าย-โปสเตอร์, ฯลฯ)
  8. วันที่อนุมัติ คือ วันที่ได้รับใบอนุญาตโฆษณาขายยา
  9. วันที่หมดอายุ คือ วันที่ใบอนุญาตโฆษณาขายยาหมดอายุไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่อนุญาต เช่น ได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 วันที่หมดอายุของสื่อนี้ คือ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

แต่ผลลัพธ์ของการค้นหายังไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เครือข่ายผู้บริโภคต้องการ ซึ่งต้องการตรวจสอบว่าเนื้อหาข้อความในโฆษณาที่ปรากฏต่อประชาชนนั้นตรงกับที่ได้รับอนุญาตไว้หรือไม่[2] ไม่ได้ต้องการทราบเพียงชื่อผลิตภัณฑ์กับเลขที่อนุญาตโฆษณา เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายอาจโฆษณาอีกอย่างโดยไม่ตรงกับที่ได้รับอนุญาต แต่อ้างว่าได้รับโฆษณาแล้วก็ได้ ซึ่งคงจะต้องติดตามหลังวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562 อีกครั้งว่าฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร

[1][1] กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค. (วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2561), อย. เปิดใช้ระบบฐานข้อมูลอนุญาตโฆษณายา อาหาร และเครื่องมือแพทย์ หวังลดปัญหาโฆษณาผิดกฎหมาย, ข่าวแจก 37/ปีงบประมาณ 2561.

[2] [2] สำนักงาน กสทช.  (วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560), เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคสื่อชี้ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายยังเกลื่อน เรียกร้อง อย. เร่งรัดเปิดใช้ระบบฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณา สสจ. – กสทช. ภาค อย่ากลัวการบังคับใช้กฎหมาย, สืบค้นจาก http://bcp.nbtc.go.th/en/detail/2017-02-02-12-32-00