มลพิษทางอากาศอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม

มลพิษทางอากาศอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม

         Reuters Health Information: ข้อมูลการศึกษาล่าสุดโดย Dr.Suh-Hang Hank Juo และคณะผู้วิจัยจากสถาบัน China Medical University ประเทศไต้หวัน พบหลักฐานว่าปริมาณมลพิษทางอากาศที่สูงนั้นมีผลเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม (age-related macula degeneration; AMD) อย่างมีนัยสำคัญ

            ปัจจุบันมีข้อมูลการศึกษาชัดเจนแล้วว่าการสูบบุหรี่มีผลเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรค AMD แต่ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าปัจจัยในแง่สิ่งแวดล้อมอื่น ๆ มีผลด้วยหรือไม่ ดังนั้น จึงมีการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโรคนี้กับมลพิษทางอากาศขึ้น โดยการศึกษาดังกล่าวเป็นการศึกษาในประเทศไต้หวันที่ใช้ข้อมูลในฐานข้อมูล 2 แหล่ง คือ Longitudinal Health Insurance Database (LHID) และ Taiwan Air Quality Monitoring Database (TAQMD) ซึ่งเป็นข้อมูลที่รวบรวมจากอาสาสมัครกว่า 40,000 ราย และติดตามเป็นเวลานานกว่า 11 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้มีผู้ที่เกิดโรค AMD ขึ้นจำนวน 1,442 ราย และเมื่อทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดโรคและพื้นที่ที่ผู้ที่เกิดโรคอาศัย พบว่าผู้ที่อาศัยในเขตที่มีมลพิษทางอากาศจากเครื่องยนต์ปริมาณสูงมีโอกาสในการเกิดโรค AMD ได้มากกว่าผู้ที่อาศัยในเขตที่มีมลพิษทางอากาศต่ำถึงร้อยละ 84

            Dr.Fernando Arevalo ศาสตราจารย์ด้านจักษุวิทยาจาก John Hopkins University School of Medicine และหัวหน้าแผนกจักษุวิทยาที่ John Hopkins Bayview Medical Center ในบัลติมอร์ กล่าวให้ความเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษาในครั้งนี้ว่า เป็นข้อมูลที่น่าสนใจมากแต่เนื่องจากเป็นข้อมูลที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการมีมลพิษในอากาศกับการเป็นโรค AMD เท่านั้น ไม่ใช่ความสัมพันธ์ในเชิงที่เป็นสาเหตุของโรค นอกจากนี้โรค AMD ยังมีปัจจัยของการเกิดโรคที่หลากหลาย รวมถึงปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น จึงยังอาจต้องรอคอยข้อมูลที่ได้มาจากการศึกษาแบบ longitudinal observational study ต่อไป