5 เรื่องต้องรู้กับอันตรายของไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ

5 เรื่องต้องรู้กับอันตรายของไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ

         Medscape Medical News: ในกลุ่มผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่นั้น ผู้สูงอายุนับเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโรคมากที่สุด ข้อมูลการศึกษาพบว่าในผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตนั้น ร้อยละ 50-70 และร้อยละ 90 ตามลำดับ เป็นผู้สูงอายุ และยังพบว่าผู้ป่วยเหล่านี้มักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้บ่อยจนทำให้เกิดความสูญเสียทางสุขภาพและคุณภาพชีวิตไปได้อย่างมาก และต่อไปนี้คือ 5 สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับโรคนี้เพื่อเตรียมพร้อมรับกับการระบาดของโรคที่มักจะเกิดขึ้นตามฤดูกาลที่กำลังจะมาถึง

            1. ผู้สูงอายุมักจะมีโรคร่วมซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ โรคร่วมเหล่านี้ได้แก่ โรคหัวใจ เบาหวาน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืด เป็นต้น ซึ่งผลกระทบจากโรคไข้หวัดใหญ่มีทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ทำให้โรคเดิมของผู้ป่วยเกิดการกำเริบเฉียบพลัน เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ไปจนทำให้เกิดภาวะหลง (delirium) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มและกระดูกหักได้ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจหรือโรคปอดจะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่เป็นโรค 5 และ 12 เท่า ตามลำดับ ในขณะที่หากเป็นทั้งโรคปอดและหัวใจจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเสียชีวิตมากถึง 20 เท่าเลยทีเดียว

            2. ระบบภูมิคุ้มกันของผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงตามวัย ซึ่งเมื่อรวมกับการมีโรคร่วมบางชนิดที่มีผลเปลี่ยนแปลงระบบภูมิคุ้มกันด้วยแล้ว ทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการให้วัคซีนมีประสิทธิภาพน้อยลง และเมื่อเกิดการอักเสบขึ้นแล้ว กลไกในการควบคุมการอักเสบให้มีความสมดุลก็มักจะเสียไปด้วยจึงทำให้เกิดผลกระทบจากการอักเสบมากขึ้น

            3. ลักษณะทางคลินิกของไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุมีได้หลายรูปแบบ ข้อมูลจากหลายการศึกษาพบว่าผู้ป่วยสูงอายุมีอาการของไข้หวัดใหญ่ที่ครบตามเกณฑ์วินิจฉัยเพียงร้อยละ 31 เท่านั้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีเพียงอาการอ่อนเพลีย ซึมลงหรือสับสน หรือเกิดอาการของโรคร่วมที่มีการกำเริบเฉียบพลันขึ้น ซึ่งมักทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ได้รับการตรวจหาการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่และไม่ได้รับการวินิจฉัย หรือวินิจฉัยผิดได้ง่าย

            4. โรคไข้หวัดใหญ่มักสร้างผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว นอกเหนือไปจากทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยอย่างเฉียบพลันในระยะสั้นแล้ว ในผู้ป่วยสูงอายุทุก 5-6 รายที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะมี 1 รายที่ิมีการถดถอยของสภาพร่างกายในระยะยาว ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันที่เคยทำได้ เช่น การอาบน้ำแต่งตัวด้วยตนเอง การเดินไปมาในบ้านหรือรอบ ๆ บ้าน และการทำกิจกรรมเพื่อการดำรงชีวิตทั่วไป เช่น ทำอาหาร หรือออกไปซื้อของนอกบ้าน เป็นต้น การถดถอยทางสุขภาพเหล่านี้เพิ่มโอกาสของความเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่มากขึ้นตามมา

            5. ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับวัคซีนเฉพาะที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มอายุ หน่วยงาน CDC ของสหรัฐอเมริกา ออกคำแนะนำเกี่ยวกับการให้วัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุว่า วัคซีนที่เหมาะสมสำหรับในกลุ่มอายุนี้ได้แก่ วัคซีน High dose trivalent inactivated influenza vaccine (HD-IIV3) เช่น Fluzone High-Dose, วัคซีน quadrivalent recombinant influenza vaccine (RIV4) เช่น Flublok Quadrivalent และ trivalent adjuvanted inactivated influenza vaccine (aIIV3) เป็นวัคซีนที่สามารถใช้ได้ดีในผู้ป่วยสูงอายุ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบในแง่ของความแตกต่างด้านประสิทธิภาพในการป้องกันโรคระหว่างวัคซีนแต่ละชนิด ดังนั้น ในทางปฏิบัติสามารถเลือกใช้วัคซีนชนิดใดก็ได้