การใช้ยาเพื่อรักษาอาการแพ้จากแมลงกัดต่อย

การใช้ยาเพื่อรักษาอาการแพ้จากแมลงกัดต่อย

อ.ดร.ภก.สิกขวัฒน์ นักร้อง วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

อันตรายจากการถูกแมลงสัตว์กัดต่อยซึ่งในบางครั้งอาจดูไม่น่าจะอันตรายอะไร แต่ในกรณีที่ผู้ที่ถูกแมลงกัดหรือต่อยเกิดอาการอย่างรุนแรงก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น เมื่อถูกแมลงสัตว์กัดต่อยจึงควรระวังสังเกตอาการให้ดีเพราะอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ในผู้ใหญ่ถ้าโดนแมลงหลาย ๆ ตัวรุมต่อย จะพบมีแผลมากกว่า 30-40 แผล อาจทำให้ผู้ถูกต่อยมีอาการแพ้มากและช็อกได้ ขณะเดียวกันผู้ป่วยบางรายก็จะมีอาการอาเจียน ท้องเสีย บวม ซึม ชัก เม็ดเลือดแดงแตก มีการสลายกล้ามเนื้อ การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว โดยเฉพาะการเกิดไตวายเฉียบพลัน ส่วนในเด็กเล็กจะน่ากลัวกว่า เพราะถ้าถูกต่อยเพียง 5-10 ตัว ก็อาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้(1,2)

รูปที่ 1 ผึ้ง ต่อ แตน(3)

การเกิดพิษจากแมลงเกิดจากน้ำพิษ (venom) ของแมลง ซึ่งประกอบด้วยสารก่อภูมิแพ้จำพวกโปรตีน โดยแมลงที่มักก่อโรคเป็นแมลงใน order Hymenoptera จำแนกตาม family ได้ 3 ชนิดด้วยกัน(4) คือ
1. ผึ้ง (Family Apidae) ได้แก่ ผึ้งพันธุ์น้ำหวาน (honey bee), ผึ้งหึ่ง (bumble bee)
2. ต่อ แตน (Family Vespidae) ได้แก่ ต่อ (wasp), แตน (hornet)
3. มด (Family Formicidae) ได้แก่ มดคันไฟ (fireant)

น้ำพิษของแมลง (Hymenoptera venom) มีส่วนประกอบต่างกันตามชนิดของแมลง โดยส่วนใหญ่ประกอบด้วยโปรตีนจำพวก peptide ที่มีคุณสมบัติเป็นเอนไซม์ สารเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ได้ และในปริมาณที่มากก็เป็นพิษต่อเซลล์โดยตรงได้โดยไม่เกี่ยวกับปฏิกิริยาภูมิแพ้ สารที่สำคัญคือ phospholipase ซึ่งทำให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์แบบ cytotoxic และ neurotoxic และ hyaluronidase ซึ่งเป็นสาร biogenic amine ที่นอกจากจะทำหน้าที่ร่วมกับ phospholipase แล้ว ยังทำหน้าที่เป็น spreading factor ด้วย

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

กรณีผู้ป่วยที่มีอาการเฉพาะที่ไม่รุนแรง

• ถ้าพบว่ามีเหล็กในฝังอยู่ ให้รีบนำเหล็กในออกทันที โดยใช้สันมีดหรือขอบบัตรเครดิตขูดออก หรือใช้สก็อตเทปปิดทาบตรงบริเวณที่ถูกต่อยแล้วดึงออก (ไม่ควรใช้ปากคีมคีบออก อาจบีบให้เหล็กในขับพิษออกมากขึ้น) แล้วทำความสะอาดด้วยน้ำกับสบู่

• ใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นประคบบริเวณที่ถูกต่อย นานครั้งละ 20 นาที ช่วยลดอาการปวดและบวมได้ ควรทำซ้ำทุกชั่วโมงจนกว่าอาการจะทุเลา

• ผู้ป่วยที่เคยถูกสัตว์พวกนี้กัดต่อยมาก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการแพ้ควรให้ยาแก้แพ้ และเฝ้าสังเกตอาการแพ้อย่างใกล้ชิด ถ้าเคยมีประวัติการแพ้รุนแรงมาก่อนควรส่งโรงพยาบาลด่วน

• แม้ว่าผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงหรือแผลที่ถูกต่อยทุเลาเป็นปกติแล้ว ควรสังเกตดูอาการไปอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ถ้าพบมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้ ผื่น คัน ข้ออักเสบ ซีด จุดแดงจ้ำเขียว บวม แขนขาชาหรืออ่อนแรง ตามัว เป็นต้น ควรส่งโรงพยาบาล เพราะอาจเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นช้าได้

•  ถ้าปวดมากให้รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล

• ถ้าถูกแมลงต่อยในช่องปาก นอกจากให้ยาแก้แพ้แล้ว ควรสังเกตอาการบวมของเยื่อบุช่องปาก ถ้าพบว่ามีอาการปากคอบวม พูดลำบาก หายใจลำบาก หรือพบในเด็ก ควรส่งโรงพยาบาลด่วน

• ถ้าถูกแมลงต่อยที่ตา ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อป้องกันและรักษาแผลที่กระจกตา

• พาผู้ป่วยไปฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ในรายที่ไม่เคยได้หรือได้ไม่ครบ หรือฉีดเข็มสุดท้ายมานานเกิน 5 ปี

• ถ้ามีอาการคันให้ยาแก้แพ้ เช่น chlorpheniramine หรือ hydroxyzine ครั้งละ ½-1 เม็ด ทุก 6-8 ชั่วโมง และทาด้วย topical steroid

• ผู้ป่วยอาจได้รับยาปฏิชีวนะ เช่น amoxicillin หรือ erythromycin ถ้าแผลเป็นหนอง

กรณีผู้ป่วยที่ถูกผึ้งหรือต่อรุมต่อยจำนวนมาก หรือผู้ป่วยที่มีอาการแพ้หรือเกิดพิษรุนแรง เช่น มีลมพิษทั่วตัว มีอาการบวมคันที่บริเวณนอกรอยแผลที่ถูกต่อย (เช่น หนังตาบวม ริมฝีปากบวม) หายใจลำบาก หรือมีเสียงวี้ด มีภาวะช็อก (เป็นลม ไม่ค่อยรู้สึกตัว ชีพจรเบาและเร็ว ความดันโลหิตต่ำ) ควรส่งโรงพยาบาลด่วน

รูปที่ 2 มด(4)

การใช้ยารักษาในช่วงเกิดอาการ

1. การรักษาภาวะแพ้รุนแรง (anaphylaxis)
1.1 Epinephrine เป็นยาตัวแรกที่จำเป็นต้องใช้ในภาวะแพ้แมลงแบบรุนแรง โดยใช้ epinephrine(1:1,000) ขนาด 0.01 มก./กก. ขนาดสูงสุด 0.3 มก. ในเด็ก และ 0.3-0.5 มก. ในผู้ใหญ่ ตำแหน่งที่ทำให้มีการดูดซึมยาได้รวดเร็วและมีระดับยาในเลือดสูงคือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณส่วนหน้าด้านนอกของต้นขา
1.2 Antihistamine เป็นยาชนิดที่ 2 ที่ควรใช้ในการรักษา anaphylaxis โดย anti-H1 antihistamine จะช่วยบรรเทาอาการผื่น ลมพิษ ยาที่นิยมใช้คือ diphenhydramine, chlorpheniramine ส่วน anti-H2 antihistamine จะช่วยออกฤทธิ์เสริมกับ anti-H1 antihistamine ยาที่นิยมใช้คือ ranitidine และ cimetidine
1.3 Corticosteroid เป็นยาที่หวังผลการออกฤทธิ์หลังได้รับยา 4-6 ชั่วโมง ในการลดการเกิด late phase anaphylaxis ยาที่นิยมใช้คือ methylprednisolone, hydrocortisone ให้ทางหลอดเลือดดำ หรือ prednisolone โดยการรับประทานในกรณีที่อาการไม่รุนแรง

1.4 Bronchodilator ใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการหอบจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อผนังหลอดลม โดยให้ในรูปแบบพ่นละอองฝอย

1.5 Vasopressor เช่น dopamine ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำแม้จะให้ epinephrine และสารน้ำอย่างเพียงพอแล้ว

2. การรักษาอาการเฉพาะที่ ได้แก่
2.1 การทำความสะอาดแผลบริเวณที่ถูกแมลงต่อย ถ้ามีเหล็กในควรบ่งออกเพื่อป้องกันไมให้น้ำพิษเข้าไปในร่างกายมากขึ้น
2.2 ให้ยา anti-H1 antihistamine ชนิดรับประทานเพื่อลดอาการคัน และปวดแสบปวดร้อน
2.3 ถ้ามีการอักเสบมากบริเวณกว้างพิจารณาให้ corticosteroid ในรูปแบบทาเฉพาะที่ หรือรับประทานขึ้นอยู่กับความรุนแรง
2.4 ถ้ามีการติดเชื้อควรให้ยาปฏิชีวนะ
2.5 อาจประคบน้ำแข็งเพื่อลดอาการบวมเฉพาะที่ได้

การป้องกันจากการถูกแมลงกัดต่อย

             การให้ความรู้ความเข้าใจในการหลีกเลี่ยงแมลงแก่ผู้ป่วยก็เป็นการป้องกันที่สำคัญซึ่งสามารถปฏิบัติได้โดย

1.กำจัดขยะและเศษอาหารในบริเวณบ้านเพื่อไม่ให้แมลงพวกนี้มาตอม
2.เมื่อพบเห็นรังของแมลงควรแจ้งผู้ชำนาญมากำจัดออก อย่าแหย่หรือทำลายรังต่อหรือรังผึ้งเอง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรเตือนเด็ก ๆ อย่ากระทำดังกล่าว)
3.ในกรณีที่ต้องเดินทางเข้าไปในบริเวณที่มีแมลงพวกนี้ชุกชุมหรือออกไปกลางแจ้ง ไม่ควรใส่เสื้อสีฉูดฉาด ลายดอกไม้หรือใส่น้ำหอม ซึ่งเป็นสิ่งล่อให้ผึ้งหรือต่อบินมาตอมได้
4.ไม่เดินด้วยเท้าเปล่าหรือรองเท้าแตะ
5.ใส่กางเกงขายาว ถุงเท้า รองเท้า หมวก ถุงมือเมื่อมีโอกาสสัมผัสแมลง
6.ระมัดระวังแมลงเมื่อเข้าใกล้พุ่มไม้ ถังขยะ หรือออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน
7.ผู้ป่วยที่แพ้แมลงแบบรุนแรงควรใส่สร้อยข้อมือหรือสร้อยคอที่ระบุว่าแพ้แมลงชนิดใดไว้อย่างชัดเจน
8.ถ้าถูกแมลงโดยเฉพาะต่อต่อย ควรวิ่งหนีโดยเร็วที่สุด ให้ห่างจากรังเกิน 7 เมตร ซึ่งต่อมักจะไม่ตามไป ควรใช้ผ้าคลุมศีรษะป้องกันไม่ให้ต่อติดอยู่ในผม ซึ่งจะต่อยซ้ำ ๆ ได้

การถูกแมลงสัตว์กัดต่อยที่พบได้บ่อย ได้แก่ ผึ้ง ต่อ แตน สุนัข แมว มดคันไฟ เมื่อถูกสัตว์เหล่านี้กัดหรือต่อยจะทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้พิษที่ถูกฉีดเข้าที่ผิวหนังบริเวณบาดแผลที่ถูกกัดหรือต่อย อย่างไรก็ตาม คนส่วนมากมักไม่แพ้พิษของแมลงและสัตว์เหล่านี้ แต่อาการปวดที่เกิดขึ้นอาจทำให้สับสนว่าเป็นอาการปวดธรรมดาหรืออาการแพ้ ซึ่งปฏิกิริยาการแพ้อาจรุนแรงถึงเสียชีวิตจากการแพ้แมลงกัดต่อยอย่างรุนแรง ดังนั้น การช่วยเหลือจึงควรให้แน่ชัดระหว่างปฏิกิริยาธรรมดาและปฏิกิริยาแพ้ จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที

เอกสารอ้างอิง

  1. ปฐมพยาบาลอย่างไรเมื่อลูกถูกแมลงกัดต่อย. http://motherandchild.in.th/
  2. สุทธีพร มูลศาสตร์. การช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นเมื่อถูกแมลงต่อย. http://stouonline.stou.ac.th/
  3. ผึ้ง ต่อ แตน ไม่ใช่สัตว์มีพิษที่น่ากลัวอีกต่อไปเมื่อมีสิ่งนี้. https://www.winnews.tv/news/
  4. https://www.cheminpestcontrol.com/
  5. รวีรัตน์ สิชฌรังสี. การแพ้จากแมลงต่อย. Journal of Medicine and Health Sciences (Vol.21 No.2 August 2014). https://www.tci-thaijo.org/
  6. สุรเกียรติ อาชานานุภาพ. ผึ้งต่อย ต่อต่อย. https://www.doctor.or.th/