เบลอ วูบ บ่อย...เสี่ยงโรคลมชักแบบไม่ทันตั้งตัว

เบลอ วูบ บ่อย...เสี่ยงโรคลมชักแบบไม่ทันตั้งตัว

            จากสถิติของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่าปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคลมชัก หรือ ลมบ้าหมู ประเภทที่ไม่มีอาการชักเกร็งมากถึง 650,000 คน แต่ได้รับการรักษาน้อยเพียง 1 ใน 10 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งถือว่าโรคนี้กำลังเป็นภัยเงียบที่สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ซึ่งมีอาการเบลอ เหม่อลอย ตาค้าง วูบบ่อย โดยอาการเหล่านี้ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมชักหรือลมบ้าหมูแบบไม่ทันตั้งตัวได้ หากไม่ได้รับการรักษาและปล่อยให้มีอาการลักษณะนี้บ่อย ๆ อาจส่งผลให้เป็นโรคสมองเสื่อมไว และส่งผลให้ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชซ้ำซ้อนตามมาได้ถึงร้อยละ 30

         พญ.รับพร ทักษิณวราจาร แพทย์ด้านสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า โรคลมชัก หรือ Epilepsy หรือที่คนไทยเรียกว่า ลมบ้าหมู จัดเป็นโรคของการเจ็บป่วยทางสมอง พบได้ทุกเพศทุกวัย นอกจากพบในผู้ป่วยที่บกพร่องทางสติปัญญาโรคออทิสติกแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นกับทุกคนที่มีร่างกายแข็งแรงได้อีกด้วย โดยสาเหตุหลักนั้นเกิดจากเซลล์สมองที่มีนับล้านเซลล์ที่ทำงานเชื่อมโยงกันเหมือนวงจรไฟฟ้าและปล่อยคลื่นไฟฟ้าออกมาผิดปกติพร้อมกันอย่างเฉียบพลัน จึงส่งผลให้การควบคุมการทำงานของสมองเสียไปชั่วขณะ ซึ่งโรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากกรรมพันธุ์ ติดเชื้อในสมอง สมองขาดออกซิเจน ดื่มสุรา อุบัติเหตุทำให้เกิดแผลเป็นในสมอง หรือเซลล์สมองอยู่ผิดที่ หรือมีเนื้องอกในสมอง โดยสถิติทั่วโลกมักพบผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 50 ล้านคน โดย 2 ใน 3 อยู่ในทวีปเอเชีย ส่วนในประเทศไทยคาดการณ์ว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ร้อยละ 1 หรือมีประมาณ 650,000 คนทั่วประเทศ แต่สถิติการเข้ารับการรักษาพบว่ามีน้อยมาก ประมาณร้อยละ 10 โดยข้อมูลในปี พ.ศ. 2558 มีผู้เข้ารับการรักษาจำนวน 79,385 คน เป็นชาย 49,100 คน หญิง 30,285 คน โดยอาการของโรคลมชักแบ่งเป็น 2 ลักษณะอาการ คือ 1. อาการชักกระตุกเกร็งไปทั้งตัวคล้ายกับลมบ้าหมู ลักษณะการชักแบบนี้จะเห็นได้ชัดเจน คนไทยส่วนใหญ่จะคุ้นเคยและรู้จักว่าโรคลมบ้าหมู  2. อยู่ดี ๆ ก็มีอาการแบบเบลอ ๆ เหม่อลอย ไม่รู้สึกตัวหรือที่เรียกว่า “อาการวูบไปชั่วขณะ” อาจมีตาค้างหรือตาเหลือกด้วยก็ได้ ส่วนมากมักพบในเด็กอายุ 6-14 ปี อาการของโรคลมชักชนิดนี้คนไทยยังรู้จักน้อยมาก และมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นอาการวูบหรือเป็นลมทั่วไปจึงไม่ไปรับการรักษาอย่างทันท่วงที

            ดังนั้น หากมีอาการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นใน 2 ลักษณะอาการ อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของการชักให้เร็วที่สุดและให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น หากอาการชักเกิดจากคลื่นสมองผิดปกติทั่วไปจะให้การรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมอาการชัก โดยปรับกระแสไฟฟ้าในสมองให้กลับมาทำงานเป็นปกติ ป้องกันเซลล์สมองถูกทำลาย หากเกิดจากเนื้องอกในสมองอาจใช้วิธีการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออก แต่หากผู้ที่มีอาการชักได้รับการรักษาเร็ว โดยเฉพาะหลังจากมีอาการครั้งแรกจะมีโอกาสหายขาดได้สูง และสามารถกลับมาเรียนหนังสือหรือทำงานได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาก็จะมีอาการชักบ่อย บางรายอาจเกิดเป็นชุด ๆ หรือเกิดตลอดวันก็ได้ จะมีผลเสียที่เป็นอันตรายต่อชีวิต โดยเฉพาะการชักแบบลมบ้าหมูอาจทำให้เซลล์สมองตาย และทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมตั้งแต่อายุยังน้อย นอกจากนี้ร้อยละ 30 ส่งผลทำให้เกิดโรคทางจิตเวชตามมาได้ซึ่งถือเป็นภัยเงียบแบบไม่ทันตั้งตัว การรักษาโรคลมชักผู้ป่วยจะต้องยึดหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัดคือ การรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง อย่าหยุดยาเอง และไม่ลดจำนวนยาเอง ต้องใช้เวลารักษาไม่ต่ำกว่า 2 ปีจึงจะควบคุมอาการชักที่ได้ผลดี โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาปรับลดหรือหยุดยาให้เอง โดยผู้ป่วยประมาณกว่าร้อยละ 70 จะมีโอกาสหายขาดได้ ส่วนอีกร้อยละ 30 มีอาการดีขึ้นแม้ไม่หายชักทั้งหมดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักจะมีความเสี่ยงเสียชีวิตได้สูงกว่าคนปกติทั่วไป 2-3 เท่า สำหรับการช่วยเหลือผู้ที่กำลังมีอาการชัก ประชาชนผู้ที่พบเห็นต้องตั้งสติให้ดี ระวังไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายจากการชัก ไม่สำลักน้ำลายหรืออาหาร โดยให้จับศีรษะและลำตัวตะแคงไปด้านข้าง และดูแลไม่ให้มีสิ่งของที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยมากระทบกับผู้ป่วยโดยตรง เช่น กาน้ำร้อน หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็นของแข็ง เพื่อไม่ให้แขนขาของผู้ป่วยมากระแทก หากเป็นไปได้ให้บันทึกภาพเคลื่อนไหวของอาการชักที่เกิดขึ้นด้วย เพื่อนำไปให้แพทย์วินิจฉัยแยกอาการชักจากโรคลมชักกับโรคอื่น ๆ ได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญยังเป็นการช่วยเหลือแพทย์ในการวินิจฉัยหาแนวทางการรักษาได้อีกด้วย