การสัมผัสมลพิษทางอากาศ PM2.5 เพียงช่วงสั้น ๆ อาจนำไปสู่การรักษาตัวในโรงพยาบาลได้

การสัมผัสมลพิษทางอากาศ PM2.5 เพียงช่วงสั้น ๆ อาจนำไปสู่การรักษาตัวในโรงพยาบาลได้

            Reuters Health Information: รายงานผลการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าการสัมผัสกับมลพิษ PM2.5 ในช่วงสั้น ๆ สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ เบาหวาน และลิ่มเลือดอุดตันที่ปอดได้มากขึ้น และผลการศึกษาล่าสุดในประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Yaguang Wei นักวิจัยด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมจาก Harvard T.H. Chan School of Public Health ใน Boston ชี้ว่า ผู้สูงอายุที่สัมผัสกับมลพิษทางอากาศชนิด PM2.5 แม้ในช่วงเวลาสั้น ๆ 1-2 วัน นอกจากจะเกิดความผิดปกติต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ ที่นำไปสู่การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้มากขึ้น

            การศึกษาดังกล่าวนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมจากผู้ป่วยกลุ่ม Medicare ทั่วประเทศในช่วงปี ค.ศ. 2000-2012 โดยหาความสัมพันธ์ระหว่างระดับมลพิษทางอากาศเฉลี่ยในแต่ละวันกับอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคต่าง ๆ 214 โรค ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่าการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในช่วงสั้น ๆ สัมพันธ์กับการเข้ารับการรักษาด้วยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย ไตวาย หรือภาวะลำไส้อุดตันได้มากขึ้น และพบว่าการมีระดับมลพิษทางอากาศ PM2.5 เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1 µg ต่อลูกบาศก์เมตร สัมพันธ์กับการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 2,050-3,642 ครั้ง การนอนโรงพยาบาล 12,216-20,098 วัน และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลถึง 31-69 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาต่าง ๆ นอกโรงพยาบาล

            ผู้วิจัยกล่าวว่า ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางหัวใจและหลอดเลือด และโรคปอด ควรเพิ่มความระมัดระวังต่อการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติได้มาก บุคลากรทางการแพทย์เองก็ควรตระหนักถึงปัจจัยนี้และเฝ้าระวังการเกิดโรคในระยะที่มีระดับมลพิษทางอากาศที่มากขึ้น