การให้วิตามินดีในขนาดสูงไม่มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยภาวะวิกฤติ

อ.นพ.สันติ สิลัยรัตน์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

การให้วิตามินดีในขนาดสูงไม่มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยภาวะวิกฤติ

Medscape Medical News: ผลการศึกษาแบบสุ่มในระยะที่ 3 เกี่ยวกับการให้วิตามินดี 3 ชนิด รับประทานในขนาดสูงสำหรับผู้ป่วยภาวะวิกฤติที่มีภาวะขาดวิตามินดี โดย The National Heart, Lung, and Blood Institute (NHLBI) Prevention and Early Treatment of Acute Lung Injury (PETAL) Network พบว่าวิตามินดีในขนาดสูงนั้นไม่ช่วยทำให้อัตราการเสียชีวิตภายใน 90 วัน หรือผลการรักษาในด้านอื่น ๆ ดีขึ้นเมื่อเทียบกับยาหลอก

            หลักฐานการศึกษาก่อนหน้านี้หลายการศึกษาพบความสัมพันธ์ระหว่างการขาดวิตามินดีกับความเจ็บป่วยต่าง ๆ รวมถึงการเสียชีวิตในผู้ป่วยภาวะวิกฤติ รวมถึงมีการศึกษาขนาดเล็กบางการศึกษาพบว่าการให้วิตามินดีมีส่วนช่วยทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลงได้ จึงมีผู้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการเสริมวิตามินดีในขนาดสูงว่าอาจมีประโยชน์ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ การศึกษาโดย PETAL network จึงดำเนินการศึกษาชื่อ Vitamin D to Improve Outcomes by Leveraging Early Treatment (VIOLET) trial ในสถานพยาบาลต่าง ๆ จำนวน 44 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ป่วยระยะวิกฤติที่ตรวจพบว่ามีภาวะขาดวิตามินดีจำนวน 1,078 คนเข้าร่วมการศึกษา

            ภายใน 12 ชั่วโมงหลังเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยภาวะวิกฤติ ผู้เข้าร่วมการศึกษาจะได้รับการแบ่งเป็น 2 กลุ่มแบบสุ่มให้ได้รับการรักษาที่แตกต่างกันคือ วิตามินดี 3 ชนิดรับประทานในขนาด 540,000 IU ครั้งเดียวหรือยาหลอก ติดตามผลการรักษาด้วยอัตราการเสียชีวิตภายใน 90 วัน โดยภายใน 3 วันหลังจากที่มีการให้วิตามินดี 3 กลุ่มที่ได้รับวิตามินดีมีระดับ 25-hydroxyvitamin D ในเลือดเฉลี่ย 46.9 ± 23.2 ng/mL สูงกว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกอย่างชัดเจนที่มีระดับเฉลี่ย 11.4 ± 5.6 ng/mL

            ผลการศึกษาในระหว่างการวิจัย (interim analysis) พบว่าอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับวิตามินดีคิดเป็นร้อยละ 23.5 ส่วนในกลุ่มผู้ที่ได้รับยาหลอกมีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 20.6 ซึ่งไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.26) ทำให้คณะกรรมการติดตามความปลอดภัยด้านการวิจัยมีมติให้ยุติการศึกษา เนื่องจากเห็นว่ามีโอกาสน้อยกว่าร้อยละ 2 ที่จะทำให้ผลการวิจัยในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ พบว่าวิตามินดีจะมีประโยชน์สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ทำการศึกษา ส่วนในแง่ของผลการศึกษาในด้านอื่น ๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางคลินิก ทางสรีรวิทยา หรือในแง่ของจำนวนวันนอนโรงพยาบาล ระยะเวลาของการใช้เครื่องช่วยหายใจ และ EQ-5D-5L score ก็พบว่าไม่แตกต่างกันในทั้ง 2 กลุ่มที่ทำการศึกษา นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับวิตามินดีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยภาวะติดเชื้อและ acute respiratory distress syndrome ก่อนได้รับการสุ่มเข้าร่วมการศึกษา

            ผู้วิจัยกล่าวให้ความเห็นว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่การใช้วิตามินดีเพื่อป้องกันโรคกับการใช้เพื่อการรักษาโรคนั้นอาจให้ผลที่แตกต่างกัน หรืออาจแตกต่างกันด้วยความบังเอิญก็เป็นได้

            ในปี ค.ศ. 2014 มีการศึกษาในระยะที่ 2 ชื่อ VITdAL-ICU study ซึ่งทำการศึกษาในผู้ป่วยระยะวิกฤติที่มีภาวะวิตามินดีต่ำจำนวน 475 ราย พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการเสริมวิตามินดีมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก แต่อัตราการเสียชีวิตภายใน 28 วัน และ 6 เดือนไม่ได้มีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับยาหลอก (คิดเป็นร้อยละ 21.9 เทียบกับ 28.6 และร้อยละ 35 เทียบกับร้อยละ 42.9 ตามลำดับ, p = 0.09) ซึ่งผู้วิจัยในการศึกษากล่าวว่าอาจอธิบายได้จากการที่ในการศึกษาครั้งนี้ผู้ป่วยที่เข้าร่วมการรักษาเป็นกลุ่มผู้ป่วยทางด้านอายุรกรรมที่ได้รับการวินิจฉัยกลุ่มโรคติดเชื้อ เช่น pneumonia, sepsis, shock และ respiratory failure ในขณะที่ผู้ป่วยในการศึกษา VITdAL-ICU นั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยทางศัลยกรรมและระบบประสาท และผู้วิจัยสรุปว่าผลการศึกษาในครั้งนี้จึงบ่งชี้ว่าการให้วิตามินดีในกลุ่มผู้ป่วยภาวะวิกฤติทางอายุรกรรมนั้นไม่ได้ประโยชน์ในแง่ของการลดอัตราการเสียชีวิต