นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผอ.อภ. คนใหม่

นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผอ.อภ. คนใหม่ 
พร้อมสานต่องานเดิม นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้บริหารงาน

องค์การเภสัชกรรมเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2509 ตามพระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ. 2509 เป็นการรวมกันของกองโอสถศาลาและกองงานเภสัชกรรม เพื่อผลิตยาและเวชภัณฑ์ภายในประเทศ แก้ปัญหาการนำเข้ายาจากต่างประเทศและส่งเสริมเภสัชอุตสาหกรรมภายในประเทศให้ เจริญยิ่งขึ้น นับได้ว่าองค์การเภสัชกรรมเป็นโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบันแห่งแรกของประเทศไทย ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมดำเนินการผลิตยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์ออกจำหน่ายกว่า 200 รายการ ในทุกหมวดการผลิต (ยาเม็ด แคปซูล ขี้ผึ้ง ครีม ยาผง ยาฉีด ยาน้ำ ยาน้ำเชื่อม และยาน้ำเชื่อมชนิดแห้ง) ทั้งยาในบัญชียาหลักแห่งชาติและนอกบัญชี ยาที่ใช้ในโครงการรณรงค์ทางการสาธารณสุขต่าง ๆ รวมถึงการผลิตชีววัตถุขององค์การเภสัชกรรม โดยเป็นโรงงานเดียวในประเทศที่ทำการผลิตวัคซีนตั้งแต่ในขั้นต้นจนเป็นวัคซีนสำเร็จรูป ซึ่งปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมมีการผลิตชีววัตถุทั้งประเภทวัคซีนและเซรุ่มรวม 8 รายการ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการพัฒนาขึ้นมาที่สำคัญ ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบจากไวรัสเจอีสายพันธุ์เบจิ้ง (Japanese Encephalitis Vaccine, Beijing Strain) ซึ่งมีการพัฒนาขึ้น ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ชีววัตถุขององค์การเภสัชกรรมส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่องค์การเภสัชกรรมดำเนินการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขตามแผนการรณรงค์เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคเป็นหลัก โดยไม่มุ่งหวังผลกำไร ไม่เพียงเท่านี้องค์การเภสัชกรรมยังผลิตยาตำราหลวงซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้านที่องค์การเภสัชกรรมผลิตขึ้นสำหรับใช้ในการดูแลรักษาตนเองเบื้องต้นเมื่อมีอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้ประชาชนได้มียาดีราคาถูกไว้ใช้อย่างทั่วถึง เป็นยาที่มีความปลอดภัยสูงและมีราคาถูก ประชาชนสามารถหาซื้อไว้ใช้เองประจำบ้านได้อย่างปลอดภัย เพราะถึงแม้จะมีราคาถูก แต่เป็นยามาตรฐานเดียวกับยาประเภทอื่น ๆ ขององค์การเภสัชกรรม เพียงแต่ต่างกันในขนาดบรรจุเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากการผลิตและจำหน่ายยาแก่ประชาชนทั่วไปแล้ว องค์การเภสัชกรรมยังมีหน้าที่วิจัยยา เพื่อป้องกันรักษาโรคภัยที่เกิดขึ้นใหม่ รวมถึงการให้ความรู้ถึงวิธีการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสม รวมถึงเรื่องสุขอนามัยอื่น ๆ แก่ประชาชนอีกด้วย

จากบทบาทและภารกิจที่สำคัญในการเป็นหน่วยงานหลักที่ผลิตยาให้แก่คนไทย จึงไม่แปลกใจว่าทำไมองค์การเภสัชกรรมจึงเป็นที่ถูกจับตาของสังคม อาคันตุกะฉบับนี้จะนำท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมคนใหม่ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556 โดยผ่านการเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ตามมติคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม โดยในวันนี้ นพ.สุวัช ได้มาเปิดเผยถึงก้าวต่อไปขององค์การเภสัชกรรมตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ดำรงตำแหน่งให้ฟัง

นพ.สุวัช เกิดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ปัจจุบันอายุ 55 ปี สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต วิทยาศาสตร์การแพทย์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2524 สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2526 และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (M.Sc) Health Policy & Planning and Finance, London School of Hygiene and Tropical Medicine เมื่อปี พ.ศ. 2543

ในส่วนของการบริหารงานนั้น นพ.สุวัช เคยดำรงตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก รองอธิบดีกรมอนามัย รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตพื้นที่เครือข่ายที่ 12 ก่อนได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม

          นพ.สุวัช กล่าวถึงการเข้ามาทำงานร่วมกับองค์การเภสัชกรรมว่า จะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารงาน พร้อมสานงานเดิม เดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก และโรงงานผลิตยารังสิต มุ่งผลักดันให้องค์การเภสัชกรรมเป็นกลไกหลักในระบบยาของประเทศอย่างแท้จริงที่มีความรับผิดชอบ โปร่งใส วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาใหม่ ๆ และผลิตยาดีมีคุณภาพ ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้มากขึ้น ตอบสนองความต้องการทางสาธารณสุขของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ    

          ทั้งนี้ นพ.สุวัช ได้เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานในโอกาสเข้ารับตำแหน่งว่า ตนมีความมุ่งมั่น ตั้งใจเข้ามาร่วมงานกับองค์การเภสัชกรรมด้วยความสมัครใจ โดยดำเนินงานตามวิสัยทัศน์และพันธกิจต่าง ๆ ขององค์การเภสัชกรรม นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในมิติของคุณธรรมที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน แบ่งปัน มาใช้ในการบริหารงาน  มุ่งเน้นให้องค์การเภสัชกรรมยังคงเป็นหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบ โปร่งใส มีการวิจัยและพัฒนายาใหม่ และมีการผลิตยาที่ดี มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการด้านยาและเวชภัณฑ์ในระบบสาธารณสุข และประชาชนได้เข้าถึงยาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

             สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินงานนั้น นพ.สุวัช กล่าวว่า กลยุทธ์ในการดำเนินงานประกอบด้วย การให้องค์การเภสัชกรรมทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในระบบยาของประเทศ ทั้งในแง่ของการวิจัยและผลิตที่องค์การเภสัชกรรมดำเนินการเอง การจัดซื้อจัดหายาและเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสมจากผู้ผลิตรายอื่นที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศลดลง พร้อมพัฒนาการบริหารจัดการระบบกระจายยาให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ ทั้งในสถานการณ์ปกติและในภาวะวิกฤตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งสร้างความศรัทธาและความเชื่อมั่นให้องค์การเภสัชกรรมเป็นที่ยอมรับว่าผลิตภัณฑ์ขององค์การเภสัชกรรมเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ราคาที่ไม่สูงกว่าท้องตลาด และเป็นภาคีหลักในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ โดยเฉพาะการเป็นกลไกในการจัดหายาให้แก่หลักประกันสุขภาพทั้ง 3-4 กองทุน 

            ด้านการวิจัยและพัฒนานั้น ยังคงมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากยาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว ยาชื่อสามัญ รวมถึงยาสมุนไพร โดยจะต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์การเภสัชกรรม และความมั่นคงด้านยาของประเทศ ในส่วนของโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก และโครงการโรงงานผลิตยารังสิตจะเร่งดำเนินการสานต่อและให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อให้องค์การเภสัชกรรมมีศักยภาพในการผลิตที่สูงขึ้น และเพิ่มสัดส่วนในระบบยาของประเทศ

นอกจากนั้นในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย จะสร้างความร่วมมือกับทุก ๆ ฝ่ายทั้งกับหน่วยงานสาธารณสุข เครือข่ายผู้ป่วย องค์กรภาคประชาชน รวมทั้งพนักงานให้มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมต่าง ๆ 

            นพ.สุวัช กล่าวย้ำถึงความตั้งใจในตอนท้ายว่า การที่องค์การเภสัชกรรมสามารถเป็นที่พึ่งด้านยาและเวชภัณฑ์ให้กับระบบสาธารณสุขและประชาชนได้อย่างแท้จริงแล้ว ความเชื่อมั่น ความศรัทธา การยอมรับที่มีต่อองค์การเภสัชกรรมจะส่งผลให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ที่สร้างความยั่งยืนและมั่นคงให้กับระบบยาของประเทศต่อไป สมดังความตั้งใจขององค์การเภสัชกรรมที่ว่า “องค์การเภสัชกรรม รับผิดชอบชีวิต ผลิตยาคุณภาพ มุ่งมั่น สร้างสรรค์ นวัตกรรม คุณภาพ ยาและเวชภัณฑ์ ภายใต้บริบทแห่งมาตรฐานสากลให้ทันกับความต้องการ และสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย”