ภญ.สุมาลี สงวนศักดิ์

ภญ.สุมาลี สงวนศักดิ์

งานบริบาลทางเภสัชกรรมคืองานที่ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ร่วมกัน

            ทีมงานบริบาลทางเภสัชกรรม โรงพยาบาลแพร่ มีลักษณะการทำงานที่รวมความรับผิดชอบในการดูแลงานการบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก (ambulatory care) และงานการบริบาลเภสัชกรรมทางผู้ป่วยใน (acute care) ไว้ด้วยกัน และเริ่มมีการเชื่อมโยงกับการเยี่ยมบ้าน เพื่อดูแลให้มีความปลอดภัยในการใช้ยาของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในผลงานดีเด่นของทีมงานบริบาลทางเภสัชกรรม โรงพยาบาลแพร่ ที่สหวิชาชีพให้การยอมรับคือ บทบาทเภสัชกรในคลินิกบำบัดปวด (pain clinic) ซึ่งดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องการยาแก้ปวด

            ส่วนหนึ่งของผลงานจากหลาย ๆ ผลงานที่ทีมงานบริบาลทางเภสัชกรรมของโรงพยาบาลได้ทุ่มเทมาโดยตลอด จึงไม่แปลกใจเลยว่า เพราะอะไรทีมงานบริบาลทางเภสัชกรรม โรงพยาบาลแพร่ จึงได้รับเลือกให้รับรางวัล “ทีมงานเภสัชกรรมดีเด่น” ประจำปี พ.ศ. 2556 จากสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย)

          ภญ.สุมาลี สงวนศักดิ์ หัวหน้างานบริบาลเภสัชกรรม กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลแพร่ ได้เล่าถึงการทำงานให้ฟังว่า พี่เป็นตัวแทนของทีมงานมารับรางวัล ซึ่งการทำงานของทีมงานบริบาลเภสัชกรรมจะมีทั้งหมด 6 คนที่รับผิดชอบอยู่ โดยจะแบ่งเป็นทีมบริบาลเภสัชกรรมที่ดูแลผู้ป่วยนอก ได้แก่ คลินิกพิเศษต่าง ๆ เช่น คลินิกเบาหวาน คลินิกโรคไต คลินิก HIV ทั้งในส่วนของคนไข้เด็กและคนไข้ผู้ใหญ่ ทีมบริบาลเภสัชกรรมที่ดูแลผู้ป่วยใน ซึ่งโรงพยาบาลแพร่มีการจัดรูปแบบทีมบริบาลที่ชัดเจนแยกออกจากงานอื่น โดยในช่วงเช้าเภสัชกรจะมีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยทั้งในและนอกร่วมกับแพทย์ เพื่อติดตามค้นหาปัญหาจากการใช้ยา ร่วมแก้ไขปัญหาร่วมกับแพทย์ โดยเราจะดูแลแบบครบวงจรจนกระทั่งผู้ป่วยกลับบ้าน นอกจากนี้เรายังมีในส่วนของ Home Health Care ในกลุ่มของคนไข้เรื้อรังโดยเฉพาะกลุ่มคนไข้ปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และในกลุ่มคนไข้โรคมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งเราจะมีทีมเยี่ยมบ้านออกไปเยี่ยมบ้านของคนไข้ร่วมกับแพทย์และพยาบาลประมาณเดือนละ 1-2 ครั้ง

            สำหรับสาเหตุที่ทำให้สนใจมาทำงานด้านบริบาลเภสัชกรรม ภญ.สุมาลี กล่าวว่า เนื่องจากเวลาที่เราพบคนไข้ จากแต่เดิมที่เราพบในแผนกผู้ป่วยนอก เรามีโอกาสได้เห็นปัญหาของคนไข้ในระดับหนึ่งว่าจริง ๆ แล้ว การที่คนไข้มาอยู่ต่อหน้าเราภายในโรงพยาบาล เขาอาจจะพูดหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเราลักษณะหนึ่ง แต่ในชีวิตจริงเมื่อเขาต้องกลับไปดูแลตัวเองที่บ้าน บางครั้งด้วยบริบทของเขาอาจจะต้องมีอะไรอย่างอื่นที่มาเกี่ยวข้องกับปัญหาการใช้ยาอีกมาก การที่เราได้มีบทบาทมาทำงานด้านบริบาลเภสัชกรรมทำให้มีโอกาสที่จะได้ไปดูแล เกิดความใกล้ชิดกับคนไข้มากขึ้น มีโอกาสได้คุยกับคนไข้ มีเวลาได้ค้นปัญหาจากการใช้ยาของคนไข้ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจคนไข้มากขึ้นและช่วยกันแก้ปัญหาจากการใช้ยาของคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนมากกว่า เพราะคนไข้สามารถบอกถึงปัญหาในเชิงลึกเนื่องจากมีโอกาสได้คุย ได้ให้ข้อมูล รวมถึงทำให้เขาเข้าใจถึงความจำเป็นในการใช้ยา ซึ่งมีผลต่อความร่วมมือในการใช้ยา และยังส่งผลต่อการรักษาของเขาที่ท้ายที่สุดก็จะช่วยส่งผลให้ผลการรักษาดีขึ้น

            ภญ.สุมาลี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้สิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเมื่อมาทำงานด้านบริบาลเภสัชกรรม เนื่องจากการทำงานด้านบริบาลเภสัชกรรม เราต้องศึกษาถึงพยาธิสภาพของโรคของคนไข้และส่วนของการใช้ยา ซึ่งเราต้องมองถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่จะมีผลต่อการใช้ยาด้วย สิ่งนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เราต้องลงลึกในรายละเอียดของคนไข้มากขึ้น จุดนี้ทำให้พี่ตัดสินใจศึกษาต่อระดับปริญญาโท เพราะการศึกษาในระดับปริญญาตรีจะเน้นการเรียนการสอนที่ตัวยาเป็นหลัก แต่เมื่อได้สัมผัสกับตัวคนไข้จริง ๆ เราก็ต้องไปดูในเรื่องของพยาธิสภาพของโรค รวมทั้งผลของยาที่จะออกฤทธิ์กับคนไข้ เราต้องดูรายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้ให้มากขึ้นเพื่อที่จะทำให้การดูแลคนไข้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการจัดกลุ่มโรคที่ควรมีการบริบาลเภสัชกรรม โดยปกติแล้วเภสัชกรจะดูแลเกี่ยวกับกลุ่มโรคทางอายุรกรรม ทั้งนี้เราจะเน้นในส่วนของคนไข้โรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นในกลุ่มของคลินิกพิเศษที่โรงพยาบาลมีอยู่แล้ว และมีการติดตามดูแลคนไข้ที่บ้านด้วย เนื่องจากคนไข้กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ต้องใช้ยาหลายชนิดและต้องใช้เป็นเวลานาน การใช้ยามากก็จะเกิดปัญหาจากการใช้ยาตามจำนวนปริมาณของยาที่เขาได้รับ นอกจากนี้อายุของคนไข้ก็ยังมีผลต่อการใช้ยาด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่คนไข้โรคเรื้อรังส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนไข้สูงอายุที่บางครั้งไม่มีใครคอยดูแล เราจึงต้องให้เวลากับคนไข้กลุ่มนี้

            “ลักษณะของงานบริบาลเภสัชกรรมคือ เราต้องมีเวลาเข้าไปพูดคุยกับคนไข้ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ถึงปัญหาของคนไข้จริง ๆ ผ่านมุมมองของเขาที่นำเสนอให้กับเรา โดยเราเป็นผู้นำมาประยุกต์ใช้กับวิชาการที่เรียนมา ผสมผสานกับปัญหาที่ได้รับฟังเพื่อจะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ เป็นการสื่อสารในลักษณะสองทาง โดยมีคนไข้เป็นผู้ได้รับประโยชน์ตรงนี้ โดยสิ่งที่เราได้รับจากคนไข้คือ ความรู้สึกภูมิใจในการทำงานที่ได้ช่วยแก้ปัญหาหรือความทุกข์ของเขาให้หมดไป สิ่งนี้จะต่างจากงานในส่วนของงานบริหาร เพราะในแง่ของการบริหารจัดการ เราจะมองแต่ในเรื่องขององค์กร การบริหารจัดการ การดูแลผู้ป่วยในภาพรวมทั้งหมด แต่ไม่ได้ลงลึกเฉพาะคนไข้แต่ละราย ซึ่งจะต่างจากการทำงานด้านบริบาลเภสัชกรรมที่ได้ดูแลคนไข้แต่ละราย ทำให้ได้เห็นรายละเอียดชีวิตของคนไข้แต่ละคนว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ทำให้เรามีมุมมองในการมองคนไข้กว้างมากขึ้น และทำให้ได้เข้าใจว่าจริง ๆ แล้ว เราไม่ใช่จะสั่งให้คนไข้กินยาอย่างเดียว แต่เราต้องฟังเขาด้วยว่าเขามีปัญหาอะไรหรือไม่ เป็นการใช้ศาสตร์และศิลป์ปนกัน ไม่ใช่แค่ว่าเขาต้องปฏิบัติตามเราอย่างเดียว แต่เราต้องฟังเขาให้มากขึ้น”

            นอกจากนี้ ภญ.สุมาลี ยังได้กล่าวถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมงานเพื่อมุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกันให้ฟังด้วยว่า สำหรับการทำงานของทีมบริบาลเภสัชกรรม เวลาที่เราเจอเคสหรือปัญหาจากการทำงาน เราจะใช้วิธีเล่าสู่กันฟังตลอด เพื่อให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมกัน โดยเฉพาะเวลาที่พวกเขาสามารถช่วยเหลือคนไข้ได้ แม้ว่าจะเป็นหน้าที่แต่เราก็รู้สึกภูมิใจ ซึ่งน้องแต่ละคนเวลาที่ต้องเจอเคสที่ได้ช่วยเหลือคนไข้ เขาจะรู้สึกภูมิใจในสิ่งที่เขาทำ เราแค่มีหน้าที่กระตุ้นให้น้องรู้ว่านี่คือหน้าที่ของเภสัชกร ให้เขาเกิดความรู้สึกว่า “ใช่เลย สิ่งที่ทำนี้คือบทบาทหน้าที่ของเภสัชกร เป็นสิ่งที่น้องควรจะทำ และดีมาก ๆ จงทำไปเถอะ สักวันหนึ่งผลที่เราได้รับก็จะติดตามออกมาเอง อย่างน้อยการที่เราได้ช่วยคนไข้ไปเรื่อย ๆ สักวันหนึ่งก็จะทำให้คนอื่นเห็นความสำคัญของวิชาชีพ และจะทำให้เรารู้สึกว่าเรามีค่ามากขึ้น”

            ภญ.สุมาลี ได้กล่าวถึงจุดยากของงานบริบาลเภสัชกรรมให้ฟังว่า จะเป็นในเรื่องของการประสานงาน เนื่องจากปัญหาแต่ละอย่างจะเกี่ยวข้องกับหลาย ๆ วิชาชีพซึ่งทำให้เราต้องใช้เวลานานในการแก้ไขปัญหา หรือบางเรื่องอาจจะกระทบกับความรู้สึก โดยเฉพาะในเรื่องของการสื่อสารที่อาจทำให้มีปัญหา เนื่องจากแต่ละคนต่างมีพื้นเพและพื้นฐานที่แตกต่างกัน แต่เราต้องแสดงให้เขาเข้าใจว่าเป้าหมายคือเพื่อจะช่วยดูแลคนไข้

สำหรับความรู้สึกที่ได้รับรางวัล ภญ.สุมาลี กล่าวว่า รู้สึกดีใจ แต่จริง ๆ แล้วพี่เป็นตัวแทนของน้อง ๆ มากกว่า ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองได้รับรางวัลคนเดียว เพราะรางวัลที่ได้นี้เกิดจากความร่วมมือร่วมใจ แรงกายของน้องแต่ละคนที่ทุ่มเทอย่างเต็มที่ จึงรู้สึกขอบคุณน้อง ๆ มาก เนื่องจากหัวใจของความสำเร็จที่ทำให้พวกเราได้รางวัลนี้น่าจะเกิดจากความมุ่งมั่นและจริงใจที่ทุกคนได้พยายามทำในการช่วยเหลือคนไข้อย่างเต็มที่ และผลที่ได้ก็จะออกมาเอง “จริง ๆ แล้วการที่จะได้รับรางวัลหรือไม่ ไม่ใช่สิ่งสำคัญ เนื่องจากพวกเราทุกคนต่างก็พยายามทำกันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ยิ่งเราได้รับรางวัล เรายิ่งมีความรู้สึกว่าต้องทำให้ดีขึ้นมากกว่านี้”

            สุดท้ายนี้ ภญ.สุมาลี ได้กล่าวถึงเป้าหมายต่อไปว่า เราจะทำงานให้ครอบคลุมทั้งระบบมากขึ้น โดยร่วมมือกับหน่วยงานอื่นภายในโรงพยาบาลให้เกิดการดูแลคนไข้อย่างต่อเนื่อง เพราะงานบริบาลเภสัชกรรมไม่ได้จำกัดเพียงแต่ในส่วนของงานบริบาลที่ดูแลคนไข้บนตึก แต่ยังมีในส่วนของงานบริบาลอื่น ๆ เช่น งานบริบาลในส่วนของคนไข้นอก ซึ่งถ้าเราสามารถนำงานบริบาลเภสัชกรรมเข้าสู่งานประจำที่ทำอยู่ได้ก็จะทำให้งานบริการที่เราได้ทำอยู่ในแต่ละส่วนมีคุณภาพมากขึ้น และดูแลคนไข้ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น