ภก.ศ.ดร.พรศักดิ์ ศรีอมรศักดิ์

ภก..ดร.พรศักดิ์ ศรีอมรศักดิ์

เภสัชกรดีเด่นภูมิภาคเอเชีย เจ้าของรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ 2556

“...ผมคิดว่าหน้าที่ของเรา คือไม่ใช่การนั่งรอให้โอกาสวิ่งมาหา แต่เรามีหน้าที่ต้องพัฒนาความรู้ ความสามารถให้มากพอที่จะสร้างโอกาสจากสิ่งรอบตัวมาสร้างชีวิต สร้างอนาคต หรือความสำเร็จให้แก่ชีวิต จงอย่ามัวแต่ไปคิดว่าเมื่อไรโอกาสจะมา หรือจะแข่งขันเปรียบเทียบกับใคร แต่ควรที่จะพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ แข่งกับตัวเอง แม้ว่าในตอนเริ่มต้นอาจจะหนักและเหนื่อย ต้องอาศัยความพยายาม แต่ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งจะประสบความสำเร็จ” ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงความพยายามมุ่งมั่นตั้งใจของ ภก..ดร.พรศักดิ์ ศรีอมรศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เภสัชกรดีเด่นของภูมิภาคเอเชีย ผู้ซึ่งได้รับรางวัลการประกาศเกียรติคุณจากสหพันธ์เภสัชกรรมสมาคมแห่งเอเชีย (Federation of Asian Pharmaceutical Associations) ให้ได้รับรางวัลเภสัชกรดีเด่นของภูมิภาคเอเชียหนึ่งเดียวของไทยในปี พ.ศ. 2555 (2012 FAPA ISHIDATE AWARD) ในสาขาการวิจัยทางเภสัชศาสตร์ (Pharmaceutical Research) จากการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโดยเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการประชุม The 24th Congress of Federation of Asian Pharmaceutical Associations ระหว่างวันที่ 13-16 กันยายน พ.ศ. 2555 ที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และยังได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2556 สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัชจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ บุคคลผู้ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่ของอาจารย์ในการถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ให้แก่นักศึกษาเภสัชศาสตร์แล้ว อาจารย์ยังได้มุ่งมั่นทุ่มเทให้กับงานวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านเภสัชศาสตร์ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรม มีบทบาทในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีกด้วย

ภก..ดร.พรศักดิ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโท จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นจึงมารับราชการเป็นอาจารย์ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนที่จะได้รับทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ด้านเทคโนโลยีเภสัชกรรม ที่ประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันอาจารย์ดำรงตำแหน่งเป็นรองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการทำวิจัยของคณาจารย์ในคณะ ตลอดจนดูแลเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนั้น ภก..ดร.พรศักดิ์ ยังเป็นกรรมการบริหารสมาคมเภสัชกรการอุตสาหกรรม (ประเทศไทย) และเป็นกรรมการจัดการประชุมวิชาการทางด้านเภสัชศาสตร์ของเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยฯ สมาคมเภสัชกรการอุตสาหกรรม (ประเทศไทย) และสมาคมระดับนานาชาติหลายสมาคม

สำหรับจุดเริ่มต้นของความสนใจในงานด้านวิจัยนั้น ภก..ดร.พรศักดิ์ กล่าวว่า การทำวิจัยเป็นบทบาทหน้าที่หนึ่งของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งโดยปกติจะทำหน้าที่ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการเรียนการสอน ด้านการวิจัย ด้านการบริการวิชาการ และด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยงานทางด้านวิจัยถือว่าเป็นบทบาทหน้าที่ที่มีความสำคัญ เนื่องจากผมเชื่อว่าหากอาจารย์ไม่ทำการวิจัยเพื่อหาความรู้ใหม่มาถ่ายทอดให้แก่นักศึกษาแล้วก็เหมือนกับไม่ได้ทำหน้าที่ของอาจารย์ หากใช้เพียงความรู้ที่มีอยู่ในตำราเดิม นักศึกษาคงสามารถศึกษาได้เองอยู่แล้ว ดังนั้น อาจารย์จึงต้องหาความรู้ใหม่ อัพเดทความรู้ใหม่ ๆ นอกจากนี้การทำวิจัยยังช่วยให้เราทำความเข้าใจในเชิงลึก และสามารถนำมาอธิบายทำความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง

ทั้งนี้ ภก..ดร.พรศักดิ์ ได้กล่าวถึงแนวคิดในการทำวิจัยให้ฟังว่า การวิจัยนั้นเริ่มตั้งแต่การหาโจทย์ในการทำวิจัย ซึ่งการคิดหาหัวข้อการทำวิจัยแต่ละเรื่องจะต้องพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมหรือในชีวิตจริง โดยในส่วนตัวของผมมีความสนใจในงานวิจัย 3 ด้าน ได้แก่ ด้านแรกคือ การวิจัยเพื่อแก้ปัญหายาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้มากขึ้น ด้านที่สองคือ การพัฒนาสารช่วยทางเภสัชกรรมซึ่งเป็นสารที่ไม่ได้ออกฤทธิ์ แต่มีความจำเป็นที่ต้องใส่ลงไปในเม็ดยาเพื่อให้เม็ดยาออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น โดยจะพัฒนาสารช่วยทางเภสัชกรรมจากพอลิเมอร์ที่ได้จากธรรมชาติ และด้านที่สามคือ การใช้เทคนิคทางวิศวเภสัชกรรม เช่น เรื่องของการออกแบบการวิจัยเพื่อมาต่อยอดการวิจัยและพัฒนายา โดยอยากให้เป็นงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เป็นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เน้นการบูรณาการองค์ความรู้เพื่อมุ่งให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมของอุตสาหกรรมยาทั้งด้านผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีการผลิต เช่น การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบนำส่งยาในทางเดินอาหารรูปแบบต่าง ๆ การออกแบบยารูปแบบใหม่ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมหรือที่สูงขึ้นเพื่อทำให้ผลการรักษาหรือประสิทธิภาพในการรักษาดีขึ้น การวิจัยเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการออกแบบระบบนำส่งยาชนิดใหม่สู่ภาคอุตสาหกรรม โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่ซับซ้อนและสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรมได้ การวิจัยเพกตินจากเปลือกผลส้มโอเพื่อเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งจากผลิตผลทางการเกษตรในท้องถิ่นเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารช่วยผลิตยาหรือเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพที่ใช้ในการนำส่งยา เป็นต้น

“ผมไม่รู้ว่าเป็นความโชคดีหรือไม่ เมื่อครั้งที่ผมเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทได้มีโอกาสไปทำวิจัยในโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาที่ประเทศออสเตรเลียประมาณ 4 เดือน มีโอกาสได้พบกับอาจารย์ที่มีความเป็นนักวิจัย สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยน กระตุ้นให้เราสามารถที่จะแสดงศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่ รู้จักคิดแก้ปัญหา สิ่งนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชอบการทำวิจัย จึงเริ่มต้นทำวิจัยตั้งแต่ปีแรกที่มาทำงาน นอกจากนี้ผมยังได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ผู้ใหญ่ที่มีความเมตตาสูง ซึ่งการที่เราได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีทั้งจากอาจารย์ รุ่นพี่ ตลอดจนเพื่อนร่วมงานที่ดีจะช่วยสนับสนุนให้เราสามารถทำงานวิจัยได้เต็มที่”

อย่างไรก็ตาม ในการทำงานทุกคนย่อมพบพานกับปัญหาและอุปสรรค ภก..ดร.พรศักดิ์ ก็เช่นกันอาจารย์กล่าวว่า การพบเจอกับปัญหาถือเป็นเรื่องปกติ บางครั้งเราอาจรู้สึกเหนื่อยหรือท้อ และมีคำถามถามกับตัวเองว่าทำไมต้องทำวิจัยมากมายขนาดนั้น แต่เมื่อเราคิดดี ๆ แล้วพบว่า การทำวิจัยเป็นงานที่เรารัก เมื่อได้ทำวิจัยก็เหมือนกับได้ทำในสิ่งที่รัก สิ่งที่ชอบ ทำให้มีความสุขและไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ แต่เป็นความท้าทายในการที่จะทำวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบสำหรับตอบโจทย์วิจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเราสามารถทำวิจัยตามกระบวนการอย่างถูกต้องและสามารถหาคำตอบได้ก็จะทำให้เกิดความภูมิใจ และเป็นกำลังใจที่จะช่วยให้เราทำวิจัยต่อไปเรื่อย ๆ

“ทุกครั้งเวลาที่ผมเจอปัญหา ผมเชื่อว่าทุกปัญหามีทางออกหรือมีทางแก้ เพราะฉะนั้นเวลาที่เจอปัญหา เราคงต้องใจเย็น นั่งพัก ถอยหลังกลับมาและค่อย ๆ พิจารณาก็จะพบทางออกหรือวิธีการแก้ไขปัญหาได้เอง ซึ่งบางทีอาจจะยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในเวลานั้น แต่เมื่อทิ้งไว้สักพักหนึ่งก็อาจจะคิดออกว่าจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไรนอกจากนี้สิ่งที่จะช่วยร่นระยะเวลาที่เราจะต้องนั่งรอเพื่อจะคิดแก้ปัญหาได้คือ การมีเพื่อนนักวิจัยที่สามารถพูดคุยปรึกษาหารือได้ เพราะบางครั้งมุมมองหรือประสบการณ์ที่แตกต่างกันของเพื่อนนักวิจัยก็สามารถให้คำแนะนำหรือทำให้เราคิดในการแก้ปัญหาได้ด้วยเช่นเดียวกัน”

ภก..ดร.พรศักดิ์ ยังกล่าวถึงความภูมิใจในการทำงานให้ฟังด้วยว่า ความภาคภูมิใจมีหลายส่วน ในส่วนของงานวิจัย ภูมิใจที่มีเพื่อนร่วมงานทำวิจัยที่ดี เป็นกัลยาณมิตรในการทำวิจัยร่วมกัน นอกจากนี้ในช่วงของการทำวิจัยจะมีนักศึกษาเข้ามาร่วมในทีมทำวิจัย ทำให้มีโอกาสได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่นักวิจัยรุ่นหลังเพื่อที่เขาจะได้นำเอาประสบการณ์ไปใช้ประโยชน์ ผลงานวิจัยทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้บางส่วนอาจจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที แต่บางส่วนอาจนำไปสร้างเป็นผลงานทางวิชาการที่ทำให้ประสบความสำเร็จในวันนี้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย

นอกจากนี้ ภก..ดร.พรศักดิ์ ยังได้กล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับการทำวิจัยในปัจจุบันด้วยว่า งานวิจัยของประเทศไทยมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่งานวิจัยพื้นฐานซึ่งเป็นการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ต่าง ๆ โดยนักวิจัยส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์ที่ทำงานในสถาบันการศึกษา เป็นการวิจัยเพื่อสร้างความรู้เพื่อให้คนอื่นได้หยิบไปใช้ นอกจากนี้ยังมีนักวิจัยตามสถาบันวิจัยที่ทำวิจัยเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในเรื่องของผลิตภัณฑ์หรือการพัฒนากระบวนการต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มนักวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือนำผลิตภัณฑ์เดิมมาพัฒนาให้ดีขึ้น ทั้งนี้ผมคิดว่าประเทศไทยมีมุมมองที่ต่างจากประเทศอื่นโดยเฉพาะในช่วงหลัง นโยบายที่กำหนดจะเน้นในเรื่องของการวิจัยเพื่อพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์หรือนำไปใช้ประโยชน์ คือเป็นงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้างได้เท่านั้น โดยลืมหรือละเลยการสร้างงานวิจัยที่เป็นพื้นฐานองค์ความรู้ซึ่งต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่ให้ความสำคัญกับงานวิจัยทั้ง 2 ส่วน ไม่ใช่เน้นแค่เฉพาะงานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ควรให้ความสำคัญกับกลุ่มงานวิจัยพื้นฐานด้วย มิฉะนั้นงานวิจัยทางด้านนี้ก็อาจจะสูญหายไป

สุดท้ายนี้ ภก..ดร.พรศักดิ์ ได้กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลให้ฟังว่า รู้สึกดีใจที่ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่คณะเภสัชศาสตร์และมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงวงการวิชาการและวิจัยทางด้านเภสัชศาสตร์ โดยผมถือว่ารางวัลเภสัชกรดีเด่นของภูมิภาคเอเชีย และรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัชนี้ เป็นรางวัลที่ผมได้รับแทนเภสัชกรทุก ๆ คนที่ได้อุทิศตนทำงานด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านเภสัชศาสตร์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมให้มีบทบาทในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป การได้รับรางวัลในครั้งนี้นอกจากจะรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลแล้ว ยังเป็นแรงกระตุ้นให้มีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น และยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายนักวิจัยที่ทำงานวิจัยในลักษณะเดียวกันให้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และผมหวังว่าจะมีการเผยแพร่ความรู้หรือเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยสู่สังคม สาธารณชนหรือภาคอุตสาหกรรมด้วย