ภก.รศ.ดร.สินธุ์ชัย แก้วกิติชัย

ภก.รศ.ดร.สินธุ์ชัย แก้วกิติชัย

มุ่งสร้างความร่วมมือในวิชาชีพเภสัชกรรม  เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้แก่ลูกหลานเป็นประชากรที่มีคุณภาพในสังคม

ถ้าเอ่ยถึง “ภก.รศ.ดร.สินธุ์ชัย แก้วกิติชัย” อดีตคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หลายคนคงนึกถึงภาพของอาจารย์ รุ่นพี่ เพื่อนเภสัชกร ผู้เป็นแบบอย่างของการอุทิศตนทั้งกำลังกายและกำลังใจให้กับการทำงานเพื่อพัฒนาส่งเสริมวิชาชีพเภสัชกรรมอย่างต่อเนื่องเสมอมา ซึ่งบทบาทหน้าที่ของอาจารย์ในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในการสร้างเภสัชกรรุ่นใหม่ให้มีความพร้อมทั้งทางด้านมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมในฐานะ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา แล้ว อาจารย์ยังได้แบ่งเวลาส่วนหนึ่งทุ่มเทให้กับการพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งเป็นที่ประจักษ์และยอมรับในแวดวงเภสัชกรและบุคลากรในวิชาชีพต่าง ๆ ในฐานะ นายกเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ภก.รศ.ดร.สินธุ์ชัย กล่าวถึงเป้าหมายที่อยากทำในฐานะนายกเภสัชกรรมสมาคมฯ ให้ฟังว่า สมัยที่ ภก.รศ.ดร.ประโชติ เปล่งวิทยา และ ภก.รศ.ดร.สุนิพนธ์ ภุมมางกูร อดีตนายกเภสัชกรรมสมาคมฯ ท่านได้จัดประชุมวางแผนเกี่ยวกับการพัฒนาเภสัชกรรมสมาคมฯ ไว้ ผมอยากหยิบยกและนำเรื่องนี้กลับมาจัดทำใหม่ให้สมกับที่เภสัชกรรมสมาคมฯ เป็นองค์กรแม่ของทุกกลุ่มวิชาชีพ และเป็นผู้แทนของประเทศไทยในเวทีสากล ผมมีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูตรงส่วนนี้ เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยมีการพัฒนาค่อนข้างมาก มีการแยกสาขาเป็นสมาคมลูกมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากทำเป็นอันดับแรกคือ การสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างกัน เพราะลำพังเภสัชกรรมสมาคมฯ แม้ว่าจะเป็นองค์กรแม่ แต่ก็ไม่สามารถพูดหรือเป็นตัวแทนแต่ละองค์กรย่อยได้หมด เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดคือ การร่วมกันเป็นภาคี เนื่องจากขณะนี้ผมคิดว่าแต่ละกลุ่มในวิชาชีพมีความร่วมมือระหว่างกันน้อยลง ยังเป็นภาพของต่างคนต่างทำ ตรงจุดนี้เป็นสิ่งที่เห็นชัดเจนมาก เพราะเราควรจะมองว่าอะไรคือสิ่งที่ควรร่วมมือกันเพื่อภาพลักษณ์และประโยชน์ร่วมกันของวิชาชีพ เนื่องจากคำว่าวิชาชีพเภสัชกรรมไม่ได้บอกว่าเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นส่วนรวมของเราทุกคนที่ร่วมกัน

นอกจากจะดำรงตำแหน่งนายกเภสัชกรรมสมาคมฯ ที่มีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือกันในวิชาชีพแล้ว ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ภก.รศ.ดร.สินธุ์ชัย กล่าวว่า ถ้ามองตามบทบาทหน้าที่ของการทำงาน ทั้งสองส่วนนี้ดูเหมือนจะแยกบทบาทหน้าที่กัน แต่ความจริงแล้วทั้งสองส่วนนี้มีบทบาทที่ร่วมกัน การเป็นคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นที่มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือมหาวิทยาลัยบูรพา ผมจะพยายามสร้างความร่วมมือกันระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งส่วนภาครัฐและภาคเอกชน โดยผมเป็นคนแรกที่สนับสนุนและทำในเรื่องนี้ ตั้งแต่สมัยก่อนที่ผมเป็นประธานศูนย์อำนวยการการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) ซึ่งสมัยนั้นคณะเภสัชศาสตร์ของภาคเอกชนถึงแม้ว่าจะเข้ามาร่วมประชุมแต่ก็เป็นเพียงครั้งคราว ไม่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกอย่างเต็มตัวจริง ๆ เนื่องจากแนวคิดขณะนั้นคิดว่าคณะเภสัชศาสตร์ภาครัฐและภาคเอกชนมีบริบทคนละแบบกัน แต่ตอนหลังแนวคิดนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ในส่วนของการบริหารจัดการต่างคนต่างดูแลรับผิดชอบ โดยสิ่งที่ทุกหน่วยงานสามารถมีส่วนร่วมกันคือ การสร้างคุณภาพและมาตรฐานของผู้ที่เข้ามาศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ให้เท่าทียมกันได้มากที่สุด เป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นสมาชิกเต็มตัว ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาของการทำงานที่ผ่านมา ผมมีจุดยืนที่ชัดเจนและไม่เคยคิดจะแบ่งแยกระหว่างภาครัฐหรือเอกชน เราทำงานด้วยกันมาตลอด เพราะสิ่งที่ผมอยากเห็นคือ นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่หรือสำเร็จการศึกษามาเป็นเภสัชกร ไม่ว่าจะจบการศึกษาหลักสูตรจากสถาบันใด ก็ควรจะมีความใกล้เคียงกันของมาตรฐานและคุณภาพที่ถือเป็นจุดร่วมกันที่แสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

ภก.รศ.ดร.สินธุ์ชัย กล่าวต่อว่า นอกจากการสร้างความร่วมมือระหว่างกันแล้ว ในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานการศึกษาในแต่ละภาควิชาของแต่ละมหาวิทยาลัยยังมีระดับความแตกต่างกัน ในส่วนนี้คงต้องร่วมกันแก้ไข โดยเฉพาะคณะที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบโดยตรงที่จะผลักดันในเรื่องนี้ เนื่องจากในระบบการศึกษาของประเทศไทยขณะนี้ รัฐยังเปิดเสรี ไม่ได้มีการควบคุมในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานที่เคร่งครัดมากนัก ซึ่งในเรื่องของการศึกษาไม่ใช่การเปิดเสรี สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก นอกจากการจัดทำหลักสูตรที่ดีก็ต้องมีการบริหารจัดการหลักสูตรที่เข้มแข็ง ดังนั้น หน้าที่ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในคณะเภสัชศาสตร์คือ การผลิตบุคลากร การสร้างคนเปรียบเหมือนกับการเป็นช่างปั้นหม้อที่จะอ้างว่าดินไม่ดีแล้วไม่ขอปั้นไม่ได้ เพราะสิ่งที่ท้าทายของช่างปั้นหม้อคือ การทำดินที่เห็นที่ได้มาว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้หม้อที่ปั้นออกมาสวยและมีคุณภาพที่ดีเหมาะสมแก่การนำมาใช้ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเปิดกว้างยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน หันไปหาจิตวิญญาณเก่าในการทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน ไม่ใช่ของคณะใดคณะหนึ่ง

ภก.รศ.ดร.สินธุ์ชัย ยังกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับ AEC ของกลุ่มเภสัชกรที่กำลังจะมาถึงในปี พ.ศ. 2558 ว่า สำหรับการเตรียมพร้อมรับมือกับ AEC ที่จะมาถึง ขณะนี้ในระดับของมาตรฐานและคุณภาพในแต่ละประเทศยังต่างกันมากมาย การที่จะปรับตัวเข้าหากันจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ได้ทำง่าย ๆ ไม่ใช่แต่เฉพาะแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ประเทศกัมพูชา พม่า และลาว ก็ยังไม่มีความพร้อมที่ชัดเจนเช่นกัน ยกเว้นแค่บางประเทศเท่านั้น หรือแม้กระทั่งกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปหรืออียู ซึ่งทำเรื่องนี้ก่อนเรามากว่า 30 ปีแล้วก็ยังไม่ลงตัว ยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ซึ่งถ้ามีการเปิดประเทศเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ การทำงานในสายวิชาชีพ สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อม ประเด็นแรกคือ การวางข้อตกลงกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ จะต้องมีความชัดเจน เนื่องจากประเทศไทยเป็นจุดในการเคลื่อนย้ายของคนที่ดีที่สุดในภูมิภาค แม้ว่าการเคลื่อนย้ายบางครั้งพวกเขาอาจจะไม่ได้ต้องการทำงานในประเทศไทย แต่เขาอาจจะใช้ประเทศไทยเพื่อเป็นฐานไปที่อื่น รวมถึงเภสัชกรในประเทศไทยก็อาจจะย้ายไปทำงานในประเทศอื่นที่มีค่าตอบแทนดีกว่า

“ความตื่นตัวของเภสัชกรในปัจจุบันมีการพูดเรื่องนี้ในหลายเวที แต่ก็ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจนว่ามีการเตรียมตัวรับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ส่วนใหญ่จะกังวลในเรื่องเกี่ยวกับเชน (CHAINS) ใหม่ ๆ ที่เป็นเรื่องค่อนข้างใกล้ตัวสำหรับพวกเขา ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่าไม่ว่าจะมีเชนใหม่ ๆ หรือไม่มีเชนใหม่ ๆ เข้ามา แต่ละประเทศต้องสื่อสารกับผู้มารับบริการได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ ร้านยากับโรงพยาบาลที่จะต้องสื่อสารกับผู้มารับบริการ ภาษาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ สมมุติว่า คนฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซียที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยและไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ เวลาที่เขาไม่สบายก็ต้องเลือกร้านยาหรือโรงพยาบาลที่สามารถสื่อสารกับเขาได้”

ภก.รศ.ดร.สินธุ์ชัย ยังกล่าวถึงสิ่งที่เป็นห่วงในวิชาชีพเภสัชกรรมว่า ถ้ามองในภาพรวมของวิชาชีพเภสัชกรรม สิ่งที่ผมเป็นห่วงอันดับแรกคือ เรื่องของความร่วมมือ แม้มองในภาพรวมจะเห็นว่ากลุ่มวิชาชีพเภสัชกรรมมีความรักใคร่กลมกลืนกัน แต่ก็ยังมีจุดว่างที่ทำให้แต่ละสาขาของวิชาชีพมีความห่างกันออกไปมาก ซึ่งถ้าหากเราแตกแยกกันก็จะไม่สามารถพัฒนาวิชาชีพให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้ นอกจากนี้ในส่วนของระบบการศึกษาจะเห็นว่า ในปัจจุบันมีคณะเภสัชศาสตร์อยู่ทั้งหมด 19 คณะ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ามีคนสนใจศึกษาต่อในคณะเภสัชศาสตร์มาก ซึ่งการให้บริการทางเภสัชกรรมนั้นไม่ใช่การให้บริการเหมือนสินค้าทั่วไป แต่เป็นการให้บริการผลิตภัณฑ์คุณธรรม ถ้าเราผลิตคนที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีมาตรฐาน ก็เท่ากับว่าเป็นการปัดความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมออกไป อย่าลืมว่าคำว่า “วิชาชีพคือสังคมที่มีกรอบกำหนดการปฏิบัติ” โดยเฉพาะที่สังคมมอบความไว้วางใจและมอบให้ดูแลเขาในเรื่องของสุขภาพ ถ้าเราไม่ใส่ใจ ไม่มีความรับผิดชอบต่อตรงนี้ สักวันสังคมจะเรียกสิ่งที่มอบให้แก่เราคืน

สุดท้ายนี้ ภก.รศ.ดร.สินธุ์ชัย ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำงานในวิชาชีพเภสัชกรรมว่า จงอย่ากลัวในสิ่งที่กำลังจะเข้ามา ให้ศึกษา ไตร่ตรอง และวิเคราะห์ โดยที่ไม่มีความลำเอียง ไม่มีอคติ เราจะเห็นเส้นทางที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน โดยไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้พร้อมก่อนจึงค่อยก้าว ใครพร้อมก่อนก็ก้าวล่วงไปก่อน ส่วนคนหลัง ๆ ก็ค่อยก้าวตามมา และในที่สุดก็จะตามทันกันเอง ดังนั้น จงอย่ากลัวที่จะก้าว อย่ากลัวที่จะเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญเราควรจะคิดด้วยว่าเราอยู่กันได้สักกี่ปี เพราะฉะนั้น เราจึงต้องสร้างอนาคตให้แก่ลูกหลาน โดยลูกหลานในที่นี้ไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะลูกหลานในแวดวงวิชาชีพเภสัชกรรมเท่านั้น แต่รวมถึงลูกหลานที่เป็นประชากรในสังคมด้วย รวมถึงประชากรในภูมิภาค AEC + 6 ซึ่งได้แก่ ประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย