การผ่าตัดรักษาต้อกระจกด้วย accommodative IOL
นพ.ธนาวุฑฒ์ โสภักดี โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล
ต้อกระจกเป็นโรคที่เกิดจากความขุ่นมัวของเลนส์แก้วตาธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้แสงผ่านเข้าไปที่จอประสาทตาได้น้อยลง ทำให้เกิดอาการตามัว จักษุแพทย์สามารถให้การรักษาโดยการผ่าตัดตา ให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นได้ดีด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ใหม่
Accommodation เป็นกระบวนการของตาที่จะเปลี่ยนกำลังหักเหเพื่อที่จะให้แสงสะท้อนจากภาพของวัตถุมีจุดโฟกัสที่จอตาเกิดจากตัวเลนส์ที่มีความยืดหยุ่นซึ่งยึดอยู่กับ Suspensory ligament เมื่อตามองระยะใกล้ Ciliary muscle จะหดตัวทำให้ Ciliary body เคลื่อนไปทางด้านหน้าเป็นผลให้ Suspensory ligament หย่อนตัวลง เลนส์ตาจึงป่องหรือนูนขึ้น ทำให้มีกำลังหักเหมากขึ้น โดยปกติเมื่ออายุมากขึ้น การยืดหยุ่นของตาจะลดลง Ciliary muscle ก็ทำงานน้อยลงเช่นกัน
ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนแทบไม่มีข้อจำกัดในการรักษา และมีการคิดค้นเลนส์แก้วตาเทียมรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้แพทย์มีทางเลือกในการเลือกเลนส์แก้วตาเทียมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้มากขึ้น เลนส์แก้วตาเทียม (IOL) เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ทำขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่แทนเลนส์แก้วตาธรรมชาติที่มีปัญหาจนต้องผ่าตัดเอาออกไป เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามองเห็นได้อีกครั้งหนึ่ง เลนส์ที่สามารถเคลื่อนขยับตัวเพื่อปรับโฟกัสได้เอง (accommodative IOL) คล้ายลักษณะการทำงานของเลนส์แก้วตาธรรมชาติ ทำให้มองได้ชัดทั้งใกล้และไกล
จากการรวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์ได้รวบรวมข้อมูลจาก 4 งานวิจัย รวบรวมผู้ป่วยต้อกระจกจำนวน 229 คน ศึกษาเปรียบเทียบผู้ป่วยที่ได้รับ accommodative IOL เทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับ monofocal IOL พบว่า การมองเห็นในระยะใกล้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ accommodative IOL หลังผ่าตัด 6 เดือน ให้ผลที่ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับ monofocal IOL ซึ่งแม้ข้อมูลที่รวบรวมมาจะยังไม่มาก แต่ผลดังกล่าวช่วยให้ผู้ป่วยที่อายุมากมีการมองเห็นที่คล้ายธรรมชาติมากขึ้นได้
กล่าวโดยสรุป การผ่าตัดรักษาต้อกระจกโดยการใส่ accommodative IOL หลังผ่าตัด 6 เดือน ให้ผลที่ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับ monofocal IOL ในการมองเห็นระยะใกล้