การใช้ Aspirin หลังพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีการแสดงออกของ HLA Class I Antigen

การใช้ Aspirin หลังพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีการแสดงออกของ HLA Class I Antigen

JAMA Intern Med. 2014;174(5):732-739.

บทความเรื่อง Expression of HLA Class I Antigen, Aspirin Use, and Survival after a Diagnosis of Colon Cancer รายงานว่า การใช้ยา aspirin หลังตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่สัมพันธ์กับการรอดชีวิตโดยรวมที่ดีขึ้น ซึ่งการระบุสารบ่งชี้ทางชีวภาพที่พยากรณ์ผลลัพธ์ดังกล่าวอาจส่งผลดีต่อการปรับการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยและลดผลข้างเคียง

นักวิจัยศึกษาประโยชน์จากการใช้ aspirin ขนาดต่ำหลังตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่อาจเป็นผลจากการแสดงออกของ HLA class I antigen โดยศึกษาจากตัวอย่างมะเร็งที่ได้จากผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ 999 ราย (ตัดออกระหว่างปี ค.ศ. 2002-2008) ซึ่งนำมาตรวจการแสดงออกของ HLA class I antigen และ prostaglandin endoperoxide synthase 2 (PTGS2) ด้วยเทคนิค tissue microarray และวิเคราะห์การกลายพันธ์ุของ PIK3CA ข้อมูลจากการใช้ aspirin ได้จากฐานข้อมูลการจ่ายยา และประเมินการรอดชีวิตด้วยตัวแบบ parametric survival models ซึ่งกระจายแบบ exponential (Poisson) distribution โดยให้การรอดชีวิตโดยรวมเป็นมาตรวัดผลลัพธ์

ประโยชน์ด้านการรอดชีวิตโดยรวมจากการใช้ยา aspirin หลังตรวจพบมะเร็งมี rate ratio (RR) ที่ปรับแล้วเท่ากับ 0.53 (95% CI 0.38-0.74; p < 0.001) กรณีมะเร็งมีการแสดงออกของ HLA class I antigen เทียบกับ RR เท่ากับ 1.03 (0.66-1.61; p = 0.91) กรณีไม่พบการแสดงออกของ HLA antigen ประโยชน์ของ aspirin ใกล้เคียงกันสำหรับ strong PTGS2 expression (0.68; 0.48-0.97; p = 0.03), weak PTGS2 expression (0.59; 0.38-0.97; p = 0.02) และ wild-type PIK3CA tumors (0.55; 0.40-0.75; p < 0.001) แต่ไม่พบความสัมพันธ์กับมะเร็งชนิด mutated PIK3CA tumors (0.73; 0.33-1.63; p = 0.44)

การใช้ยา aspirin หลังตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่สัมพันธ์กับการรอดชีวิตที่ดีขึ้นหากมะเร็งมีการแสดงออกของ HLA class I antigen ขณะที่ PTGS2 expression ที่เพิ่มขึ้นหรือการพบ mutated PIK3CA ไม่ได้พยากรณ์ประโยชน์จาก aspirin ดังนั้น HLA class I antigen จึงอาจเป็นสารบ่งชี้ทางชีวภาพที่พยากรณ์การรักษาเสริมด้วย aspirin ในมะเร็งลำไส้ใหญ่