การออกกำลังกายและการเคลื่อนไหวในผู้ใหญ่อายุมาก

การออกกำลังกายและการเคลื่อนไหวในผู้ใหญ่อายุมาก

JAMA. Published online May 27, 2014.

บทความเรื่อง Effect of Structured Physical Activity on Prevention of Major Mobility Disability in Older Adults: The LIFE Study Randomized Clinical Trial รายงานว่า การเคลื่อนไหวที่เสื่อมลงเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุและเป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระต่อการเจ็บป่วย นอนโรงพยาบาล พิการ และการตาย และแม้มีหลักฐานบางชิ้นเสนอว่าการออกกำลังกายอาจช่วยป้องกันความพิการทางการเคลื่อนไหว แต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยที่สรุปชัดเจนว่าการออกกำลังกายสามารถป้องกันหรือชะลอความพิการทางการเคลื่อนไหวได้

นักวิจัยทดสอบสมมติฐานว่าการออกกำลังกายตามแบบแผนมีประสิทธิภาพดีกว่าการอบรมความรู้ด้านสุขภาพ (โครงการพัฒนาสุขภาวะของผู้สูงอายุ) ในด้านการลดความเสี่ยงความพิการทางการเคลื่อนไหวรุนแรงในการศึกษา Lifestyle Interventions and Independence for Elders (LIFE) การรวบรวมผู้เข้าร่วมวิจัยมีขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 ถึงธันวาคม ค.ศ. 2011 การเข้าร่วมในการวิจัยมีระยะเฉลี่ย 2.6 ปี และสิ้นสุดการติดตามในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2013 กลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยซึ่งเป็นประชากรในชุมชนเมือง ชานเมือง และชนบทของสหรัฐอเมริกาประกอบด้วยชายและหญิงอายุ 70-89 ปี จำนวน 1,635 คน ซึ่งมีข้อจำกัดทางกายประเมินจากคะแนน Short Physical Performance Battery เท่ากับ 9 หรือต่ำกว่าแต่สามารถเดินได้ระยะทาง 400 เมตร

นักวิจัยสุ่มให้อาสาสมัครเข้าร่วมโปรแกรมออกกำลังกายตามแบบแผน (n = 818) ที่โรงพยาบาล (2 ครั้ง/สัปดาห์) และที่บ้าน (3-4 ครั้ง/สัปดาห์) ซึ่งประกอบด้วยการออกกำลังกายแบบแอโรบิก การออกแรงต้าน และการยืดหยุ่น หรือการอบรมความรู้ด้านสุขภาพ (n = 817) ซึ่งมีรูปแบบเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการในประเด็นเกี่ยวกับผู้สูงอายุและการออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อแขน ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ความพิการรุนแรงทางการเคลื่อนไหวประเมินจากสูญเสียความสามารถการเดินระยะ 400 เมตร

ความพิการทางการเคลื่อนไหวรุนแรงเกิดขึ้นใน 30.1% (246 คน) ในกลุ่มออกกำลังกาย และ 35.5% (290 participants) ในกลุ่มอบรมความรู้ด้านสุขภาพ (hazard ratio [HR] 0.82 [95% CI 0.69-0.98], p = 0.03) ความพิการทางการเคลื่อนไหวเรื้อรังพบใน 12 คน (14.7%) ในกลุ่มออกกำลังกาย และ 162 คน (19.8%) ในกลุ่มอบรมความรู้สุขภาพ (HR 0.72 [95% CI 0.57-0.91]; p = 0.006) เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์รุนแรงพบใน 404 คน (49.4%) ในกลุ่มออกกำลังกาย และ 373 คน (45.7%) ในกลุ่มอบรมความรู้สุขภาพ (risk ratio 1.08 [95% CI 0.98-1.20])

โปรแกรมการออกกำลังกายปานกลางตามแบบแผนสามารถลดความพิการทางการเคลื่อนไหวรุนแรงในระยะ 2.6 ปีในผู้ใหญ่อายุมากที่เสี่ยงต่อความพิการเทียบกับโปรแกรมอบรมความรู้ด้านสุขภาพ ซึ่งข้อมูลนี้สนับสนุนประโยชน์ด้านการเคลื่อนไหวจากโปรแกรมออกกำลังกายในผู้ใหญ่อายุมากที่มีความเสี่ยง