ผลลัพธ์ 3 ปีผ่าตัดลดความอ้วนเทียบกับการรักษาด้วยยา
N Engl J Med 2014;370:2002-2013.
บทความเรื่อง Bariatric Surgery versus Intensive Medical Therapy for Diabetes: 3-Year Outcomes รายงานว่า การศึกษาเปรียบเทียบระยะสั้น (1-2 ปี) ชี้ว่า การผ่าตัดลดความอ้วนสัมพันธ์กับผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นักวิจัยได้ประเมินผลลัพธ์ที่ 3 ปีหลังสุ่มให้ผู้ป่วย 150 คน ซึ่งเป็นโรคอ้วนและไม่สามารถควบคุมเบาหวานได้รับการรักษาด้วยยาแบบเคร่งครัดอย่างเดียว หรือการรักษาด้วยยาแบบเคร่งครัดร่วมกับการผ่าตัด Roux-en-Y gastric bypass หรือการผ่าตัดลดกระเพาะ โดยจุดยุติปฐมภูมิ ได้แก่ ระดับ glycated hemoglobin เท่ากับ 6.0% หรือต่ำกว่า
ค่าเฉลี่ยอายุ (± SD) ของผู้เข้าร่วมวิจัยที่พื้นฐานเท่ากับ 48 ± 8 ปี โดย 68% เป็นผู้หญิง โดยค่าเฉลี่ยระดับ glycated hemoglobin ที่พื้นฐานเท่ากับ 9.3 ± 1.5% และค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกายที่พื้นฐานเท่ากับ 36.0 ± 3.5 ผู้ป่วย 91% สามารถติดตามครบระยะเวลา 36 เดือน โดยที่ 3 ปีพบจุดยุติปฐมภูมิใน 5% ของผู้ป่วยในกลุ่มที่รักษาด้วยยา เทียบกับ 38% ในกลุ่มผ่าตัดลัดกระเพาะ (p < 0.001) และ 24% ในกลุ่มผ่าตัดลดกระเพาะ (p = 0.01) การใช้ยาลดน้ำตาลรวมถึงอินซูลินมีอัตราต่ำกว่าในกลุ่มที่ผ่าตัดเทียบกับกลุ่มรักษาด้วยยา และผู้ป่วยกลุ่มที่ผ่าตัดมีค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์ลดของน้ำหนักตัวจากพื้นฐานสูงกว่า โดยลดลง 24.5 ± 9.1% ในกลุ่มผ่าตัดลัดกระเพาะ และ 21.1 ± 8.9% ในกลุ่มผ่าตัดลดกระเพาะเทียบกับลดลง 4.2 ± 8.3% ในกลุ่มรักษาด้วยยา (p < 0.001 for both comparisons) นอกจากนี้มาตรวัดด้านคุณภาพชีวิตยังดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มที่ผ่าตัดเทียบกับกลุ่มรักษาด้วยยา โดยไม่พบภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากการผ่าตัด
ข้อมูลจากการศึกษาในผู้ป่วยโรคอ้วนที่ไม่สามารถควบคุมเบาหวานได้พบว่า การรักษาด้วยยาอย่างเคร่งครัดเป็นระยะเวลา 3 ปี ร่วมกับการผ่าตัดลดความอ้วนส่งผลให้มีผู้ป่วยที่สามารถควบคุมน้ำตาลได้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญเทียบกับการรักษาด้วยยาอย่างเดียว โดยสอดคล้องกับผลลัพธ์จากการวิเคราะห์จุดยุติทุติยภูมิรวมถึงน้ำหนักตัว การใช้ยาลดน้ำตาล และคุณภาพชีวิตที่ 3 ปี ซึ่งกลุ่มที่รักษาด้วยการผ่าตัดมีผลลัพธ์ที่ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาอย่างเดียว