ความดันโลหิตและอุบัติการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือด

ความดันโลหิตและอุบัติการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือด

Lancet. 2014;383(9932):1899-1911.

บทความเรื่อง Blood Pressure and Incidence of Twelve Cardiovascular Diseases: Lifetime Risks, Healthy Life-Years Lost, and Age-Specific Associations in 1.25 Million People รายงานว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของความดันโลหิตกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในประชากรร่วมสมัย ซึ่งจากข้อมูลในบทความนี้นักวิจัยได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของความดันเลือดกับโรคหัวใจและหลอดเลือด 12 โรค

นักวิจัยใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จากปี ค.ศ. 1997-2010 จากโครงการ CALIBER (CArdiovascular research using LInked Bespoke studies and Electronic health Records) ครอบคลุมผู้ป่วย 1.25 ล้านคน ซึ่งมีอายุ 30 ปีหรือมากกว่า และปลอดจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โดย 1 ใน 5 ได้รับยาลดความดันโลหิต นักวิจัยศึกษาความแตกต่างในความสัมพันธ์จำเพาะตามอายุของความดันโลหิตกับโรคหัวใจและหลอดเลือดฉับพลันและเรื้อรัง 12 ประเภท และประเมินความเสี่ยงตลอดชีวิต (จนถึง 95 ปี) และจำนวนปีที่สูญเสียไปเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือดปรับตามปัจจัยเสี่ยงอื่นที่อายุ 30, 60 และ 80 ปี

ระหว่างมัธยฐานการติดตาม 5.2 ปี พบโรคหัวใจและหลอดเลือด 83,098 ราย โดยในแต่ละกลุ่มอายุพบว่า ความเสี่ยงต่ำสุดต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดพบในประชากรที่มีความดันโลหิตซิสโตลิกระหว่าง 90-114 mmHg และความดันโลหิตไดแอสโตลิกระหว่าง 60-74 mmHg โดยไม่พบความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากระดับความดันโลหิตที่ต่ำกว่า ผลของความดันโลหิตแตกต่างไปตามโรคหัวใจและหลอดเลือดตั้งแต่มีผลชัดเจนจนถึงไม่มีผล ความสัมพันธ์กับความดันโลหิตซิสโตลิกที่สูงเห็นชัดที่สุดสำหรับ intracerebral haemorrhage (hazard ratio 1.44 [95% CI 1.32-1.58]), subarachnoid haemorrhage (1.43 [1.25-1.63]) และ stable angina (1.41 [1.36-1.46]) และอ่อนที่สุดสำหรับ abdominal aortic aneurysm (1.08 [1.00-1.17]) เมื่อเทียบกับความดันโลหิตไดแอสโตลิกพบว่า ความดันโลหิตซิสโตลิกที่สูงขึ้นมีผลมากกว่าต่อ angina, myocardial infarction และ peripheral arterial disease ขณะที่ความดันโลหิตไดแอสโตลิกที่สูงขึ้นมีผลมากกว่าต่อ abdominal aortic aneurysm เทียบกับความดันโลหิตซิสโตลิกที่สูงขึ้น ความดันชีพจรมีความสัมพันธ์แบบกลับกับ abdominal aortic aneurysm (HR per 10 mmHg 0.91 [95% CI 0.86-0.98]) และมีความสัมพันธ์ชัดเจนที่สุดสำหรับ peripheral arterial disease (1.23 [1.20-1.27]) ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง (≥ 140/90 mmHg หรือได้รับยาลดความดันโลหิต) มีความเสี่ยงตลอดชีวิตต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยรวมที่อายุ 30 ปีเท่ากับ 63.3% (95% CI 62.9-63.8) เทียบกับ 46.1% (45.5-46.8) สำหรับผู้ที่ความดันโลหิตปกติ และเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเร็วกว่า 5.0 ปี (95% CI 4.8-5.2) จากการศึกษาพบว่า stable และ unstable angina เป็นส่วนใหญ่ (43%) ของจำนวนปีที่สูญเสียไปเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สัมพันธ์กับความดันโลหิตสูงจากอายุ 30 ปี ขณะที่ heart failure และ stable angina มีสัดส่วนมากที่สุด (19%) ในจำนวนปีที่สูญเสียไปนับตั้งแต่อายุ 80 ปี

ข้อมูลจากการศึกษานี้ไม่สนับสนุนการอนุมานว่าความดันโลหิตมีความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งหมดในหลายช่วงอายุ และสอดคล้องกับความสัมพันธ์กับความดันโลหิตไดแอสโตลิกและซิสโตลิก ขณะเดียวกันพบว่าผลกระทบตลอดชีวิตจากความดันโลหิตสูงยังคงมีนัยสำคัญซึ่งจำเป็นที่จะต้องวางแนวทางใหม่สำหรับการลดความดันโลหิต