กิจกรรมบำบัดสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน
Lancet Neurol. 2014;13(6):557-566.
บทความเรื่อง Efficacy of Occupational Therapy for Patients with Parkinson's Disease: A Randomised Controlled Trial รายงานว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้กิจกรรมบำบัดสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน นักวิจัยจึงศึกษาประสิทธิภาพของกิจกรรมบำบัดต่อการฟื้นฟูกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้ป่วยพาร์กินสันจากโรงพยาบาล 10 แห่งในเครือข่าย ParkinsonNet ของเนเธอร์แลนด์ โดยมีการประเมินที่ 3 เดือนและ 6 เดือน
นักวิจัยศึกษาจากผู้ป่วยพาร์กินสันที่รายงานว่ามีปัญหาการทำกิจกรรมในชีวิตและผู้ดูแลหลัก ผู้ป่วยถูกสุ่มเป็นกลุ่มรักษาหรือกลุ่มควบคุม โดยผู้ป่วยในกลุ่มรักษาได้ทำกิจกรรมบำบัดที่บ้านตามแนวปฏิบัติเป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์ และผู้ป่วยกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลมาตรฐานโดยไม่ได้ทำกิจกรรมบำบัด ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้ป่วยที่ 3 เดือน ประเมินด้วย Canadian Occupational Performance Measure (คะแนน 1-10) ข้อมูลวิเคราะห์ด้วยตัวแบบ linear mixed models สำหรับการวัดซ้ำ (intention-to-treat principle) และติดตามความปลอดภัยโดยสอบถามผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางสุขภาพที่ผิดปกติระหว่างช่วง 3 เดือนก่อน
ผู้ป่วย 191 คนถูกสุ่มเป็นกลุ่มรักษา (n = 124) หรือกลุ่มควบคุม (n = 67) ระหว่างวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 2011 ถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 2012 โดยผู้ป่วย 117 คน (94%) จาก 124 คนในกลุ่มรักษา และ 63 คน (94%) จาก 67 คนในกลุ่มควบคุมมีผู้ดูแลเข้าร่วมด้วย ที่พื้นฐานพบว่า มัธยฐานคะแนนของ Canadian Occupational Performance Measure เท่ากับ 4.3 (IQR 3.5-5.0) ในกลุ่มรักษา และ 4.4 (3.8-5.0) ในกลุ่มควบคุม และที่ 3 เดือนพบว่าคะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 5.8 (5.0-6.4) และ 4.6 (4.6-6.6) ตามลำดับ ค่า mean difference ที่ปรับแล้วของคะแนนระหว่างกลุ่มที่ 3 เดือนโน้มเอียงไปทางกลุ่มรักษา (1.2; 95% CI 0.8-1.6; p < 0.0001) โดยไม่พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการศึกษา
การรักษาด้วยกิจกรรมบำบัดที่บ้านช่วยฟื้นฟูการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อระบุปัจจัยที่อาจช่วยระบุผู้ป่วยที่น่าจะได้รับประโยชน์จากกิจกรรมบำบัด