30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายประชานิยมที่ดีจริงหรือ (ต่อ)

30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายประชานิยมที่ดีจริงหรือ (ต่อ)

หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ 30 บาท ไม่ได้รักษาทุกโรคตามที่อ้างไว้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในระบบ 30 บาทที่เป็นมาตลอดระยะเวลา 12 ปี นับจากปี พ.. 2545

1. ไม่รักษาทุกโรค รักษาโรคเฉพาะที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดไว้เท่านั้น นอกเหนือจากนั้นจะไม่จ่ายค่ารักษาแทนประชาชน

2. การตรวจรักษาผู้ป่วยในระบบนี้ไม่ได้มาตรฐานที่ดีและทันสมัยที่สุด เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องยาและการรักษามากมายที่ประชาชนไม่ทราบความจริง แต่บุคลากรทางการแพทย์รับทราบข้อจำกัดของการรักษาผู้ป่วยตามข้อกำหนดในระเบียบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากต้องทำตามระเบียบที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดไว้ เพื่อที่จะสามารถเบิกเงินค่ารักษาผู้ป่วยจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ถ้ารักษาผู้ป่วยนอกเหนือจากระเบียบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว โรงพยาบาลจะไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้

และผู้บริหารโรงพยาบาลก็มีวิธีการที่จะให้หมอสั่งยาให้ผู้ป่วยเฉพาะที่กำหนดไว้ตามระเบียบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะงดการสั่งยานอกบัญชียาหลักมาไว้ในโรงพยาบาล ทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถ “เลือก” ยาที่ดีและเหมาะสมที่สุด (drug of choice or first line drugs) ในการรักษาผู้ป่วยแต่ละคนได้

ซึ่งพฤติการณ์เหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับยาที่เหมาะสมที่สุด ทำให้เกิดผลเสียหายแก่ผู้ป่วยในการที่จะทำให้อาการป่วยไม่หาย ดื้อยา มีโรคแทรกซ้อน หรืออาการเลวลงหรือลุกลามมากขึ้น

การจำกัดยาที่ใช้ในการรักษาความเจ็บป่วยยังมีผลเสียหายต่อการพัฒนาความก้าวหน้าในทางวิชาการแพทย์ เนื่องจากแพทย์จะไม่มีประสบการณ์ในการใช้ยาใหม่ ๆ ไม่ได้เรียนรู้ถึงประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของการรักษาโรคจากยาใหม่ ๆ เหล่านั้นเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาวิชาการแพทย์ของไทย

3. สปสช. มักจะเรียกหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจากประชาชนไทยทุกคนไม่ได้รับการคุ้มครองโดยถ้วนหน้าในระบบนี้ แต่มีประชาชนเพียง 48 ล้านคนใน 65 ล้านคนเท่านั้นที่ได้รับสิทธิในโครงการหลักประกันสุขภาพนี้ ประชาชนนอกนั้นได้รับการประกันสุขภาพในระบบประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

โดยสรุปประชาชนที่ได้รับสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีเพียง 48 ล้านคนเท่านั้น และประชาชนที่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้มีทั้งคนจนและคนที่ไม่จน คนไม่จนนี้อาจจะมีฐานะปานกลางหรือร่ำรวยเป็นเศรษฐีมีกิจการเป็นของตนเอง (จึงไม่ได้เป็นลูกจ้างใครและจึงไม่ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม) แต่คนที่มีฐานะดีนี้เองได้มีส่วนร่วมใช้บริการฟรี เอายาไปใช้ฟรี โดยบางคนอาจไม่เห็นคุณค่าของยา เอายาไปใช้ทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ พออาการไม่ดีก็มาขอยาใหม่ ทำให้สูญเสียงบประมาณที่ควรจะเกิดประโยชน์ แต่ต้องสูญเสียไปโดยไร้ประโยชน์

การแก้ปัญหาเรื่องการใช้ยาทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ แบบนี้น่าจะทำได้โดยการให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจ่ายค่ายาบ้าง จะได้เห็นถึงคุณค่าของยา เนื่องจากต้องจ่ายเงินของตนเองด้วย ทั้งนี้เราจะเห็นว่าชาวไทยไม่ค่อยรักและหวงแหน หรือช่วยรักษาสิ่งของที่เป็นของสาธารณะหรือที่ชอบเรียกติดปากว่า “ของหลวง”

4. โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติส่งเสริมให้ประชาชนมาพบแพทย์หลังมีอาการเจ็บป่วยแล้ว แต่ไม่ส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งตนเองในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทำให้อัตราการป่วยเพิ่มขึ้น และทำให้สูญเสียงบประมาณแผ่นดินเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

5. ประชาชนไม่มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ดูแลรักษาเบื้องต้นเมื่อเจ็บป่วย และไม่มีส่วนร่วมในการรักษาตัวเมื่อเจ็บป่วย จึงเรียกร้องขอยามาก ๆ และใช้ยาทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ เพราะไม่ตระหนักใน “ราคา” ของยาที่ต้องจ่ายจากงบประมาณแผ่นดิน ทำให้สูญเสียงบประมาณในการซื้อยาไปแจกให้ประชาชนใช้อย่างทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ

6. ทำลายความสัมพันธ์แบบเอื้ออาทรระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ กลายเป็นความสัมพันธ์ที่เรียกร้องสิทธิและถ้าไม่พอใจผลการรักษาก็ไปเรียกร้องเงินชดเชยได้ หรือฟ้องศาลเรียกค่าเสียหาย

7. เป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างไม่คุ้มค่าและฟุ่มเฟือยโดยไม่มีประสิทธิภาพ และทำลายระบบการแพทย์ไทยที่เคยมีมาตรฐานดีที่สุดในระดับภูมิภาคนี้ ดังที่ได้อธิบายรายละเอียดไว้แล้ว

8. มีการทุจริตคอร์รัปชันงบประมาณโดยไม่มีการตรวจสอบและลงโทษ โดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้สรุปประเด็นการบริหารงบเหมาจ่ายรายหัว และงบบริหารสำนักงานผิดพลาด 7 ประเด็น แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการลงโทษผู้รับผิดชอบดังกล่าว

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ และจะแก้ไขหรือไม่ อย่างไร

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประกอบไปด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน กรรมการมาจากปลัดกระทรวงต่าง ๆ อีก 5 กระทรวง (มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข 1 คน นอกนั้นเป็นปลัดกระทรวงที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข) และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้แทนจากสภาวิชาชีพทางการแพทย์ 4 สภา และจากโรงพยาบาลเอกชน 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่าง ๆ 7 คน (มีผู้ทรงคุณวุฒิสาขาการแพทย์และการประกันสุขภาพ 4 คน) และผู้แทนองค์กรเอกชนในสาขาต่าง ๆ 5 คน ซึ่งเมื่อดูถึงที่มาของผู้เป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว จะเห็นว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพียง 10 คน ในจำนวนกรรมการ 30 คน

โดยกรรมการแต่ละคนมีเสียงเพียงคนละ 1 เสียงในการที่จะลงมติในการประชุมใด ๆ ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเองก็มีเพียง 1 เสียงเท่ากับกรรมการคนอื่น ๆ

ถ้าเราไปค้นดูรายงานการประชุมของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติย้อนหลัง เราก็จะพบว่า ปลัดกระทรวงอื่น ๆ ที่ไม่มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข มักจะมอบหมายให้ผู้แทน (ที่ไม่ใช่คนคนเดียว) ผลัดเปลี่ยนกันมาประชุม

จึงเห็นได้ว่าผู้ที่มาประชุมในฐานะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น เสียงข้างมากของคณะกรรมการนั้นมาจากกรรมการผู้ไม่มีความรู้ในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมายและการบริหารกิจการสาธารณะ แต่เป็นผู้มาใช้อำนาจบริหารและเป็นผู้ออกกฎเกณฑ์บังคับใช้ในกิจการหลักประกันสุขภาพและการสาธารณสุข อันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองและการบริหารกิจการสาธารณะด้านสาธารณสุข แต่กรรมการเหล่านี้มิได้มีการกำหนดคุณสมบัติในทางด้านประสบการณ์ความรู้ความสามารถในด้านการแพทย์และสาธารณสุขเลย จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อการจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมากมายมหาศาล ดังที่ผู้เขียนได้บรรยายมาทั้งหมดแล้ว