ตับอ่อนอักเสบ

นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
ตับอ่อนอักเสบ   

            ตับอ่อน (pancreas) เป็นอวัยวะที่อยู่ลึกมากในช่องท้อง ในร่างกายมีตับและตับอ่อน ซึ่งมีหน้าที่ไม่เหมือนกัน ตับอยู่ใต้ชายโครงขวา และอาจคลำได้ถ้ายื่นออกมาอยู่ต่ำกว่าชายโครงขวา ตับมีหน้าที่สร้างน้ำดี โปรตีน แป้ง ไขมัน เผาผลาญสารต่าง ๆ เหล่านี้ ยาหรือสารมีพิษ รวมทั้งแอลกอฮอล์ด้วย ถ้าตับมีการอักเสบจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับ ส่วนตับอ่อนเป็นชื่อของอวัยวะ ไม่ใช่โรคของตับ ตับอ่อนมีหน้าที่ผลิต insulin และ glucagon ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และยังมีหน้าที่ผลิตน้ำย่อย (enzymes) และ bicarbonate ทำให้น้ำย่อยตับอ่อนมีสภาวะเป็นด่าง ถ้าตับอ่อนเป็นโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง การทำงานของตับอ่อนจะเสียไป และเมื่อการทำงานของตับอ่อนเสียไปเกิน 90% ตับอ่อนจะผลิตน้ำย่อยที่จะย่อยไขมัน โปรตีน แป้ง ไม่ได้ สารอาหารจึงไม่ถูกย่อยและไม่ถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องเสีย และเป็นโรคอาหารไม่ถูกดูดซึม (malabsorption) ผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระออกมามีไขมันมาก ทำให้อุจจาระเบา ลอยน้ำ กดชักโครกไม่ค่อยหมด

            โรคของตับอ่อนคือ ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันเรื้อรังมากจนทำให้เป็นโรคอาหารไม่ถูกย่อยและดูดซึม และโรคมะเร็งของตับอ่อน โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน มีสาเหตุ 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ หนึ่งจากนิ่ว และความผิดปกติของระบบทางเดินน้ำดี สองจากแอลกอฮอล์ สามจากสาเหตุต่าง ๆ ซึ่งรวมกันแล้วเป็นสาเหตุของโรคนี้ประมาณ 5-10% และสี่ที่ไม่พบสาเหตุ สาเหตุต่าง ๆ ในกลุ่มที่ 3 คือ ยาต่าง ๆ ไขมันในเลือดสูง เช่น triglyceride ระดับ calcium ในเลือดสูงจากสาเหตุต่าง ๆ พยาธิที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร ฯลฯ

            กลไกของการเกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เชื่อกันว่าเกิดจากการที่มีนิ่วในถุงน้ำดีซึ่งมีขนาดเล็ก จึงทำให้หลุดผ่านท่อ cystic ออกจากถุงน้ำดีลงสู่ท่อรวมน้ำดี (common bile duct) และไปอุดตันท่อของตับอ่อนทำให้เกิดปฏิกิริยาจนทำให้ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน นิ่วก้อนใหญ่ ๆ มักไม่ค่อยทำให้เกิดโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เนื่องจากนิ่วก้อนใหญ่จะไม่สามารถผ่านท่อ cystic ของถุงน้ำดีออกไปสู่ท่อรวมน้ำดีได้

            อาการของตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันคือ จะมีอาการปวดท้องขึ้นมารุนแรงทันที อาจเกิดขึ้นหลังดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือหลังอาหารมื้อหนัก ๆ ที่มีไขมันมาก อาการปวดอาจเริ่มที่ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา อาการปวดจะรุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจนอนแบบนั่งตัวงอเพราะการนอนท่านี้อาจจะช่วยทำให้อาการปวดดีขึ้น อาการปวดถ้าปวดเฉพาะบริเวณนี้อาจเหมือนโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน ซึ่งสามารถทำให้มีอาการปวดตรงลิ้นปี่ได้ (หรือกลางอกก็ได้) และเหมือนโรคนิ่วในระบบถุงน้ำดี ถ้าเป็นนาน เช่น เป็นวัน ๆ อาการปวดอาจจะลามไปทั่วท้อง ทำให้เหมือนโรคอื่น ๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะ หรือลำไส้ทะลุ โรคหลอดเลือดใหญ่โป่งพอง และแตก (aortic aneurysm) ลำไส้อุดตัน และหลอดเลือดลำไส้อุดตัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะต้องแยกโรคต่าง ๆ เหล่านี้ให้ได้ ด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมทั้งการตรวจทางห้องทดลอง หรือเอกซเรย์เพิ่มเติม

            นอกจากผู้ป่วยจะปวดท้องอย่างรุนแรงนานเป็นวัน ๆ แล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนอีกด้วย อาจมีไข้ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการติดเชื้อ (แต่มีไข้จากการอักเสบของตับอ่อน) ผู้ป่วยอาจมีอาการดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง) จากการอักเสบของตับอ่อน หรือถ้าเหลืองมากอย่างชัดเจนจากการที่มีนิ่วจากถุงน้ำดีไปอุดตันท่อรวมน้ำดี ทำให้น้ำดีไม่สามารถไหลลงสู่ลำไส้ได้จึงทำให้ตัวเหลือง ตาเหลือง ผู้ป่วยอาจมีเม็ดเลือดขาวในเลือดสูงจากการอักเสบหรือจากการติดเชื้อ การวินิจฉัยโรคนอกจากประวัติและการตรวจร่างกายแล้ว ขึ้นอยู่กับการตรวจเลือดหาระดับของน้ำย่อยของตับอ่อน ซึ่งก็คือ amylase และ lipase ซึ่งควรขึ้นมากกว่าค่าปกติ 3 เท่า โดยทั่ว ๆ ไประดับ amylase จะขึ้นเร็วและลงภายใน 3-4 วัน ส่วน lipase จะขึ้นที่หลัง amylase แต่จะอยู่สูงนานกว่า ฉะนั้นเนื่องจากผู้ป่วยมักมาโรงพยาบาลหลังจากเป็นโรคมาแล้ว 1-3 วัน จึงควรหาระดับในเลือดทั้ง amylase และ lipase การตรวจอื่น ๆ ที่อาจช่วยคือ เม็ดเลือดขาว (อาจสูง) haematocrit (อาจสูงเนื่องจากร่างกายขาดน้ำ) BUN อาจสูง อาจทำเอกซเรย์ของช่องท้อง หรือถ้าสงสัยนิ่วอาจทำ ultrasound และถ้าสงสัยว่ามีการตายของเนื้อตับอ่อนอาจใช้ computer scan (CT) วินิจฉัยการตาย (necrosis) ของเนื้อตับอ่อน

            ผมจะกล่าวถึงการรักษาพยาบาลในโอกาสต่อไป