The Legend of Rabies เปิดตำนานโรคพิษสุนัขบ้า (ตอนที่ 1)

.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ

The Legend of Rabies เปิดตำนานโรคพิษสุนัขบ้า (ตอนที่ 1)

โรคพิษสุนัขบ้ามีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 4,000 ปี จวบจนปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้ายังเป็นโรคที่น่าหวาดกลัว เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคนี้แล้วต้องเสียชีวิตโดยที่ไม่มียารักษาให้หายขาดได้ วัคซีนจึงยังคงเป็นวิธีการเดียวในการป้องกันการติดเชื้อ ทำให้ผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัดรอดชีวิต ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ที่จะต้องถูกกล่าวถึงเสมอ คือ นักเคมีและจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศส ผู้คิดค้นวัคซีนเป็นคนแรกเพื่อปกป้องชีวิตผู้ที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า “หลุยส์ ปาสเตอร์”

  • บันทึกชิ้นแรกเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าเกิดขึ้นในสมัยบาบิโลน ช่วง 2,300 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยใช้อักษรเอชนันนา (Eshnunna)

  • หลังจากนั้นถัดมาอีก 1,300 ปี Homer ได้มีการกล่าวถึงสุนัขที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าไว้ใน “อีเลียต” (Iliad) มหากาพย์ของกรีกโบราณ

  • ช่วง 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช เดโมคริตุส (Democritus) นักปรัชญาชาวกรีกได้บันทึกถึงการพบโรคกลัวน้ำ หรือโรคพิษสุนัขบ้า

  • ช่วง 400 ปีก่อนคริสต์ศักราช อริสโตเติล (Aristotle) เขียนบันทึกไว้ว่า สุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะมีอาการหงุดหงิด กระสับกระส่าย และเมื่อใดที่มันไปกัดสัตว์ตัวอื่น สัตว์ตัวนั้นก็จะเป็นโรคด้วย

  • ช่วง 100 ปีก่อนคริสต์ศักราช เกิดการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าไปทั่วจักรวรรดิโรมัน กรีก และ เกาะ

  • Crete Cardanus กล่าวไว้ว่า ในน้ำลายของสุนัขที่เป็นโรคจะมีเชื้อไวรัสอยู่ (ตรงกับคำว่า “พิษ” ของชาวลาติน)

  • นักฟิสิกส์ชาวโรมันชื่อว่า Celsus เขียนเรื่องวิธีการรักษาแผลด้วยการจี้ด้วยแท่งเหล็กร้อน ๆ ซึ่งวิธีการใช้ความร้อนบริเวณแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ (Cauterization) ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อการรักษาอย่างเฉียบพลันเมื่อถูกสุนัขบ้ากัด และวิธีการนี้ยังคงเป็นที่ยอมรับหลังจากนั้นอีกกว่า 1,800 ปี

กำเนิดวัคซีนพิษสุนัขบ้า

เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2413 ที่โรงพยาบาลทรูซโซ ประเทศฝรั่งเศส ศาสตราจารย์เนลองกี ได้แจ้งหลุยส์ ปาสเตอร์ ว่า มีเด็กอายุ 5 ขวบถูกสุนัขกัดที่บริเวณหน้าเมื่อ 1 เดือนก่อน เด็กมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าอย่างชัดเจน และเสียชีวิตลงใน 24 ชั่วโมงถัดมา ปาสเตอร์จึงเอาหลอดแก้วดูดเอาน้ำลายและมูกจากปากของเด็กหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว 4 ชั่วโมง ทำการเจือจางแล้วฉีดเข้าไปยังกระต่าย พบว่ากระต่ายตายหลังจากนั้น 36 ชั่วโมง เมื่อทำการศึกษาเพิ่มเติมจึงค้นพบว่า ในน้ำลายของสุนัขและน้ำลายของคนป่วยที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ รวมทั้งสมองทั้งของสัตว์และคนด้วย

ปาสเตอร์จึงได้นำสมองกระต่ายที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้ามาบดและฉีดเข้ากระต่ายตัวอื่น ๆ และทำต่อเนื่องจนระยะฟักตัวของการเกิดโรคสั้นลง และสุดท้ายคงที่ คือต้องตายทุก ๆ 7 วัน ปาสเตอร์เรียกชื่อไวรัสนี้ว่า “ไวรัสฟิกซ์ด” คือระยะฟักตัว “ฟิกซ์ด” คงที่นั่นเอง ปาสเตอร์ยังคงเพียรพยายามที่จะทำการศึกษาต่อเพื่อให้เชื้อที่ “ฟิกซ์ด” มันอ่อนฤทธิ์จนกว่าเมื่อฉีดสุนัขแล้วสุนัขตัวนั้นอาจจะไม่ตายก็ได้ ปาสเตอร์จึงเริ่มทำการทดลองต่อด้วยการนำสมองส่วน medulla ของกระต่ายที่ตายด้วยไวรัสฟิกซ์ดมาทำให้แห้งลงและเชื้อก็ค่อย ๆ อ่อนฤทธิ์ลงจนกระทั่ง 14 วันที่ดูเหมือนว่าเชื้อจะหมดฤทธิ์ จากนั้นก็เอาไปบดผสมกับน้ำที่ปราศจากเชื้อโรคฉีดให้สุนัขจำนวนหนึ่ง วันถัดไปก็ฉีดซ้ำแต่ใช้สมองที่แห้งเพียง 13 วัน และลดลงเรื่อย ๆ จนใช้สมองกระต่ายที่เพิ่งตายใหม่ ๆ ฉีดให้แก่สุนัข และนำสุนัขบางตัวไปให้สุนัขบ้ากัด หรือบางตัวก็เอามาทดลองฉีดเชื้อเข้าสมองโดยตรง ปรากฏว่าสุนัขไม่ตาย จากผลงานครั้งนี้ปาสเตอร์ได้รับเกียรติอย่างสูงส่ง และได้นำเรื่องนี้ไปแสดง ณ ที่ประชุมวิทยาศาสตร์ระหว่างชาติที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

จากจุดนี้เองทำให้ปาสเตอร์คิดต่อไปว่า การที่จะหาวัคซีนมาฉีดให้สุนัขทุกตัวคงเป็นไปไม่ได้ (ขณะนั้นในปารีสคาดว่ามีสุนัขอยู่ประมาณแสนตัว) เพราะคงไม่สามารถหาสมองกระต่ายที่มากมายขนาดนั้นได้ ปาสเตอร์จึงคิดว่าถ้าฉีดให้เฉพาะคนที่ถูกสุนัขกัดก็คงจะเป็นการดีกว่าอย่างแน่นอน และนี่คือจุดกำเนิดของการคิดค้นวัคซีนพิษสุนัขบ้าในคน

(อ่านต่อฉบับหน้า)