แพทย์ไม่ได้ตรวจผู้ป่วยทางคดี: ทำอย่างไรเมื่อเจ้าพนักงานขอรายงาน (รายงานผู้ป่วย 1 ราย)

แพทย์ไม่ได้ตรวจผู้ป่วยทางคดี: ทำอย่างไรเมื่อเจ้าพนักงานขอรายงาน (รายงานผู้ป่วย 1 ราย)
No Physical Examination In Forensic Aspect: How Can We Do For Medical Report
(A Case Report)

นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., ว.ว.นิติเวชศาสตร์*
*รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

            หลายครั้งที่แพทย์ทางคลินิกมิได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการบาดเจ็บหรือบาดแผลของผู้ป่วยเมื่อผู้ป่วยมารับการตรวจหรือบ่น (complaint) โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทางที่ต้องการตรวจเฉพาะแต่ “ด้านที่ตนเองเชี่ยวชาญเท่านั้น” และคิดว่าตนเองจะตรวจเพียงเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นแพทย์บางส่วนยังคิดว่าส่วนที่เกินกว่า “ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแห่งตน” สมควรเป็นหน้าที่ของพยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องนำผู้ป่วยไปให้แก่แพทย์ที่เกี่ยวข้องให้การดำเนินการทางการแพทย์ หรือในบางสถานพยาบาล แพทย์แผนกต่าง ๆ ยังคิดว่าหากเป็นเรื่องการที่ผู้ป่วยถูกทำร้ายร่างกายหรืออุบัติเหตุ เช่น จราจรแล้ว สมควรที่แพทย์ผู้ตรวจคือ “แพทย์ทางอุบัติเหตุ” เท่านั้น ส่วนโรคต่าง ๆ นั้นจึงเป็นของแพทย์ทั่วไป ยิ่งกว่านั้นหากแพทย์ตรวจในส่วนของตนเองเสร็จแล้วก็จะให้แก่บุคลากรทางการแพทย์อื่น เช่น พยาบาล เป็นผู้จัดส่งผู้ป่วยที่มีปัญหาทางอุบัติเหตุ หรือทางคดีความ และหากบุคลาทางการแพทย์อื่นมิได้ส่งผู้ป่วยเพื่อรับการดำเนินการทางการแพทย์ครบถ้วนแล้ว “ตนเองถือว่าไม่มีหน้าที่แต่อย่างใด” เรื่องดังกล่าวนี้นับวันแพทย์จะเป็นเช่นนี้มากขึ้น และหากมีแนวคิดเช่นนี้อาจส่งผลกระทบถึงแพทย์ได้

…….หากแพทย์ไม่สามารถระบุหรือยืนยันได้ว่าในวันดังกล่าวผู้ป่วยมีบาดแผลประการใด เช่นนี้แพทย์อื่น (รวมถึงแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์) ย่อมไม่สามารถที่จะระบุบาดแผลเองได้ เพราะเท่ากับเป็นการเพิ่มเติมสิ่งที่ตรวจพบโดยพลการ อาจเข้าข่ายการให้ข้อความอันเป็นเท็จได้

อุทาหรณ์ (รายงานผู้ป่วยหนึ่งราย)

            ประวัติ:

            ผู้ป่วยเป็นชาย อายุ 35 ปี มีประวัติเป็นโรคไทรอยด์อยู่เดิม รับยาไปแล้วแต่ต้องการรับยาเพิ่มเพราะลืมยาไว้บนรถรับจ้าง เนื่องจากมีปัญหากับคนขับรถรับจ้างเกิดการชิงทรัพย์

            วันเกิดเหตุผู้ป่วยมาสถานพยาบาลเพื่อรับยาแล้วกลับด้วยรถรับจ้าง ขณะที่ผู้ป่วยนั่งรถรับจ้างได้มีปัญหากับคนขับรถรับจ้างเนื่องจากถูกประทุษร้ายและจะชิงทรัพย์ ผู้ป่วยจำต้องโดดลงมาจากรถ ต่อมาเกิดการต่อสู้กับคนขับรถจนเกิดการบาดเจ็บเนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย ผู้ป่วยจึงต้องมาที่โรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่งในตอนสายของวันเกิดเหตุ

            เมื่อมาถึงโรงพยาบาลจึงได้ยื่นบัตรแจ้งกับพยาบาลว่า “ยาไทรอยด์ที่รับหายในรถรับจ้าง” ผู้ป่วยถูกส่งเข้ารับการตรวจโรคไทรอยด์” และแจ้งกับแพทย์เช่นกันว่ายาตกหายในรถรับจ้าง แพทย์จึงได้สั่งยาไทรอยด์เท่านั้นดังเช่นตามปกติที่เคยได้ มีการบันทึกไว้ในเวชระเบียน (OPD Card) (ภาพที่ 1)

            “ในบันทึกที่ปรากฏในเวชระเบียน มีเนื้อหา:

          * ขอรับยา (ไทรอยด์) (pt มีใบแจ้งความเนื่องจากลืมยาไว้บนรถแท็กซี่เหตุโดนล่อลวง)

          * Case Hyperthyroid ทำยาหล่นหายในรถแท็กซี่ มาขอรับยาเพิ่ม”

          ในภาพบันทึกทางประวัติผู้ป่วยนิติเวชศาสตร์มีบันทึกไว้ (โดยพยาบาล) ว่า

          * pt โดนรถแท็กซี่ล่อลวงแล้วหนีออกจากรถ

          * รู้สึกตัวดี ปวดไหล่ Lf ไม่มีแผล

            ผู้ป่วยได้รับการสอบถามถึงอาการทางระบบต่อมไร้ท่อ (ไทรอยด์) โดยมิได้มีการบันทึกเกี่ยวกับการได้รับบาดเจ็บหรือบาดแผลตามร่างกายที่เกิดขึ้นจากการถูกทำร้ายแต่อย่างใด เมื่อผู้ป่วยได้รับยาแล้วก็กลับไป (แพทย์อาจไม่ได้อ่านข้อความที่พยาบาลเขียนไว้ที่ในส่วนบนของบันทึกเวชระเบียน และ/หรือผู้ป่วยอาจไม่ได้แจ้งเรื่องการมาตรวจด้วยว่าสาเหตุที่ยาหายเพราะถูกคนขับรถรับจ้างจะชิงทรัพย์จนต้องวิ่งหนีจึงทิ้งยาไว้ในรถ

            อย่างไรก็ตาม มีบันทึกเกี่ยวกับการรอตรวจทางนิติเวชศาสตร์ เนื่องจากผู้ป่วยถูกทำร้ายไว้ด้วยแต่ไม่ได้มีการตรวจแต่อย่างใด (ภาพที่ 2)

            ต่อมาได้มีพนักงานสอบสวน (สถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ) นำเอกสาร คือ “ใบนำส่งผู้บาดเจ็บหรือศพให้แพทย์ตรวจชันสูตร” มาให้แพทย์ทำการกรอก (ผ่านมาแล้วหลายสัปดาห์) (ภาพที่ 3) โดยแพทย์ที่ตรวจในวันมารับยาไทรอยด์ไม่ได้มีการตรวจและบันทึกรายละเอียดไว้แต่ประการใด อีกทั้งยังไม่มีการตรวจโดยแพทย์อื่นใดอีกเกี่ยวกับการบาดเจ็บที่ได้รับในวันที่มาขอรับยา เรื่องดังกล่าวจึงได้ทำการปรึกษาขอความเห็นมายัง “แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์”

            ผู้ป่วยมาพบแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ แพทย์ได้ซักถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเรื่องการถูกชิงทรัพย์และดูในบันทึกเวชระเบียนแล้วเพื่อที่พยายามจะทำการสรุปรายละเอียดเกี่ยวกับการตรวจและสภาพแห่งการบาดเจ็บที่พบในวันและเวลาที่ผู้ป่วยเข้ารับการดำเนินการทางการแพทย์แล้วปรากฏว่า “ไม่พบการจดบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพแห่งการบาดเจ็บไว้เลย” มีเพียงการจ่ายยาไทรอยด์ให้แก่ผู้ป่วยเท่านั้นในวันดังกล่าว อีกทั้งในวันที่มาพบแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์นั้นเป็นเวลาที่ผ่านมาแล้วกว่าสามสัปดาห์ โดยในขณะที่มารับการตรวจโดยแพทย์นิติเวชศาสตร์นั้น ไม่ปรากฏร่องรอยของบาดแผลตามเนื้อตัว ร่างกาย แขน ขา ปรากฏให้เห็น (เนื่องจากเวลาที่มาตรวจในครั้งนี้ห่างจากวันเวลาแห่งการเกิดเหตุหลายสัปดาห์) (ภาพที่ 4) อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยืนยันว่าได้แจ้งกับแพทย์ที่มารับยาในวันดังกล่าวแล้วว่าตนเองถูกชิงทรัพย์และทำร้ายโดยผู้ขับรถรับจ้างและต้องโดดลงจากรถ เพื่อให้แพทย์ตรวจร่างกายด้วย

            การดำเนินการโดยแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์:

            ได้ลองบันทึกสิ่งที่ผู้ป่วยแจ้งว่า “มีบาดแผลในวันที่เกิดเหตุ” ที่มาพบแพทย์ครั้งแรกหลังจากถูกทำร้ายร่างกายเพื่อรับการตรวจ (แต่แพทย์ไม่ได้บันทึก) และผู้ป่วยประสงค์ให้มีการบันทึก (ภาพที่ 4)

            - contusion at right upper arm with forearm pain

            - contusion, left knee

            - pain left shoulder, with limitation of movement

            - pain at left thigh

            โดยแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ได้ระบุว่า ในวันที่มาพบแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์นั้นไม่พบบาดแผลแล้ว (ผ่านมาหลายสัปดาห์แล้ว) และส่งเรื่องให้แพทย์ที่ทำการตรวจผู้ป่วยในวันดังกล่าว (ที่มารับการตรวจวันนั้น) ได้ยืนยันบันทึกบาดแผล (หากจำได้) เพื่อทางนิติเวชศาสตร์จะได้ช่วยดำเนินการต่อไปในทางคดี

            แพทย์ที่ตรวจในวันที่ผู้ป่วยมาขอรับยาเพราะว่ายาหายแจ้งว่า “ตนเองไม่ได้ตรวจผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยแจ้งเพียงว่ามารับยาที่ทำหายในรถรับจ้าง”  จึงไม่มีการบันทึกการบาดเจ็บไว้ และจำไม่ได้ถึงลักษณะบาดแผลที่มี และจะมีหรือไม่เพียงใดก็ไม่อาจยืนยันได้          

วิเคราะห์และวิจารณ์

            ประการที่ 1: สิ่งที่เกิดขึ้น

            1. พนักงานสอบสวนต้องการเอกสารเพื่อดำเนินคดี ในกรณีดังกล่าวนี้ผู้ป่วยแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนไว้แล้ว ณ สถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่เกิดเหตุ

            2. แพทย์ที่ตรวจผู้ป่วยในครั้งแรกไม่ได้บันทึกการบาดเจ็บอะไรไว้เลย เนื่องจากอ้างว่า “ผู้ป่วยมิได้แจ้งถึงเหตุที่มาพบด้วยเรื่องการถูกทำร้ายด้วย เพียงแต่มารับยาเรื่องไทรอยด์” เท่านั้น

            3. มีการบันทึกโดยพยาบาลว่า “pt โดนรถแท็กซี่ล่อลวงแล้วหนีออกจากรถ” และ “รู้สึกตัวดี ปวดไหล่ Lf ไม่มีแผล” เท่านั้น

            4. แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ไม่สามารถดำเนินการเรื่องบาดแผลที่ผู้ป่วยแจ้ง (ต้องการให้ระบุในเอกสาร) ซึ่งแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์มิได้เห็นบาดแผลใด ๆ แล้วในวันที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์

            5. สถานพยาบาลต้องการที่ให้พนักงานสอบสวนและผู้ป่วยได้รับสิ่งที่ตนเองประสงค์คือ พนักงานสอบสวนต้องการเอกสารทางคดี และผู้ป่วยต้องการให้พนักงานสอบสวนได้รับเอกสารเพื่อจะได้ดำเนินการทางคดีต่อเนื่องได้

          ประการที่ 2: ประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

            1. สามารถออกใบนำส่งผู้บาดเจ็บเพื่อแพทย์ตรวจชันสูตร (ใบชันสูตรบาดแผล) ให้แก่พนักงานสอบสวนในเรื่องดังกล่าวนี้ได้หรือไม่

                        แนวทาง: จำต้องออกเอกสารเพื่อให้กับเจ้าพนักงานแต่จำต้องเป็นไปตามเกณฑ์แห่งการออกเอกสาร

            2. ใครจะเป็นผู้ที่ออกใบชันสูตรบาดแผลให้แก่พนักงานสอบสวน

                        แนวทาง: เป็นไปตามแนวทางที่ถูกกำหนดไว้ในงานของสถานพยาบาล โดยหลักจะให้แพทย์ที่ได้ตรวจผู้ป่วย

            3. เนื้อหาที่ออกจะเป็นประการใด

                        แนวทาง: จะต้องเป็นเนื้อหาที่เป็นความจริงและมาตรฐานทางการแพทย์

            4. ใครจะเป็นผู้มารับเอกสารดังกล่าว

                        แนวทาง: โดยทั่วไปจะเป็นเจ้าพนักงานที่นำส่งเอกสาร

            5. ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับการออกเอกสาร

                        แนวทาง: การที่แพทย์ออกเอกสารอันไม่เป็นไปตามความเป็นจริงและมาตรฐานอาจส่งผลให้เกิดความผิดต่อแพทย์ทั้งด้านอาญา ด้านแพ่ง ด้านจริยธรรม และด้านวินัยได้4,5,6

            ประการที่ 3: แนวทางในการดำเนินการโดยทั่วไป

            เนื่องจากไม่มีการบันทึกการบาดเจ็บปรากฏให้เห็นในวันที่ผู้ป่วยมารับยา มีเพียงการบันทึกของพยาบาลที่ว่า “ปวดไหล่ Lf ไม่มีแผล” เท่านั้น แนวทางในการดำเนินการเพื่อใบชันสูตรบาดแผล (ใบนำส่งผู้บาดเจ็บเพื่อแพทย์ตรวจชันสูตร) จึงต้องพิจารณาดังนี้

            หลักเกณฑ์ในการออกใบชันสูตรบาดแผลโดยทั่วไป    

            1. ต้องเป็นจริง

            หมายความว่า การออกเอกสารนี้ (ใบนำส่งผู้บาดเจ็บเพื่อแพทย์ตรวจชันสูตร) ต้องเป็นความเป็นจริงเท่านั้น หากผู้ป่วยมีบาดแผลต้องระบุไว้ หากไม่มีบาดแผลย่อมไม่อาจเขียนเพิ่มเติมได้เอง

2. ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน

หมายความว่า มีมาตรฐานในการออกเอกสารนี้ ทั้งนี้เป็นไปตามกรอบของแพทยสภา1,2

3. ออกในเวลาที่เหมาะสม

            หมายความว่า เวลาที่จะออกเอกสารนั้นต้องเป็นเวลาที่สามารถออกรายละเอียดได้และสามารถประเมินสภาพแห่งการบาดเจ็บ การหาย ฯลฯ ได้ตามสมควรแล้ว หากยังอยู่ในสภาวะที่ก้ำกึ่งหรือเสี่ยงอันตรายหรือยังไม่แน่ใจในสภาพที่ผู้ป่วยได้รับนั้น แพทย์ยังคงต้องรอเวลาให้ถึงสภาพที่ “นิ่ง” (stable) ก่อนจึงจะออกเอกสารเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และเพื่อการปรับบทบัญญัติของกฎหมายในการดำเนินคดีความต่อไป เช่น ตามประมวลกฎหมายอาญา ในเรื่องการทำร้ายร่างกายไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เป็นอันตรายต่อร่างกาย หรือเป็นอันตรายบาดเจ็บสาหัส เป็นต้น

4. ให้แก่บุคคลที่มีสิทธิ

            หมายความถึง เอกสารที่เจ้าพนักงานส่งมาเพื่อให้แพทย์ดำเนินการสมควรให้แก่เจ้าพนักงานนั้น เว้นเสียแต่เจ้าพนักงานนั้นจะมอบหมายให้บุคคลอื่นมาทำการรับแทน

5. ต้องออกความเห็น

            หมายความถึง ความเห็นเกี่ยวกับสภาพของบาดแผล การบาดเจ็บ และอื่น ๆ เช่น ระยะเวลาแห่งการหายของบาดแผล เป็นต้น

6. ความเห็นอาจมีดุลพินิจได้ในกรอบ

            หมายความว่า แพทย์สามารถที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับสภาพการบาดเจ็บหรือแผลในเชิงดุลพินิจเพิ่มเติมได้ เช่น หากการรักษาไม่ทันเวลาจะถึงแก่ชีวิต เป็นต้น

7. เป็นไปตามกฎเกณฑ์

            หมายความว่า กรอบการตรวจ การบันทึก การให้ความเห็น ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์เฉพาะเรื่อง อีกทั้งแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารอาจมีกฎเกณฑ์ที่เป็นไปตามแนวทางของแต่ละสถานพยาบาลได้เพื่อความสะดวก แต่ต้องไม่ขัดกับหลักเกณฑ์พื้นฐาน

8. ต้องมีสำเนา

            หมายความว่า จำเป็นต้องมีสำเนาไว้เพื่อว่าอาจมีการทำเอกสารหาย มีการอ้างอิงถึงเอกสารดังกล่าว มีการแก้ไขเอกสาร ฯลฯ แพทย์ที่ดำเนินการจะได้ทราบว่า แท้ที่จริงแล้วต้นฉบับที่ตนดำเนินการนั้นมีประการใด

9. ถ้าออกเอกสารซ้อนสมควรกล่าวถึงเอกสารเดิมด้วย

            หมายความว่า หากมีการออกเอกสารหลายฉบับซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีความต่อเนื่อง หรือเป็นสภาพที่เกิดขึ้นในภายหลัง เช่น การเกิดสภาวะแทรกซ้อน ทำให้จำต้องระบุรายละเอียดเพิ่มเติม หรือต้องให้ระยะเวลาแห่งการหายของบาดแผลนานขึ้น เป็นต้น แพทย์สามารถทำได้แต่ต้องระบุถึงเอกสารเดิมที่แพทย์ได้ออกให้และให้ความเห็นไปแล้วด้วย เพื่อให้สอดรับกับสภาพแห่งความเป็นจริงทางการแพทย์ที่เกิดขึ้น

            10. ต้องมีลายมือชื่อผู้ที่ออกเอกสาร

            หมายความว่า แพทย์ที่ออกเอกสารหรือหลักฐานย่อมต้องมีการลงลายมือชื่อตนเพื่อแสดงถึงความสมบูรณ์ของการรับรองและการทำเอกสาร

            แนวทางดำเนินการกรณีตามอุทาหรณ์

            1. ส่งเวชระเบียนให้แก่แพทย์ที่ทำการตรวจในวันดังกล่าวเพื่อให้ระบุถึงบาดแผลตามที่จำได้ ในประการนี้หากแพทย์ผู้ทำการตรวจสามารถระบุว่า ในวันที่ผู้ป่วยมารับการตรวจนั้นมีบาดแผลใดบ้าง เป็นประการใด (ทั้งนี้อาจประมวลจากสิ่งที่ผู้ป่วยได้แจ้งแก่แพทย์) เช่นนี้ย่อมสามารถที่จะดำเนินการต่อได้

            2. หากแพทย์ไม่สามารถระบุหรือยืนยันได้ว่าในวันดังกล่าวผู้ป่วยมีบาดแผลประการใด เช่นนี้แพทย์อื่น (รวมถึงแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์) ย่อมไม่สามารถที่จะระบุบาดแผลเองได้ เพราะเท่ากับเป็นการเพิ่มเติมสิ่งที่ตรวจพบโดยพลการ อาจเข้าข่ายการให้ข้อความอันเป็นเท็จได้

            3. ในผู้ป่วยรายดังกล่าวนี้ แพทย์ผู้ตรวจไม่สามารถระบุหรือยืนยันได้ว่า บาดแผลที่ผู้ป่วยแจ้งมา (ในภายหลัง) มีหรือไม่

            4. แนวทางในการดำเนินการที่เหมาะสมย่อมเป็นไปตามมาตรฐานแห่งการให้ความเห็นทางการแพทย์ตามที่แพทยสภากำหนด เช่น

                        ภายหลังจากที่ได้ตรวจดูบันทึกในเวชระเบียนของผู้ป่วยทั้งหมด รวมถึงในวันที่มารับการตรวจตามที่แจ้งไว้แล้ว

                        ก. ผู้ป่วยมารับการตรวจในวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าวจริง

                        ข. ได้รับยาที่ผู้ป่วยแจ้งว่าสูญหายจริง

                        ค. ไม่มีการบันทึกในเรื่องบาดแผลที่มีอยู่ในวันดังกล่าว

                        ง. ไม่อาจระบุหรือสรุปได้ว่าในวันดังกล่าวผู้ป่วยมีบาดแผลหรือไม่เพียงใด

            5. ลงลายมือชื่อผู้สรุป

            6. ตัวอย่างข้อความที่อาจเขียนด้านหลังของ “รายงานการนำส่งผู้บาดเจ็บเพื่อแพทย์ตรวจชันสูตร” (ภาพที่ 5)

สิ่งที่แพทย์จำต้องคำนึง

            ข้อ 1: แพทย์ต้องพึงระวังอย่างมากกับเอกสารที่ทำเพื่อผลทางคดีความ สิ่งสำคัญยิ่งก็คือ ข้อความที่ระบุนั้นจะต้อง “เป็นจริง” เสมอ

            ข้อ 2: แพทย์ต้องยึดเกณฑ์ทางการแพทย์ประกอบการประกอบวิชาชีพเวชกรรม3 รวมถึงการทำความเห็นให้กับผู้ป่วย บุคคลที่มีสิทธิต่าง ๆ

            ข้อ 3: แพทย์ต้องระวังอย่างยิ่งกับการทำเอกสารที่ไม่เป็นไปตามความจริงและไม่เป็นมาตรฐาน เพราะอาจเข้าข่ายความผิดทางแพ่ง ทางอาญา ทางจริยธรรม และทางวินัยได้4,5,6

 

สรุป

            การที่แพทย์มิได้ทำการตรวจผู้ป่วยเลยจึงไม่มีผลการตรวจสภาพแห่งการบาดเจ็บหรือบาดแผลปรากฏให้รับทราบในประวัติของผู้ป่วย (เวชระเบียน) แพทย์ที่จะทำการสรุปสภาพแห่งการบาดเจ็บเพื่อให้ทราบว่า “มีการบาดเจ็บหรือไม่” รวมถึงการทำความเห็นโดยเฉพาะระยะเวลาของการหายของบาดแผลเพื่อการปรับใช้บทบัญญัติของกฎหมายในการดำเนินการนั้น จึงถูกจำกัดไปในตัวด้วย แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงก็คือ การให้ความเห็นทางการแพทย์ย่อมต้อง “เป็นจริงและเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ด้วย” มิเช่นนั้นอาจทำให้แพทย์ถูกกล่าวหาว่าให้ความเห็นโดยมิชอบหรือไม่เป็นไปตามกฎหมาย

เอกสารอ้างอิง

            1. แพทยสภา. เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555. www.tmc.or.th.

            2. ประกาศแพทยสภา ที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555 (รับรองโดยคณะกรรมการแพทยสภาในการประชุมครั้งที่ 12/2554 วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554) มีผลตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555.

            3. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.

            4. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%BB03/%BB03-20-9999-update.pdf

            5. ประมวลกฎหมายอาญา. http://www.dopa.go.th/dopanew/law/02.pdf

            6. ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549. http://www.tmc.or.th/service_law02_17.php