ความดันเลือดซิสโตลิกต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

ความดันเลือดซิสโตลิกต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

JAMA Intern Med. Published online June 16, 2014.

บทความเรื่อง Systolic Blood Pressure Levels Among Adults with Hypertension and Incident Cardiovascular Events: The Atherosclerosis Risk in Communities Study รายงานว่า งานวิจัยหลายฉบับได้ชี้ความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อโรคหัวใจจากความดันเลือดซิสโตลิกที่สูงกว่า 115 mmHg แต่ยังไม่เป็นที่ทราบกันว่าความดันเลือดซิสโตลิกที่ต่ำกว่า 120 mmHg ในผู้ใหญ่ที่เป็นความดันเลือดสูงสามารถลดความเสี่ยงต่อหัวใจล้มเหลว สโตรค และกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือไม่

นักวิจัยศึกษาความเสี่ยงของการเกิดเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ใหญ่ที่มีความดันเลือดสูงจากระดับความดันเลือดซิสโตลิก 3 ระดับ ได้แก่ 140 mmHg หรือสูงกว่า 120-139 mmHg และต่ำกว่า 120 mmHg อันเป็นระดับอ้างอิง โดยศึกษาจากผู้เข้าร่วมวิจัย 4,480 คนที่เป็นความดันเลือดสูงแต่ไม่มีภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือดที่พื้นฐาน (ปี ค.ศ. 1987-1989) จากงานวิจัย Atherosclerosis Risk in Communities Study ระดับความดันเลือดซิสโตลิกวัดที่พื้นฐานและนัดที่ 3 ปี, 6 ปี และ 9 ปี โดยกำหนดให้ความดันเลือดซิสโตลิกเป็นตัวแปรตามเวลา และจำแนกเป็นความดันเลือดสูง (≥ 140 mmHg) ความดันเลือดปกติ (120-139 mmHg) และความดันเลือดต่ำ (< 120 mmHg) โดยตัวแบบ multivariable Cox regression models ได้รวมอายุพื้นฐาน เพศ โรคเบาหวาน ดัชนีมวลกาย ระดับคอเลสเตอรอลสูง สูบบุหรี่ และดื่มเหล้า และผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ผลรวมเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือด (หัวใจล้มเหลว, ischemic stroke, กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือการตายเนื่องจากโรคหลอดเลือดหัวใจ

ภายหลังมัธยฐานการติดตาม 21.8 ปี พบเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือด 1,622 ครั้ง ผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีความดันเลือดซิสโตลิกสูงมีอัตราการเกิดเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญเทียบกับกลุ่มที่มีความดันเลือดต่ำ (adjusted hazard ratio [HR] 1.46; 95% CI 1.26-1.69) อย่างไรก็ดี ไม่พบความแตกต่างด้านการรอดชีวิตโดยปลอดจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ที่มีความดันเลือดซิสโตลิกเป็นปกติเทียบกับกลุ่มที่มีความดันเลือดซิสโตลิกต่ำ (adjusted HR 1.00; 95% CI 0.85-1.17) และการปรับตามการใช้ยาควบคุมความดันเลือดหรือความดันเลือดไดแอสโตลิกก็ไม่มีผลที่มีนัยสำคัญต่อผลลัพธ์

ความดันเลือดซิสโตลิกที่สูงขึ้นในผู้ป่วยความดันเลือดสูงมีความเสี่ยงสูงสุดต่อเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ดี เมื่อความดันเลือดซิสโตลิกต่ำลงกว่า 140 mmHg ก็ไม่พบว่าความดันเลือดซิสโตลิกที่ต่ำกว่า 120 mmHg ลดความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือด